อาคารถาวรวัตถุและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่5
การไปชมนิทรรศการที่ตึกถาวรวัตถุนี้ง่ายมาก เพราะอยู่ติดสนามหลวงด้านทิศตะวันตก หรืออยู่หน้าวัดมหาธาตุ เห็นสนามหลวง ก็ต้องเห็นตึกถาวรวัตถุ หรือตึกแดง
การไปชมนิทรรศการที่ตึกถาวรวัตถุนี้ง่ายมาก เพราะอยู่ติดสนามหลวงด้านทิศตะวันตก หรืออยู่หน้าวัดมหาธาตุ เห็นสนามหลวง ก็ต้องเห็นตึกถาวรวัตถุ หรือตึกแดง
โดย...สมาน สุดโต
ประชาชนชาวไทย เช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่มาเที่ยวเมืองหลวง จะมุ่งหน้าไปไหว้พระแก้วมรกต ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ชมความอลังการพระบรมมหาราชวัง โดยไม่สนใจตึกแดง หรือที่มีชื่อว่าตึกถาวรวัตถุ ทั้งๆ ที่ตัวตึกเป็นอาคารโบราณตั้งอยู่ติดกับที่จอดรถของนักท่องเที่ยว ที่นี่นอกจากตัวตึกที่มีความน่าสนใจไม่น้อยแล้ว ปัจจุบันยังมีนิทรรศการพระราชประวัติและพระกรณียกิจที่กรมศิลปากรจัดขึ้นเนื่องในวาระครบ 100 ปี แห่งการสวรรคตรัชกาลที่ 5 อีกด้วย
พระราชประวัติ (ย่อ)
เนื่องจากทั้งตัวตึกและเรื่องนิทรรศการเกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทั้งสิ้น จึงขอนำพระราชประวัติของพระองค์ท่านมาเสนอโดยย่อ คือพระองค์ท่านทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชสมภพวันที่ 20 ก.ย. 2396 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พ.ศ. 2411 ขณะพระชนมายุ 15 พรรษา จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 วันที่ 16 พ.ย. 2416 พระชนมายุ 20 พรรษา
ตลอดรัชกาลทรงปรับปรุงพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า จนสามารถเทียบกับนานาอารยประเทศได้ทุกด้าน เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2453 สิริพระชนมพรรษา 58 พรรษา เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ 42 ปี
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ จึงทรงเป็นที่รักเทิดทูนของพสกนิกร ซึ่งได้ถวายพระราชสมัญญาว่าพระปิยมหาราช
การเกิดอาคารถาวรวัตถุ
อาคารถาวรวัตถุ หรือตึกแดง ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกของสนามหลวง ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่ผมว่านักท่องเที่ยวเดินผ่านไปอย่างน่าเสียดายนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชประสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย หลังจากที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมหาธาตุวิทยาลัยขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2432 แต่ยังขาดสถานที่เรียนอันเหมาะสม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์ขึ้น
ประการที่สอง ประจวบกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2437 โดยพระราชประเพณีจะต้องสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ตามพระเกียรติยศขึ้นที่ท้องสนามหลวง พระองค์มีพระราชดำริว่า เป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ในการสร้างสิ่งที่ไม่ได้เป็นถาวรวัตถุ เพราะสร้างใช้งานชั่วคราว เสร็จงานแล้วก็รื้อทิ้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้อำนวยการสร้างอาคารตึกถาวรวัตถุขึ้น ณ บริเวณกุฏิสงฆ์วัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก ลักษณะอาคารเป็นยอดปรางค์ 3 ยอด เพื่อเป็นที่อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลนั้นแล้วจะได้ถวายอาคารนี้ให้เป็นสังฆิกเสนาสนะสำหรับมหาธาตุวิทยาลัยต่อไป
แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์ (เพราะสวรรคตก่อน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จ แล้วพระราชทานให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2459
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ตึกถาวรวัตถุนั้น ทรงให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวพิมพ์ ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “หอพระสมุดวชิรญาณ” ต่อมาและเป็นอาคารหอสมุดแห่งชาติ จนกระทั่งได้ย้ายหอสมุดแห่งชาติไปตั้งที่แห่งใหม่ที่ท่าวาสุกรี เมื่อ พ.ศ. 2508 ตึกถาวรวัตถุยังเป็นที่ตั้งสำนักงานราชบัณฑิตยสถานต่อ จนกระทั่งสำนักงานย้ายไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตึกนี้ไม่มีการใช้งานอื่นใด กรมศิลปากร สมัยนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต เป็นอธิบดี ได้ปรับปรุงเพื่อเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นที่องค์ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเอกสารในการปฏิรูปประเทศของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกโลก
กรมศิลป์กับวัดมหาธาตุ
การปรับปรุงทำขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างวัดมหาธาตุกับกรมศิลปากร โดยวัดมหาธาตุอ้างสิทธิในการครอบครอง และจะจัดตั้งเป็นสำนักเรียนตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในขณะที่กรมศิลปากรก็อ้างพระราชโองการรัชกาลที่ 6 ที่ให้อาคารนี้เป็นที่ตั้งพระสมุดสำหรับพระนคร
ถึงขณะนี้ยังไม่มีการชี้ขาดว่าใครมีสิทธิเหนือตึกนี้ แม้ว่าจะตั้งอยู่ในที่ดินของวัดมหาธาตุก็ตาม แต่กรมศิลปากรจัดให้เป็นที่แสดงพระราชประวัติรัชกาลที่ 5 พร้อมกับประกาศห้ามนำรถเข้าไปจอดเพราะเป็นสถานที่ราชการ และไม่ขัดข้องเมื่อวัดมหาธาตุจะสร้างอาคารปฏิบัติธรรมใกล้ตึกถาวรวัตถุขึ้นมาหนึ่งหลัง (แต่ยังไม่ได้สร้าง)
นิทรรศการรัชกาลที่ 5
เมื่อนางโสมสุดา ลียะวนิช ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่ ได้สานงานต่อจากอธิบดีคนก่อน เช่นการจัดนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 5 ในโอกาสครบ 100 ปี แห่งการสวรรคต ด้วยตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีคุณูปการแก่ประเทศชาติและประชาชนนานัปการ รวมทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยสยาม ไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นนักล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตกอีกด้วย
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดนิทรรศการเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2553 และเปิดให้ประชาชนชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.30-16.00 น. (หยุดวันจันทร์-อังคาร)
เมื่อเข้าไปแล้วจะพบการจัดนิทรรศการที่ให้ความรู้ทั้งพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจทุกด้านในระยะเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง เพราะกรมศิลปากรจัดแสดงทั้งภาพ เสียง แสงอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งให้ท่านสัมผัสได้ เช่น หยอดเหรียญซื้อไปรษณียบัตรติดแสตมป์จ่าหน้าซองถึงเพื่อน หรือตัวเองใส่ตู้ไปรษณีย์ที่นั่นก็ได้ เพราะกิจการไปรษณีย์เป็นพระราชดำริที่พระองค์นำมาใช้ในประเทศสยามครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2426 และใช้อยู่ถึงปัจจุบัน
หรือจะยกหูโทรศัพท์โบราณขึ้นฟังเสียงเล่าเรื่องกิจการโทรเลขที่เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2418 แต่เลิกใช้เมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ติดไว้ที่บอร์ดนิทรรศการก็จะได้อีกอารมณ์หนึ่ง
ส่วนนิทรรศการนั้นแบ่งเป็น 7 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 คือ “ห้องปิยมหาราช” จัดแสดงเนื้อหาและภาพพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญ รวมทั้งได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในวาระต่างๆ ที่ยังคงเป็นสิ่งเตือนใจคนไทยมารวมไว้ในส่วนนี้
ส่วนที่ 2 คือ “ห้องราชเคียงประชา” จัดแสดงพระราชกรณียกิจในการสร้างความเสมอภาคในสังคมไทย โดยเฉพาะการเลิกทาส ทำให้ราษฎรไทยเป็นไทแก่ตัว นอกจากนั้นยังปฏิบัติพระองค์อย่างสามัญชนในการเสด็จประพาสต้น เพื่อสอดส่องดูแลสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างใกล้ชิด
ส่วนที่ 3 คือ “ห้องธำรงเอกราช” เนื้อหาว่าด้วยพระบรมราชวิเทโศบายที่ทำให้ชาติไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งเผชิญอันตรายจากลัทธิล่าอาณานิคม โดยการเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง สามารถดำรงรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้
ส่วนที่ 4 คือ “ห้องสยามใหม่” จัดแสดงบรรยากาศบ้านเมืองที่ได้รับการพัฒนาอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้มีการวางรากฐานกิจการด้านสาธารณูปโภคของไทยทุกด้าน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางพัฒนาบ้านเมืองต่อมาทุกยุคทุกสมัย
ผู้เข้าชมนิทรรศการจะมีส่วนร่วมในบรรยากาศด้วยการเขียนและส่งไปรษณียบัตรที่ระลึกหย่อนลงในตู้ไปรษณีย์ ณ ห้องนี้
ส่วนที่ 5 คือ “ห้องมรดกสถาปัตยกรรมแห่งสยาม” จัดแสดงอาคารจำลองสถาปัตยกรรมสำคัญ 3 มิติของสถาปัตยกรรมสำคัญ 5 แห่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นลักษณะอาคารที่เกิดจากการผสมผสานศิลปกรรมเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก กลายเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมประจำยุคสมัยนั้น
ส่วนที่ 6 คือ “ห้องมรดกความทรงจำแห่งโลก” นำเสนอพระเกียรติคุณในส่วนที่ยูเนสโกได้ประกาศให้เอกสารทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2411-2453 เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อปี พ.ศ. 2552 ในห้องนี้ผู้เข้าชมสามารถเลือกหยิบหนังสือมาอ่าน และอ่านสำเนาเอกสารบางส่วนได้ด้วยระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)
ส่วนที่ 7 มีชื่อว่า “ปิยมหาราชรฤก” คือ ส่วนระเบียงอาคารที่จัดแสดงภาพถ่ายส่วนพระองค์จำนวนมาก ซึ่งล้วนหาดูได้ยาก ภาพเหล่านี้กรมศิลปากรจะหมุนเวียนมาจัดแสดงเป็นระยะ เพื่อใช้เป็นระเบียงภาพที่มีความน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง
การไปชมนิทรรศการที่ตึกถาวรวัตถุนี้ง่ายมาก เพราะอยู่ติดสนามหลวงด้านทิศตะวันตก หรืออยู่หน้าวัดมหาธาตุ เห็นสนามหลวง ก็ต้องเห็นตึกถาวรวัตถุ หรือตึกแดง หรือเพื่อความแน่ใจจะโทรศัพท์ไปก่อนก็ได้ที่โทร. 02-221-6830