ประมาทไม่ได้ โรคหัวใจและหลอดเลือดคร่า 18 ล้านชีวิตต่อปี!
แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ เผยการวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ วิธีตรวจเช็กโอกาสที่จะเป็น “โรคหลอดเลือดหัวใจ”
หลายคนอาจจะเคยเห็นข่าวหรือคลิปวิดีโอการเสียชีวิตฉับพลันของผู้คนมากมาย ทั้งดารา นักแสดง นักการเมือง หรือแม้กระทั่งนักกีฬาเองก็ดี คำถามที่ทุกคนคงอยากจะรู้คือ แล้วอะไรเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิต?
...คำตอบคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Heart Attack นั่นเอง
ทุกท่านอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า COVID-19 นั้นอันตราย และใน 2 ปีที่ผ่านมา คร่าชีวิตไปแล้วกว่า 4.4 ล้านคนทั่วโลก แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านคนต่อปี!
อยากรู้แล้วใช่ไหมว่า เราจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตมากน้อยแค่ไหน
นพ.ทินกฤต ศศิประภา แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ และอนุสาขาหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช จึงมาอธิบายไขข้อสงสัย โดยบอกว่าการใช้ Coronary artery calcium (CAC) score จะช่วยตอบคำถามนี้
Coronary artery calcium score คืออะไร
เรารู้มานานแล้วว่า การที่หลอดเลือดมีแคลเซียม (calcium) ไปเกาะนั้นสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือด คำว่า Coronary artery หมายถึง หลอดเลือดหัวใจ การตรวจนี้จึงเป็นการวัดปริมาณแคลเซียมที่อยู่ในหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง และจากศึกษาวิจัยพบว่า หากค่าแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจนี้มีค่าสูงจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต
สิ่งหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ การตรวจนี้จะบอกได้เพียงปริมาณแคลเซียม แต่จะไม่สามารถเห็นการตีบตันของหลอดเลือดได้ หากจะดูการตีบตันของหลอดเลือดต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ
การตรวจนี้เหมาะสำหรับใคร
บุคคลที่อายุ 40-70 ปี ที่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ยกตัวอย่างเช่น ประวัติโรคหัวใจในครอบครัว เคยหรือยังสูบบุหรี่ในปัจจุบัน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน รวมทั้ง Sedentary lifestyle หมายถึง การใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการนั่ง นอน หรือแทบไม่ได้ออกกำลังกายนั่นเอง
Coronary artery calcium score ตรวจอย่างไร
การตรวจด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่ต้องเจาะเลือด และไม่ต้องใช้สารทึบรังสี หลังทำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
แปลผลอย่างไร
ผล Coronary calcium score จะมีค่าตั้งแต่ 0 คือไม่มีเลยไปจนถึง มากกว่า 400 ซึ่งจะใช้ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และวางแผนในการรักษาต่อไป