เพลงเพื่อเด็ก
เล่าขานตำนานเพลง โดยประสาร มฤคพิทักษ์
ปี 2498 วี. เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ เสนอต่อประเทศต่างๆ ให้มีวัน World Children ‘s Day โดยให้เป็นวันจันทร์แรก ของเดือนตุลาคม เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก รวมถึงกระตุ้นให้ เด็กตระหนักในตนเองว่า สามารถมีส่วนร่วมที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคต ทั่วโลกจึงเริ่มจัด งานวันเด็กเป็นทางการนับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา
รัฐบาลจึงจัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ในวันเสาร์ที่สอง ของเดือนมกราคม
นายกรัฐมนตรี จะมีคำขวัญให้เด็กต่อเนื่องมาทุกปี ปี 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำขวัญวันเด็กว่า “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม”
เมื่อพูดถึงวันเด็ก ก็ควรคิดถึงเพลงเพื่อเด็ก
ในบรรดาศิลปิน หรือคนที่ทำเพลง มีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อยที่คิดจะทำเพลงเพื่อเด็ก
ในจำนวนที่น้อยนี้ สองคนที่รู้จักกันดีคือ วีระศักดิ์ ขุขันธิน (วี) กับ กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์ (ต้อม) แห่งวงดนตรีสองวัย
ราว 10 ปีก่อน ผมเดินทางไป อ. เชียงของ จ. เชียงราย เพื่อร่วมการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ในงานนั้น พบกับ วีระศักดิ์ จึงได้คุยกัน ผมถามว่า
“วี ทำเพลงลูกหมูใส่รองเท้าตอนไหน” วีตอบว่า
“ตอนนั้นผมเป็นสหายป่าอยู่เขตภูหินร่องกล้า ผมเป็นศิลปินที่ถูกเรียกว่าเป็นพวก “นอกจัดตั้ง” คือไม่มีวินัยในการดำเนินชีวิต ตอนค่ำพวกสหายสายเสรีชนจะคุยกัน ร้องเพลงบ้าง เล่นดนตรีบ้าง เขียนหนังสือบ้าง จึงนอนดึก แล้วตื่นสาย ตื่นขึ้นมา สหายอื่นๆเขาไปทำงานมวลชน ไปทำงานอื่นกันแล้ว ผมเลยเข้าหมู่บ้านชนชาติม้ง ซึ่งเป็นเขตงานของพวกเรา ก็ไปเล่นกับเด็ก สนุกกับเด็ก เห็นชาวม้งเลี้ยงหมู ก็เลยได้ไอเดีย เมื่อเด็กๆมีรองเท้ายางง่ายๆแบบทำขึ้นใช้เอง ผมก็เลยเอาหมูมาใส่รองเท้าบ้าง จึงกลายเป็นเพลง “ลูกหมูใส่รองเท้า” เพลงนี้เป็นผลงานจากเขตป่าเขาเชียวนะ”
เมื่อกลับจากเขตป่าเขาคืนสู่เมือง ความเป็นเพื่อนเก่ากันกับต้อม ซึ่งชอบเสียงเพลงดนตรีเหมือนกัน เคมีตรงกัน จึงชวนกันทำเพลงเด็ก เพลงลูกหมูใส่รองเท้าเป็นเพลงเด่นในเทปชุดแรก ที่ชื่อว่าชุด “เจ้าผีเสื้อเอย”
เพลง ลูกหมูใส่รองเท้า
แต่งเนื้อและทำนอง วีระศักดิ์ ขุขันธิน
ดนตรี วงสองวัย
ในเช้าแจ่มใสวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันน้ำนอง
ลูกหมูก็อยากจะลอง อยากจะลองเล่นโคลน
แต่แล้วก็ต้องคันเท้า พยาธิไชเข้าเท้ามัน
ลูกหมูคิดได้โดยพลัน ต้องป้องกันทันที
จึงทำรองเท้าด้วยไม้ ใช้เชือกเป็นสายชั้นดี
เร็ว ๆ มาช่วยกันซี จะได้ของดีเสียงดัง
ก็อบ กิ๊บ ก็อบ ก็อบ กิ๊บ ก็อบ
ก็อบ กิ๊บ ก็อบ กิ๊บ ก็อบ กิ๊บ ก็อบ กิ๊บ ก็อบ
ฟังๆ เสียงฉันเดินสิ ฟังๆ เสียงฉันเดิน
ฟังๆ เสียงฉันเดินสิ ก็อบ ก็อบ ก็อบ
ฟังๆ เสียงฉันเดินสิ ฟังๆ เสียงฉันเดิน
ฟังๆ เสียงฉันเดินสิ ก็อบ ก็อบ ก็อบ
เพลงแรกของวงสองวัย คือเพลง “เจ้าผีเสื้อเอย” ซึ่งวีระศักดิ์ แต่งคำร้อง กิตติพงศ์
แต่งทำนอง และกลายเป็นชื่อเทปเพลงชุดแรก ในจำนวน 3 ชุด ของวงสองวัย
น้าซู - ระพินทร์ พุทธิชาติ เป็นเพื่อนร่วมวงอีกคนที่เล่นเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง ซึ่งในเวลานี้คือหัวหน้าวง ซูซู นั่นเอง
น้าซู บันทึกไว้ว่า
“น้าต้อม (กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์) ทำสโมสรผึ้งน้อยกับน้านิด (รายการทีวีเด็กของช่อง 5)
น้าวี (วีระศักดิ์ ขุขันธิน) ออกจากป่ามาทำสำนักพิมพ์เล็กๆ
มุก น้อย อ้อย โอ๋ เป็นนักแสดงรุ่นแรกของสโมสรผึ้งน้อย ทั้ง 4 คน เป็นญาติพี่น้องกัน
อ้อยเป็นพี่ของโอ๋ และน้อยเป็นพี่ของมุก แม่เป็นแม่บ้านดูแลฝรั่ง อยุ่แถวๆ ซอยเย็นอากาศ
นุช เป็นเด็กสุดอายุ 7 ขวบ เป็นลูกสาวของ มนูญ เทพประทาน นักร้องลูกกรุง
น้าต้อม น้าวี เขาทำวงกันตอนไหน ผมไม่รู้ ด้วยความเป็นนักคิดนักเขียนก็น่าจะเริ่มกันที่ วงเหล้าก่อนแหละ
น้าวี บอกผมว่าอัดเสียงที่ห้องอัด พยงค์ มุกดา แถวๆ เกียกกาย เป็นอานาล็อก 8 แทร็ก เวลาอัดจะอัดพร้อมกัน เสียงใสมาก
ดนตรี 3 ชิ้น น้าต้อมน่าจะเป็นผู้เรียบเรียง (โดยการซ้อมแล้วจำให้ได้) เล่นฟลุ๊ทกับกีตาร์ และร้อง น้าวีเล่นกีตาร์และร้อง
ร้องนำคือ นุช อ้อย และมุก ส่วนน้อย โอ๋ ร้องหมู่
เพราะความอยากรู้ ผมจึงลองแต่งเพลง เล่นไวโอลิน เล่นฟลุ๊ท เล่นพิณ เล่นกีตาร์ โดยแกะเพลงโฟล์คของฝรั่ง แกะเพลงคาราวาน ร้องและเล่นตามเนื้อตามคอร์ดหนังสือเพลงนกพิราบขาว
หนังสือเพลง IS.Song Hits มันก็....ผิดๆถูกๆตามประสามือสมัครเล่น แต่ในความรู้สึกว่าตัวเรา พอเล่นได้บ้าง จึงชวนเพื่อนในรามฯ สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นเล่นที่ลาน สวป. กับวงฟ้าสาง วงสานแสงทอง
ตอนนั้นหลัง 6 ตุลา .. นักศึกษาหนีเข้าป่ากันเยอะ แต่ผมไม่เข้าเพราะเหลือไม่กี่วิชาก็จะจบแล้ว และอุดมการณ์ก็ยังไม่กล้าแกร่งด้วย เข้าไปคงมีปัญหาแน่
ผมจบก็ได้งานทำอยู่หน้ารามฯ นั่นแหละ ขายไอติม ขายหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค พอเอาตัวรอดไปวันๆ ซึ่งยังไม่รู้จะไปทางไหน ไปสอบเพื่อเป็นข้าราชการผมไม่ไปแน่ ทะเลาะกับพ่อจนไม่กลับบ้านก็หลายครั้ง เพราะโชคชะตาจะได้เป็นนักดนตรี หลังจากขายไอติมอยู่ปีครึ่ง น้าวีมาชวนไปเล่นกับสองวัย
จากกีตาร์ 2 ชิ้น ของน้าต้อมน้าวี มีเสียงไวโอลิน ฟลุ๊ท พิณ แบนโจของผม เพิ่มความสนุก ขึ้นได้อีก เราซ้อมกันนิดหน่อยเพื่อไปรับงานที่สวนสนุกแฮปปี้แลนด์ ตรงคลองจั่น เล่นทุกเสาร์อาทิตย์ มีช่อง 7 ถ่ายทอดสดตอนบ่ายๆ เพราะรายได้น้อย เวลาไปทำงานผมต้องขึ้นรถเมล์สาย 71 ทุลักทุเลน่าดูเลยแหละ มือซ้ายถือกล่องไวโอลิน ไหล่ซ้ายสะพายพิณ (ไม่มีกล่อง) ในย่ามเป็นกล่องฟลุ๊ท มือขวาเหลือไว้จ่ายตังค์ไว้โหนราวจับ เหมือนคนบ้าแบกเครื่องดนตรี ชาวบ้านเขาก็หลบๆให้ คงเป็นเพราะสงสาร กระเป๋ารถเมล์ก็ดีนะไม่เคยไล่ผมลงจากรถเมล์เลยสักครั้ง ก็ดีนะที่ผ่านช่วงนั้นมาได้ มันทำให้รู้สึกว่าเราได้เกิดจากคนเดินดินธรรมดา ที่ไม่ต่างจากพี่น้องร่วมสังคม
น้าต้อม น้าวี มุก น้อย อ้อย โอ๋ ปิยะนุชและผม ผู้ใหญ่ 3 คน เด็ก 5 คน รวมเป็น 2 วัย เพื่อทำกิจกรรมเพลงเด็ก จุดเริ่มต้นของผมในอาชีพนักดนตรี เริ่มจาก 2 วัย นี้แหละครับ”
เห็นไม่ว่าการก่อเกิดวงดนตรีแต่ละวง หรือเพลงแต่ละเพลงที่เกิดขึ้น ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงส่ง ยิ่งเพลงเด็กแล้ว ยิ่งต้องใช้หัวใจที่เมตตาต่อเด็กอย่างแท้จริง และเพลงเด็กไม่ค่อยจะมีผลตอบแทนทางธุรกิจเหมือนเพลงป็อบอื่นๆ
เพลง “สะพานสายรุ้ง” นี้ คุณปิยะนุช บุญประคอง หรือน้องนุช แห่งวงสองวัย พูดว่า “น้าต้อมแต่งเพลงนี้ให้นุชร้อง” เมื่อพูดถึงตรงนี้เสียงของน้องนุชสั่นเครือ น้ำตาคลอ อย่างปิติ
เนื้อเพลงน้อมนำให้รู้ว่า สายรุ้ง เป็นธรรมชาติหลังฝนอันแสนสวย สีรุ้งทั้ง 7 สีแม้ต่างสี แต่เมื่อประกอบกันเป็นสายรุ้ง ก็ประกายรุ้งเป็นลำแสงเดียวกันที่งดงามท่ามกลางความแตกต่าง ของสีทั้งเจ็ด
สะพานสายรุ้ง (สองวัย)
ขอบฟ้าทิ้งโค้งไกล ไกลสีสวยสดใสทาบทา
เจ็ดสี ไล่เรียงเคียงไป เส้นโค้ง เส้นใหญ่ ทาบทา
เมื่อยามตะวันรอนรอน แสงแดดซอกซอนเมฆบน
ถูกฝนละอองปลิวว่อน โอนอ่อนสวยนวลชวนยล
ม่วงครามน้ำเงินชวนมอง เขียวเหลืองเรืองรองแสดแดง
ทอดโค้งโยกฟากฟ้าทอง อ้อมโอบประคองไว้ภายใน
ให้สายรุ้งนั้นคือสะพาน ข้ามลำธารผ่านภูผา
ผ่านเมืองแมนแดนศิวิไล ผ่านป่าดงพงไพรพนา
ข้ามมหาสมุทร ไกลสุดตา
ทอดโยงทั่วทุกแดน เชื่อมทุกแคว้นให้ถึงกัน
ก้าวเดินไปบนสะพาน มือประสานกระชับมั่น
ไม่กีดกันแบ่งผิวพันธุ์
ทั้งวีระศักดิ์ ขุขันธิน และ ต้อม กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์ สองนักดนตรีที่มีหัวใจให้แก่เด็ก ต่างล่วงลับสู่สรวงสวรรค์ไปแล้ว แต่เพลง 3 ชุดของวงสองวัย ยังอมตะอยู่ในความทรงจำของผู้คนไปนานเท่านาน
ประสาร มฤคพิทักษ์ / [email protected]