posttoday

กรมทะเลชายฝั่งฯ ถอดบทเรียนจากลูกเต่าทะเล 11 ตัว ตายหมู่จากขยะ

15 มกราคม 2566

ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์พบลูกเต่าทะเลติดแพขยะขนาดใหญ่ กว่า 700 เมตร จนมาเกยหาดบ้านอำเภอ ตั้งแต่ 8 ก.ย. แม้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำไปรักษาแต่ก็ไม่รอด หลังชันสูตรพบว่าเพียงขยะชิ้นเล็ก ๆ ก็พรากชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ได้

 

จากเหตุการณ์พบลูกเต่าทะเลติดแพขยะขนาดใหญ่ กว่า 700 เมตร ถูกซัดขึ้นมาบนชายหาดบ้านอำเภอ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้นำลูกเต่าจำนวน 11 ตัว ไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกรม ทช.

 

โดยพบว่าจาก 11 ตัวนั้น มีลูกเต่ามีอายุไม่ถึง 1 เดือน ที่อาการอ่อนแรง ส่วนใหญ่ซึม ไม่ยอมกินอาหาร จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจากสัตวแพทย์กรม ทช. พยายามดูแลรักษา ประคับประคองอาการมาได้ 1 เดือน ลูกเต่าเริ่มทยอยตาย จนเข้าสู่เดือนที่ 3 ลูกเต่าตัวสุดท้ายได้ตายลง

 

หลังจากการชันสูตรของทีมสัตวแพทย์ กรม ทช. พบว่าลูกเต่าตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ ทุกตัวมีขยะอยู่ในทางเดินอาหาร ดังนั้นแม้จะได้รับการรักษา ลูกเต่าก็ยังไม่สามารถขับถ่ายขยะจำนวนมากออกมาได้ ทำให้ทางเดินอาหารอุดตันไปด้วยขยะ และลูกเต่าไม่สามารถกินอาหารได้ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและตายในที่สุด

 

นั่นคือแม้ว่าขยะที่อุดตันในลำไส้ลูกเต่า จะเป็นเพียงขยะชิ้นเล็ก ๆ สำหรับมนุษย์ แต่ก็ทำให้สัตว์ทะเลตัวเล็กเหล่านั้น เจ็บปวดและทรมาน จนถึงแก่ความตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่าทะเล ที่มีอัตราการรอดน้อยมากอยู่แล้ว ภัยคุกคามจากขยะทะเลยิ่งซ้ำเติมให้เต่าทะเลมีโอกาสสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

 

สำหรับกรณีที่พบลูกเต่าทะเลติดมากับแพขยะ และพัดเข้าสู่ชายหาดจอมเทียน คาดว่าลูกเต่าชุดดังกล่าวถูกพัดพามาจากแหล่งวางไข่ บริเวณชายหาดของเกาะคราม หรือเกาะล้าน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการรายงานเต่าทะเลขึ้นวางไข่เป็นประจำ

 

ทั้งนี้ เป็นพฤติกรรมของลูกเต่าทะเล ที่เมื่อฟักออกจากไข่แล้ว การดำรงชีวิตในทะเลช่วงแรกของชีวิตจะลอยตามกระแสน้ำและไม่สามารถดำน้ำได้จึงต้องหลบซ่อนตามสิ่งที่ลอยบนผิวน้ำทะเล จนลูกเต่าลอยไปติดกับแพขยะดังกล่าว ที่มีขยะส่วนใหญ่เป็นขยะจากเศษวัชพืช ขยะพลาสติก และขยะประเภทเศษอวนเครื่องมือทำการประมงที่ลอยมาตามลมมรสุมที่พัดเข้าชายฝั่งตามฤดูกาล โดยแพขยะดังกล่าวมีน้ำหนักมากถึง 3,000 กิโลกรัม

 

จากการพูดคุยกับสัตวแพทย์ ประจำศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าขยะพลาสติกเป็นภัยกับเต่าทะเลตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อเต่าทะเลโตขึ้นต้องแหวกว่ายผ่านแพขยะพลาสติกระหว่างทางที่มันอพยพไปหากินแหล่งอื่น และสิ่งที่น่าตกใจคือเต่าทะเลอาจกินขยะพลาสติกเหล่านั้นเข้าไป เพราะมันเข้าใจผิดคิดว่าขยะที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเป็นอาหารของมัน

 

ทั้งนี้นอกจากขยะพลาสติกจะมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลแล้ว มนุษย์ก็อาจได้รับผลกระทบจากพลาสติกเช่นกันในรูปแบบของ “ไมโครพลาสติก” หรือพลาสติกที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่ทำมาจากพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน พลาสติกเหล่านี้เมื่อโดนน้ำ โดนแดด โดนฝน และอยู่ในธรรมชาติเป็นเวลานาน จะสามารถแตกตัวเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ได้

 

โดยเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะหยุดไม่ให้ขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล หรือหยุดสร้างไมโครพลาสติกได้ เริ่มได้ง่ายที่สุดคือลดการสร้างขยะพลาสติก เพราะอย่างนี้ สัตว์ทะเลยังคงเป็นเหยื่อของความสะเพร่าของมนุษย์อยู่เสมอ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ได้ นั่นคือหยุดความสะเพร่าของตัวเราเอง หันมาใส่ใจในสิ่งแวดล้อม รวมถึงปลูกจิตสำนึกสร้างการรับรู้และเข้าใจในสังคม เพื่อสัตว์ทะเลของเราจะยังคงอยู่ต่อไป

 

อย่างไรก็ตามปัญหาขยะทะเลที่กำลังวิกฤติอยู่ในขณะนี้ สามารถบรรเทาลงได้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพียงแค่ช่วยกันลดการสร้างขยะ แยกขยะเพื่อให้เกิดการรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำให้มากที่สุด และช่วยกันเก็บขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมทางทะเล เท่านี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี