'เซียร่า' และ 'ซาฮาร่า' 2 น้องหมาจากไทย กับภารกิจกู้ภัยแผ่นดินไหวตุรกี
ทำความรู้จักกับ 'เซียร่า' และ 'ซาฮาร่า' 2 น้องหมาจากไทยกับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวตุรกี
จากภาพการทำงานที่เข้มแข็ง และการวางตัวที่เรียบร้อยของ 2 น้องหมานักกู้ภัยสายพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ที่ร่วมเดินทางไปปฏิบัติภาระกิจครั้งนี้ร่วมกับ ทีม USAR Thailand เป็นภาพที่หลายคนประทับใจ ไม่เฉพาะแค่คนไทยที่ร่วมส่งกำลังใจให้น้องทั้ง 2 ตั้ว แต่คนทั่วโลกต่างก็ชื่นชมและทึ่งการทำงานของทั้งคู่
ดร.อลงกต ชูแก้ว (Alongkot Choukaew) ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม / รองผู้อำนวยการองค์การสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเจ้า 2 ตัวนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับ เจ้า "Sierra - Sahara" 2 น้องหมาที่ไปปฏิบัติภารกิจระดับนานาชาติครั้งนี้
ดร.อลงกต เปิดเผยกับ PosToday ว่า เซียร่า อายุ 7 ปี ซาฮาร่า อายุ 6 ปี เป็นสุนัขสายพันธุ์โกลเด้น รีทริฟเวอร์ (Golden Retriever) ตัวเมียทั้งคู่ ทั้งเซียร่าและซาฮาร่า ได้รับการฝึกมาตรฐาน ตามหลักสูตรของ IRO (International Rescue Dog Organisation) หรือ องค์การสุนัขกู้ภัยโลก ซึ่งทั้งคู่คือสุนัขกู้ภับรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาอยู่ในหน่วยงานแล้ว
ส่วนภารกิจกู้ภัยช่วยเหลือและค้นหาผู้รอดชีวิตเป็นอย่างไร ที่มาที่ไปของหน่วยงานนี้เริ่มจากเมื่อไหร่ เราไปติดตามกัน
“องค์กรสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ” เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิที่ภูเก็ต
"จุดเริ่มต้นของเราเกิดขึ้นหลังเหตุกาณ์สึนามิ ตัวมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม" ดร.อลงกต เผยถึงจุดเริ่มต้น
"เรามีองค์กรในสังกัดชื่อว่า K9 USAR Thailand เป็นองค์กรสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ เราเริ่มหลังจากเกิดสึนามิ(ที่ประเทศไทย 2547) ได้ 1 ปี จากนั้นเราก็มีองค์กรสุนัขกู้ภัยแห่งชาติตอนนั้นเป็นต้นมา และดำเนินการมาเรื่อยๆ จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (2563) เราได้รับการประสานงานจากกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ร่วมกับองการสหประชาชาติ ในนามของหน่วยงานที่ชื่อ USAR "
"ซึ่งองค์กรนี้ขึ้นอยู่กับสหประชาชาติ (UN) มีอยู่มากมายหลายประเทศ มีเจ้าหน้าที่และสุนัขกู้ภัยอยู่ในทีม K9 นี้ "
"ส่วนเหตุการณ์ที่ตุรกี เราได้รับแจ้งให้เตรียมทีมไปช่วยเหลือ จึงเตรียมสุนัข 2 นายและหัวหน้าทีม 1 คน รวมเป็น 3 เพื่อออกเดินทางไปพร้อมกับทีม USAR Thailand รวมเป็น 42 นายสำหรับปฏิบัตการครั้งนี้ "
เซียร่าและซาฮาร่า มาจากไหนและทำไมน้องถึงได้รับภารกิจนี้
"ก่อนจะไปถึงตรงนั้นผมขอพูดถึง Handler หรือผู้ควบคุมสุนัขก่อน เรามีเจ้าหน้าที่ต่างชาติ 2 ท่านที่ทำหน้าที่ฝึกสุนัขมานาน 15 ปี เรามีสุนัข 2 ตัวก่อนหน้าที่ที่ปฏิบัติภาระกิจช่วยชีวิตคน แต่ทั้ง 2 ตัวชราภาพและตายไปแล้ว"
"เซียร่าและซาฮาร่า คือรุ่นที่ 2 ซึ่งทั้ง 2 คือสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็นสุนัขพันธุ์พิเศษ มีเพื่อการปฏิบัติงานโดยเฉพาะ (Working dog line) สายพันธุ์ของเขาคือเกิดมาเพื่อเป็นสุนัขค้นหา เราได้คู่นี้มาจากประเทศสวีเดน "
"เมื่อทั้งคู่มาถึงเมื่อ 6 ปีก่อนเราจับฝึกสมัยตั้งแต่เป็นลูกหมา ส่วนวิธีการฝึกเราฝึกตามมาตรฐานของ IRO (international Rescue Dog Organisation) เมื่อหลังจากฝึกแล้วทั้งคู่ก็ต้องไปทดสอบตามมาตรฐานสากลที่ตั้งไว้ ซึ่งผ่านและปฏิบัติงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปีครับ"
"ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นห่วงน้องทั้ง 2 ตัวที่ต้องไปทำงานในตุรกีซึ่งอุณหภูมิหนาวเหน็บลงต่ำไปเกือบติดลบนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงทั้งคู่ทนและปรับตัวได้แน่นอน และเราถึงมั่นใจว่าทั้ง 2 ตัวพร้อมสำหรับภาระกิจครั้งนี้"
นอกจากเซียร่าและซาฮาร่า ยังมีสุนัขในสังกัดอีกเยอะไหม
"ปัจจุบันเรามีสุนัขกู้ภัย 6 ตัว บินไปต่างประเทศ 2 และสแตนบายอยู่ในไทย 4 ตัว และมีเจ้าหน้าที่อีก 9 คนเตรียมพร้อมไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของสากลที่วางไว้ว่า คนที่ไปช่วยงานกู้ภัยจะปฏิบัติภาระกิจต่อเนื่องได้ไม่เกิน 10 วันครับ"
ความหมายของรองเท้านิรภัยและเหตุที่ใส่แค่คู่เท้าหน้า
"รองเท้าสำหรับสุนัข เราเรียกมันว่า รองเท้านิรภัย จะมีความแตกต่างจากรองเท้าแฟชั่นสำหรับหมาทั่วๆไป" ดร.อลงกตเสริม
"ทีนี้ช่วงแรกๆที่น้องไปปฏิบัติงานและเราไม่ได้รองเท้าให้เพราะพื้นที่ปฏิบัติงานยังไม่ถูกเคลียร์ให้ราบ ช่วง 2 วันแรกพื้นที่ยังสูงๆต่ำๆ สุนัขต้องอาศัยการปีนป่ายและกระโดด"
"หากใส่รองเท้านิรภัย ซึ่งเป็นวัศดุที่ทำพิเศษ มันจะทำให้เขาไม่สามารถทรงตัวได้ การปีนป่ายก็จะไม่ถนัดตามธรรมชาติ เราจึงยังไม่สวมให้เขา"
"ส่วนการใส่รองเท้าให้ก็เพราะมีการเคลียร์พื้นที่แล้ว วัศดุจะละเอียดและราบ และมีลวดเหล็กของมีคมออกมา จึงตัดสินใจให้ใส่รองเท้าถึงเท้า"
"ทีนี้มีคำถามว่าทำไมถึงใส่แค่คู่หน้า ? นั่นเพราะคู่หน้ามันเป็นจุดรับน้ำหนักรองรับกระแทก หากกระโดดลงไปเจอวัตถุแหลมคมมันจะเจ็บทันที จึงให้ใส่รองเท้าแค่คู่หน้า ส่วนขาคู่ด้านหลังที่ไม่ให้ใส่เพราะเป็นขาที่ใช้พยุงตัว ใช้ช่วยส่งตัวเวลากระโดด และทรงตัว ดังนั้นเราจึงใส่แค่ขาหน้าซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติมานาน "
การตายของหมา K9 เม็กซิโก นำมาช่วยให้ทีมระวังมากขึ้น
กรณีที่K9 ของเม็กซิโกที่ตายไป วันนี้ผมก็สวมชุดดำไว้อาลัยให้เขา เพราะเราคือองค์กรเดียวกันและสะเทือนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น
สิ่งที่เราใช้ความสูญเสียของสุนัข K9 ของเม็กซิโกก็คือ ต้องระวังในการประเมินสถานการณ์หน้างานให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นทั้งทีม USAR Thailand ทั้งหมดที่ไปปฏิบัติงานจะเคร่งครัดในการปฏิบัติงานให้มากขึ้น เมื่อประเมินแล้วว่าปลอดภัยก็จะให้ทีม K9เข้าทันที
ความหวังในการหาผู้รอดชีวิต
"ปกติเกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงสำคัญ ตามหลักการแทบจะมีหวังน้อยลงเรื่อยๆแล้ว"
"แต่ในซีเรีย ยังมีการรายงานอย่างเป็นทางการว่าพบผู้รอดชีวิตอยู่แม้จะผ่านไป 5 วันหรือกว่า 150 ชั่วโมงแล้วก็ตาม ทำให้ทีมเราก็ยังมีหวังและไม่ท้อถอย อย่าลืมว่าญาติผู้เสียชีวิตก็ยังมีความหวัง "
การฝึกให้ฟังคำสั่งคือหัวใจของทีมกู้ภัย
ช่วงระหว่างเดินทางจากประเทศไทยไปตุรีจะมีภาพของน้อวทั้ง 2 ตัวนั่งรียบร้อยมาก อยู่เป็นที่ไม่เดนิไปมาซุกซนเมื่อไปถึงก็ปฏิบัติงานอย่างเคร่วงครัด ตรงนี้คืออีกหนึ่งความประทับใจจากน้องทั้ง 2 ที่มาจากประเทศไทย ซึ่ง ผอ.มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ย้ำว่านี่คือหัวใจของการฝึกสุนัขเลย
"นี่คือหัวใจของการฝึกเลยว่าต้องฝึกเขาให้เชื่อฟังคำสั่งและมีระเบียบวินัย รวมทั้งการปฏิบัติการวางตัว ในสังคมมนุษย์และสังคมสัตว์" ดร.อลงกตเสริม
"เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ตัว (เซียร่า และ ซาฮาร่า) ได้รับการฝึกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเมื่อเห็นเขาปฏิบัติงานเขาจะอยู่แค่ในฐานที่ตั้งเท่านั้น เขาจะไม่วิ่งไปทั่ว"
"นอกจากเขาจะขออนุญาตไปเล่นเราจะปล่อยให้เล่น แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม หรือเวลาอยู่บนเครื่องบิน เขาก็ต้องอยู่ในพื้นที่ของเขา แต่หากอยากจะฉี่ก็จะมีคนพาไปและมีแผ่นปูให้ว่านี่คือที่ฉี่นะ เขาก็จะทำตามคำสั่ง เมื่อคนที่พาไปบอกเขาว่า Pie Pie (ฉี่ๆ) เขาก็จะทำตาม"
"ซึ่งความเรียบร้อยนี้คือลักษณะเด่นของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ครับ"
นอกจากนี้ดร.อลงกตจะทิ้งท้ายว่า วันที่ 15 ก.พ. 66 จะมีกิจกรรม ส่งกำลังใจให้กับชาวตุรกีและซีเรีย ที่ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงนี้ด้วย โดยจะรวมพลคนรักสุนัข รวมทั้งทีม USAR Thailand ชุดที่ 2 ซึ่งมีสุนัขกู้ภัยทีมเดียวกับเซียร่าและซาฮาร่า มาร่วมงานด้วย