posttoday

ความหวังผู้ป่วยเบาหวาน ใช้เสต็มเซลส์จากเลือดตัวเองรักษาฟื้นฟูแผล

22 กุมภาพันธ์ 2566

ผู้ป่วยเบาหวาน มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น เมื่อรพ.พานาซี พระราม 2 จับมือ รพ.โชนัน คามา คูระ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการรักษาผู้ป่วยด้วย 'สเต็มเซลล์' จากเลือดตัวเอง (Autologous stem cell )ในการรักษาแผล 'เบาหวาน' ลดการสูญเสียอวัยวะ

เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่พบมากขึ้นในทุกช่วงอายุของคนไทย เป็นโรคเรื้อรังที่มีโอกาสในการเกิดโรคแทรกซ้อน โดยการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย  ที่น่าเป็นห่วงคือ หากผู้ป่วยเบาหวานมีบาดแผลอาจติดเชื้อลุกลามได้ง่ายและหายยาก เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีไขมันที่ไม่ย่อยสลายไปจับกับเส้นเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและแข็งเกิดการอุดตันในที่สุด ส่งผลให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง จนมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ต้องสูญเสียอวัยวะ เพราะจำเป็นต้องตัดทิ้ง ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก

โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 จับมือ โรงพยาบาล โชนัน คามา คูระ (Shonan Kamakura General Hospital) บรรลุข้อตกลงความร่วมมือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการรักษาผู้ป่วยด้วยสเต็มเซลล์จากเลือดตัวเอง (Autologous stem cell ) ที่มีความจำเพาะในแต่ละโรค โดยเฉพาะนวัตกรรมสเต็มเซลล์จากเลือดนี้ ใช้ในการรักษาแผลเบาหวานและซ่อมแซมฟื้นฟูหลอดเลือดเพื่อลดการสูญเสียอวัยวะส่วนปลาย

โดยโรงพยาบาลโชนัน คามาคูระ ประเทศ ญี่ปุ่นจะถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับทีมบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ของโรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 พร้อมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ มาประจำที่โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 เพื่อรองรับการให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมสเต็มเซลล์ตามมาตรฐานประเทศญี่ปุ่น   

นพ.ภัทรพล คำมุลตรี รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล พานาซี พระราม 2 อธิบายว่า นวัตกรรมของสเต็มเซลล์ของผนังหลอดเลือดที่อยู่ด้านในของหลอดเลือด ซึ่งจะดึงจากเส้นเลือดของคนๆนั้นเลย แล้วนำไปสู่ขบวนการขั้นตอนต่างๆ แล้วฉีดกลับเข้าไปเพื่อฟื้นฟูในบริเวณที่ต้องการสร้างหลอดเลือด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของทาง รพ.โชนันฯญี่ปุ่น และนำมาถ่ายทอดความรู้ให้ทาง รพ.พานาซี ได้มาดูแลผู้ป่วยในประเทศไทย โดยผลลัพธ์ในการรักษา จะดีกว่าใช้สเต็มเซลล์ทั่วๆไป เพราะเป็นสเต็มเซลล์จำเพาะที่หลอดเลือดโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นแผลเบาหวาน ใกล้ที่จะอยู่ในภาวะตัดขาหรือตัดอวัยวะส่วนต่างๆ จึงถือเป็นทางออกที่ผู้ป่วยควรจะได้รับ

 ปัจจุบันโรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงและเก็บสเต็มเซลล์มาตรฐานสากล ประกอบด้วยห้องเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ clean room class100 และclass10000 ทำให้สเต็มเซลล์ที่ผ่านการเพาะเลี้ยงจากห้องปฏิบัติการนี้ปราศจากเชื้อและปลอดภัย การรักษาโดยเรื่องสเต็มเซลล์หลอดเลือดนี้จะสามารถให้การบริการดูแลผู้ป่วยได้ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2566เป็นต้นไป

ศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหารPANACEE MEDICAL CENTER กล่าวว่า องค์ความรู้นี้ นอกจากจะนำมาช่วยคนไทยแล้ว ยังสามารถเป็นเซ็นเตอร์ในการรักษาพยาบาลด้านเบาหวาน แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่สำคัญประเทศไทยมีชื่อเสียงโดดเด่นเรื่องการรักษาพยาบาล ค่าครองชีพถูกกว่าชาติอื่น สามารถนำมาต่อยอดสร้างเศรษฐกิจด้าน Wellness ให้กับประเทศไทยได้ ให้เป็น Medical Hub เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่จะกระจายไปสู่คนไทยทั้งประเทศและชาวต่างชาติที่ตั้งใจบินมารักษาที่ประเทศไทยได้