posttoday

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ‘ทางเลือก’ ‘ทางรอด’ อุตสาหกรรมหนังสือไทย

09 เมษายน 2566

‘วงการหนังสือของไทย’ จะอยู่ได้จริงหรือ? อาจจะเป็นคำถามจากคนในวงนอกที่มองเข้ามาเมื่อเห็นหนังสือท่ามกลางสื่อใหม่ต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน แต่ในมุมมองของคนทำหนังสือเองพวกเขามองต่างออกไป และเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ‘ทางเลือก’ ‘ทางรอด’ อุตสาหกรรมหนังสือไทย
 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน หากใครได้ไปเดินในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ซึ่งจะจัดวันนี้เป็นวันสุดท้าย ก็คงจะได้เห็นบรรยากาศว่าคึกคักอยู่ไม่น้อย สํานักพิมพ์มากหน้าหลายตานําหนังสือมาให้คนได้เลือกสรร หลายรูปแบบหลายสไตล์ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นคนทุกกลุ่มทุก Generation เดินเลือกชมหนังสือภายในงานโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพราะทุกการซื้อหนังสือของเด็กและเยาวชนเหล่านี้คือ ‘อนาคต’ ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาเป็น อนาคตของชาติ แต่เราได้เห็นอนาคตของวงการหนังสือของไทย ที่มีแสงระยิบระยับอยู่ที่ปลายอุโมงค์

 

แม้อยากจะใช้คําว่า ‘อุตสาหกรรมหนังสือ’ แต่ถ้าสํารวจดูจริงๆ จะพบว่า วงการหนังสือของประเทศเราทุกวันนี้ ลดขนาด จากความเป็นอุตสาหกรรมอยู่พอสมควร เพราะเราจะเห็นสํานักพิมพ์เล็กไปจนถึงระดับกลางเกิดขึ้นใหม่มากมาย

 

ผู้คนที่’หลากหลาย’ ‘หลากหลาย’สํานักพิมพ์

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่หันมาเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น การย่อยขนาดของสํานักพิมพ์เองก็เกิดขึ้นเพราะความต้องการของตลาดที่ ‘หลากหลาย’ และเฉพาะกลุ่มเช่นกัน อย่างเช่น สํานักพิมพ์ Illuminations Editions ซึ่งจะเน้นไปที่เนื้อหางานวิชาการนํามาตีพิมพ์และน่าอ่านมากยิ่งขึ้น สํานักพิมพ์สะพานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อนําเสนอวรรณกรรมนวนิยายเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรือสํานักพิมพ์ Enter ที่เน้นนิยายแนวแฟนตาซี นอกจากนี้บางสํานักพิมพ์แม้ ไม่ได้เน้นไปที่งานประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่ก็ปรากฏความหลากหลายให้เลือกสรร

 

สาเหตุหนึ่งก็เพราะตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อ ‘เทรนด์’ ของคนในปัจจุบันแตก ต่างและหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ‘เนื้อหาจึงเป็นไปตามเทรนด์ของสังคมที่เกิดขึ้นเช่นกัน’ ไม่ใช่เพียงแต่ในเชิงประเภท ของงาน แต่ในเชิงเนื้อหาของงานประเภทนั้นๆ ก็มีความหลากหลายมิติมากขึ้น

 

คุณปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ P.S. ได้ยกตัวอย่างประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า สํานักพิมพ์ P.S. เน้นไปที่หนังสือที่สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ของคน ความสัมพันธ์ของคนในทุกวันนี้อาจจะแตกต่างจากรุ่นก่อนเพราะมีหลายเฉดสีมากยิ่งขึ้น เราจะพบเห็นคนที่ไม่อยากใช้ชีวิตแต่งงาน คนที่รักเพศเดียวกัน หรือมีทางเลือกในความสัมพันธ์ที่ไม่เฉพาะเจาะจง เนื้อหาของสื่อสิ่งพิมพ์ก็เหมือนภาพสะท้อนสังคมในช่วงนั้นๆ เนื้อหาจึงต้องมีความหลาก หลายเช่นเดียวกับสังคม ไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าที่เชยๆ เรื่องหนึ่ง

 

ประเภทของงานที่ชัดเจนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และลงดีเทลไปที่ความหลากหลายของเนื้อหาในประเภทงานนี้เอง ที่ทําให้ สํานักพิมพ์ทุกวันนี้มีความแม่นยํา และชัดเจนในตัวตนของตัวเอง

  

สํานักพิมพ์ไม่ใช่แค่ที่พิมพ์หนังสือ แต่คือจุดกําเนิดพลังของ ‘เรื่องเล่า’

ถ้าหากจะมอง ‘หนังสือ’ เป็นคอนเทนต์ในรูปแบบ ‘เรื่องเล่า’ รูปแบบหนึ่ง จะทําให้เห็นว่าเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันที่คน คิดว่าจะมาล้มวงการหนังสือนั้นส่งผลในตรงกันข้าม เทคโนโลยีเหล่านี้กลับส่งเสริมและกลายเป็นช่องทางการทําตลาดที่ น่าสนใจและสามารถขยายฐานกลุ่มคนอ่านได้มากขึ้นในเวลาเดียวกัน

 

อย่างในกรณีของ Tiktok ก็ได้เกิด #booktok ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ของการรีวิวหนังสือ และแนะนําหนังสือที่ดีๆ ซึ่งมีกลุ่มคนไทยจํานวนไม่น้อยเริ่มใช้แฮชแท็กดังกล่าว การมีพื้นที่สื่อทางออนไลน์เหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางการตลาดแล้วยังเป็นฟีดแบคสําหรับคนทําหนังสือที่จะต้องรักษามาตรฐานของตนเองไว้

ดังเช่นที่คุณปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สมมติได้ให้ความเห็นไว้ว่า การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ง่ายขึ้นจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน เป็นทั้งด้านบวกและด้านตรงข้าม เพราะทําให้คนสนใจหนังสือในแนวนี้มากขึ้น พร้อมๆ กับการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นหน้าที่ของคนทําหนังสือหรือตัวหนังสือเล่มเองจําเป็นต้องคัดเลือก รวมรวบ และเลือกสรร ต้นฉบับให้มีความ แม่นยําและเป็นประโยชน์ที่สุดต่อผู้อ่าน และต้องมีความน่าเชื่อถือในระดับที่ผู้อ่านให้ความไว้วางใจ

 

#booktok ในอเมริกาที่ทำให้เกิดกระแสการอ่านเพิ่มมากขึ้น เริ่มเผยแพร่มายังไทย

 

นอกจากนี้ในด้านธุรกิจ การมีเทคโนโลยีและการขายบนช่องทางออนไลน์ ยังทําให้สํานักพิมพ์สามารถติดต่อกับผู้ที่ชื่นชอบหนังสือและสามารถสร้างฐานแฟนคลับได้ บางสํานักพิมพ์จึงมีผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่นและสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ ไม่เหมือนแต่เดิมที่รอวัดกันจากยอดขายหน้าร้านเท่านั้น

 

ช่องทางออนไลน์ยังสามารถเอื้อให้สํานักพิมพ์สามารถมียอดขายได้ทั้งปี ด้วยการมีโปรโมชันส่วนลดได้ตลอด ไม่เหมือนที่ผ่านมาซึ่งกระจุกอยู่ที่เทศกาลหนังสือเท่าน้ัน นอกจากนี้ยังมีการเปิดพื้นที่ในรูปแบบร้านค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งบนอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก Tiktok หรือทวิตเตอร์ ซึ่งทำให้สํานักพิมพ์สามารถกระจายหนังสือได้มาปขึ้น เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ยึดกับแพลตฟอร์มเดิมๆ แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวก็จะต้องอาศัยต้นทุนทั้งด้านกําลังคน เวลาและเงินลงทุนในการทําตลาดจํานวนมาก ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สําคัญสําหรับสํานักพิมพ์รายย่อย เพราะหากไร้การสนับสนุนจาก ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างเหลือเกินเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกท่ีมีการส่งเสริมการอ่าน และทุ่มงบประมาณให้กับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งมาตรการการลดภาษีสําหรับสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ หรือมาตรการการสนับสนุนนักเขียนไทย

 

หนังสือจากสํานักพิมพ์ต่างๆของไทยที่มีความหลากหลายทั้งประเภทและเนื้อหา

 

‘หนังสือมือสอง’ สู่ของสะสม

อีกหนึ่งมุมของวงจรธุรกิจหนังสือไทยยังคงอยู่ในโลกของวงการหนังสือ และกําลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่ควรพูดถึงคือร้านหนังสือมือสอง ซึ่งแตกต่างจากสํานักพิมพ์โดยสิ้นเชิง

 

หนังสือมือสองในทุกวันนี้มีจํานวนคนเข้าซื้อลดน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากกลุ่มลูกค้าไม่ได้ขยายไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่เท่าไหร่นัก ส่วนมากแล้วจะเป็นกลุ่มคนรุ่นเก่าที่อยากจะสะสมหนังสือเก่าเก็บหายากเท่านั้น ร้านลุงทองเปิดเผยว่า หนังสือที่ขายดี คือหนังสืองานศพของคนรุ่นก่อน เพราะเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาประจําตัวของผู้ตาย ไม่ว่าจะแพทย์แผนโบราณ ความรู้เคล็ดลับวิชาหมอดู เรื่องเกี่ยวกับวิญญาณ หรือตํารับยาโบราณ เป็นสิ่งที่คนตามหาและเก็บรวบรวม หนังสือเล่มหนึ่งหากเก่ามากก็จะมีราคาสูงถึงหลักหมื่น อย่างเช่นหนังสือในงานออกพระเมรุพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จ พระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เพราะหนังสือประเภทนี้จะตีพิมพ์แค่ครั้งเดียวแบบ ‘ชาตินี้คงจะหาไม่เจอแล้ว’ และเป็นความรู้เฉพาะบุคคลจึงมีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้หนังสือที่มีราคาสูงอีกประเภท คือ ตําราโบราณ เช่น ตําราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตํารารวบรวมการรักษาแพทย์แผนไทย หากเป็นฉบับตีพิมพ์แรกก็ราคาพุ่งสูงถึงหมื่นเช่นกัน 

 

หนังสือแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแพทย์แผนโบราณ

 

อย่างไรก็ตามหนังสือประเภทอื่นน้ันมีราคาไม่สูงมากนัก ยกเว้นหนังสือวรรณกรรมสําคัญที่ตีพิมพ์เป็นฉบับแรก ... โดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ แม้จะเล่มปกหนาเพียงใดก็ราคาไม่สูงมากนัก ด้วยว่าเนื้อหาสามารถหาได้ทั่วไป และบางเล่มก็มีเนื้อหาที่พิสูจน์แล้วในปัจจุบันว่าไม่ถูกต้อง เป็นต้น

 

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเล่มนี้มีราคาสูงถึง 3,500 บาท เพราะหลวงบุณยมานพพาณิชย์ เป็นผู้ประพันธ์และเขียนบทภาพยนตร์

 

 

ในวงการหนังสือมือสอง จึงถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นวงการ ‘หนังสือสะสมแทน’ เพราะลูกค้าที่เข้าร้านส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อ ไปเพื่อ ‘อ่าน’ แต่ซื้อเพื่อที่จะ ‘สะสม’ มากกว่า

 

แม้ว่าสำนักพิมพ์จะมีการปรับตัวและใช้ข้อดีของสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนและลื่นไหลให้เป็นประโยชน์อย่างไร หรือแม้แต่ความแม่นยําและน่าไว้วางใจของสํานักพิมพ์ทำให้ "เรื่องเล่า" ของพวกเขาทรงพลังมากแค่ไหน แต่การมีเพียงแค่งานสัปดาห์หนังสือที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งนั้นก็เป็นโจทย์สําคัญว่า เพียงพอหรือไม่กับการสนับสนุนนี้ และเราควรจะให้ความสำคัญกับ "พลังแห่งเรื่องเล่า" ที่กล่อมเกลาทัศนคติ อุดมการณ์ และแนวทางต่อการดําเนินชีวิตของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยมากกว่านี้หรือไม่.

 

 

ขอขอบคุณ:

ร้านลุงทอง

คุณปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล บรรณาธิการบริหารสํานักพิมพ์ P.S.

คุณปิยะวิทย์ เทพอํานวยสกุล บรรณาธิการสํานักพิมพ์

https://www.vox.com/culture/23644772/booktok-money-business-sponsored-videos