ไทยเผชิญ”ปีศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชีย” อุณหภูมิสูงสร้างสถิติ
คลื่นความร้อนหลายสัปดาห์ที่ส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทำลายสถิติตลอดกาล ไทยและหลายประเทศ เผชิญคลื่นความร้อนรุนแรง “ปีศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชีย” ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และการบริโภคพลังงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
อุณหภูมิในพื้นที่บางส่วนของบังกลาเทศ จีน อินเดีย ลาว เมียนมาร์ และไทย สูงกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ (38 องศาเซลเซียส) หลายครั้งในเดือนนี้ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในทุกช่วงเวลาของปี
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทั่วไปแล้วเดือนเมษายนและพฤษภาคมเป็นเดือนที่อบอุ่นที่สุดของปีก่อนที่มรสุมประจำปีจะเริ่มขึ้น แต่ขนาดและขอบเขตของคลื่นความร้อนในปัจจุบันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ มักซิมิเลียโน เอร์เรรา ขนานนามปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น "ปีศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน"
เมื่อวันเสาร์ ทางการไทยเตือนประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ให้หลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้งเนื่องจากอากาศร้อนจัด
บางส่วนของเอเชียรายงานว่าร้อนจัดในเดือนนี้ โดยมีอุณหภูมิทำลายสถิติในบางประเทศ ในบังกลาเทศและบางส่วนของอินเดีย ความร้อนสูงส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้ไฟฟ้าดับและขาดแคลนไฟฟ้าสำหรับผู้คนหลายล้านคน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนระลอกนี้กว่า 10 ราย ขณะที่ทางการท้องถิ่นของอินเดียหลายรัฐประกาศปิดเรียน เพื่อป้องกันเด็กเผชิญคลื่นความร้อน
“เมื่อวันศุกร์ที่14 เมษายน ตากและเพชรบูรณ์ในประเทศไทยสร้างสถิติใหม่ตลอดกาล” Jason Nicholls หัวหน้านักพยากรณ์ของ AccuWeather กล่าว โดยที่ตาก อุณหภูมิปรอทสูงขึ้นถึง 114 องศาฟาเรนไฮต์ (45.4 องศาเซลเซียส) ขณะที่เพชรบูรณ์มีอุณหภูมิสูงถึง 110 องศาฟาเรนไฮต์ (43.5 องศาเซลเซียส) อุณหภูมิที่สูงในจังหวัดตากเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในประเทศ โดยทำลายสถิติเก่าที่ 112 F (44.6 C) ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 2559
ขณะที่เมื่อวันเสาร์ ในเขตบางนาของกรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส (100 ฟาเรนไฮต์) ในขณะที่ดัชนีความร้อนซึ่งรวมถึงความชื้นสัมพัทธ์และวัดอุณหภูมิที่รู้สึกได้นั้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 54 องศาเซลเซียส (129 ฟาเรนไฮต์) ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคลื่นความร้อนสุดขั้วระลอกล่าสุดได้ทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า โดยประเทศไทยใช้ไฟฟ้ามากกว่า 39,000 เมกะวัตต์ในวันที่ 6 เมษายน แซงหน้าสถิติเดิมที่ 32,000 เมกะวัตต์ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ยังคงพยากรณ์สภาพอากาศในรอบ 7 วันข้างหน้าว่า ยังคงมีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงวันที่ 27 – 28 เม.ย. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่วนในช่วงวันที่ 29 – 30 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ ทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น