posttoday

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

16 มิถุนายน 2566

ใจเย็นๆ ความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องลึกซึ้งแต่ไม่ลึกลับ ใครอยากใส่ชุดอะไร อาจไม่มีใครต้องเดือดร้อน หรือ เรียนหนังสือกันไม่ได้ เครื่องแบบไม่ใช่ ตัวชี้วัดศักยภาพการศึกษาของเด็กหนึ่งคน แต่มีเหตุผลอะไร ทำไมใครๆ ก็ยังต้องใส่เครื่องแบบ

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

ที่สำคัญ ไม่ใช่นักเรียนทุกคน ไม่อยากใส่เครื่องแบบ ก็ยังมีเด็กนักเรียนอยู่อีกมากในโลกนี้ที่ยังภูมิใจในชุดที่สวมใส่

 

บางทีเรื่องนี้อาจเป็นดัชนี เครื่องมือชี้วัดความแตกต่างทางความคิดในโรงเรียนและสังคมได้อีก  เพราะเครื่องแบบก็ไม่ใช่เหตุผลที่คนจะเอามา "ด้อยค่า" กันได้ ทั้งต่อผู้สวมใส่และผู้ที่ไม่ต้องการจะสวมใส่มัน งานนี้ฝั่งเสรีนิยมจ๋ายังมีการตีออกชกตัว ว่ามันเกินไป สำคัญคืออย่าเพิ่งด่วนสรุป เด็กสวมไปรเวทก็ไม่ได้แปลว่า เสรีนิยมกันยกเซ็ท และเด็กที่ยังพอใจกับเครื่องแบบก็ไม่ใช่อาจไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยม หรือว่า ล้าหลังกันทุกคน มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแบบว่า“เหตุผลใคร เหตุผลฉัน”

 

นักเรียนทั่วโลกได้สวมเครื่องแบบนักเรียนมาหลายศตวรรษแล้ว ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ไปที่อังกฤษ ว่าเป็นประเทศจุดเริ่มต้นของเครื่องแบบนักเรียนสมัยใหม่ 

 

ต่อมาเครื่องแบบนักเรียนเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นสูง เนื่องจากโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเริ่มใช้เครื่องแบบกันมากขึ้น และยังมีความเป็นทางการอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวอย่างจาก ProCon.org ตั้งข้อสังเกตว่านักเรียนที่อีตัน คอลเล็จ (Eton College) อันทรงเกียรติต้องสวมหมวกทรงสูงและหางสีดำเป็นเครื่องแบบจนถึงปี1972

 

เทรนด์สมัยใหม่

ทุกวันนี้ นักเรียนจำนวนมากที่เข้าเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมในอังกฤษยังต้องสวมเครื่องแบบ ประเพณีนี้เริ่มต้นขึ้นเพื่อให้โรงเรียนมีอัตลักษณ์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

 

บีบีซีให้เหตุผลว่า เครื่องแบบนักเรียนมีขึ้นเพื่อให้นักเรียนมีความเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความมั่งคั่งของผู้ปกครอง เพราะชุดไปรเวทอาจเป็นตัวบ่งบอก “ฐานะ” ที่แตกต่างกันในโรงเรียนเข้าไปอีก

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเครื่องแบบมีความทันสมัยมากขึ้น จากที่เคยสวมเสื้อเบลเซอร์และผูกเน็คไทด้วยผ้าเนื้อหนาแบบเดิม เปลี่ยนมาเป็น เสื้อยืด เสื้อโปโล และเสื้อสเวตเตอร์สีประจำโรงเรียนกันมากขึ้น จนกลายมาเป็นมาตรฐานส่วนกางเกงหรือกางเกงยีนส์ยังสามารถสวมใส่ในโรงเรียนบางแห่งได้

 

ในขณะที่บางโรงเรียนก็ยังเลือกที่จะรักษาสิ่งต่างๆ ไว้ตามเดิมเป็นเวลาหลายร้อยปี ตัวอย่างเช่น BBC รายงานว่าChrist's Hospital ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนในปี 2014 และ 95% โหวตให้คงเครื่องแบบแบบดั้งเดิมไว้ โดยอ้างความภาคภูมิใจในโรงเรียนเป็นเหตุผลหลัก

 

ไปกันที่ สหรัฐอเมริกา ก็มีการโต้เถียงกันในเรื่องนี้เช่นกัน การใช้เครื่องแบบนักเรียนในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1900 สำหรับโรงเรียนในสังกัดรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ช่วงทศวรรษ 1980 โรงเรียนของรัฐก็เริ่มใช้เครื่องแบบ โดยมีโรงเรียนในแมรีแลนด์และวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นโรงเรียนแรกๆ ที่ใช้นโยบายเครื่องแบบ แม้ว่าจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ 

 

ตามรายงานของ ProCon.org เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติของนักเรียน และปัญหาทางวินัยที่ลดลงหลังจากมีนโยบายเครื่องแบบ ส่งผลให้โรงเรียนอื่น ๆ เริ่มใช้เครื่องแบบไปตามๆ กันจากสถิติสนับสนุนการใช้เครื่องแบบ

 

จนกระทั่งในปี 1994 เครื่องแบบนักเรียนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในโรงเรียนรัฐบาล มีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนในสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันไม่มีรัฐใดที่กำหนดหรือห้ามโดยกฎหมาย

 

ศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) รายงานว่าในปี 2011 มีเพียง 19% ของโรงเรียนรัฐบาลเท่านั้นที่ยังกำหนดให้นักเรียนสวมเครื่องแบบ โรงเรียนประถมมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายเครื่องแบบมากกว่าโรงเรียนมัธยมศึกษา เช่นเดียวกับโรงเรียนในเมืองที่มีการสวมใส่เครื่องแบบมากกว่าโรงเรียนตามชานเมืองและตามชนบทแต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนที่กำหนดให้นักเรียนสวมเครื่องแบบกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น

 

ในโรงเรียนของประเทศสมัยใหม่บางประเทศ การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียนได้ถูกยกเลิกโดยสิ้นเชิง แต่ประเพณีนี้ยังคงรักษาไว้ในหลายประเทศ เครื่องแต่งกายของนักเรียนในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน เพราะมันถูกสร้างขึ้นตามขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่หลายศตวรรษ ทั้งจากระบอบการเมือง หรือโลกทัศน์ของพลเมือง หรือบางทีการส่งออก Soft Power ของหลายประเทศก็อาจกำลังกลายเป็น “เครื่องแบบแห่งยุค” ของชุดไปรเวทนักเรียนทั่วโลกไปโดยปริยาย ใคณจะรู้ว่า เทรนด์ชุดไปรเวท กับ เทรนด์ชุดนักเรียน อะไรจะแรงกว่ากัน ขึ้นอยู่กับอะไร 

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

ไปดูกัน เริ่มจากชุด “เซฟูกุ” ยอดฮิตของญี่ปุ่น ถ้าใครทันยุคการ์ตูนเซเลอร์มูนก็อาจจะมีภาพจำของชุดนักเรียนแบบนี้กัน

 

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ได้รับแรงบันดาลใจส่งตรงมาจากเครื่องแบบนักเรียนแบบดั้งเดิมของอังกฤษ แม้ว่าการใช้เครื่องแบบนักเรียนจะยังไม่แพร่หลายจนถึงช่วงปี 1900 แต่ปัจจุบันเครื่องกลายแบบเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักเรียนญี่ปุ่นไปแล้ว

 

Japan Powered ตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องแบบนักเรียนที่นี่จำลองแบบมาจากเครื่องแบบทหารของฝรั่งเศสและปรัสเซียน เครื่องแบบนักเรียนเริ่มในญี่ปุ่นเพื่อแสดงให้ประเทศอื่นๆ เห็นว่าพลเมืองของญี่ปุ่นมีฐานะดีเพียงใด เครื่องแบบของเด็กผู้หญิงจำลองมาจากเครื่องแบบทหารเรือ และเครื่องแบบเด็กผู้ชายจำลองมาจากเครื่องแบบทหาร เป็นเรื่องปกติมากในญี่ปุ่นที่นักเรียนจะสวมเครื่องแบบนอกโรงเรียนโดยมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น 

 

บางทีถ้าเรารู้ข้อเท็จจริง ประวัติความเป็นมาและที่มาของเครื่องแบบนักเรียน ตลอดจนสาเหตุที่มันยังคงมีอยู่มาจนถึงวันนี้ ก็อาจแบ่งเบา บรรเทา ความทุกข์บางประการทั้งของทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนให้เข้าใจประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งกันได้ดีขึ้น เปิดมุมมองหลากหลายมิติในโลกของความหลากหลายทุกวันนี้

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

ญี่ปุ่น

ว่ากันว่าเครื่องแบบนักเรียนปรากฏในญี่ปุ่นเมื่อปลายศตวรรษที่แล้ว ตอนนี้เด็ก ๆ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบเดียวกันทั้งในโรงเรียนของรัฐและเอกชนเกือบทั้งหมด แต่ไม่มีชุดสีเดียวในเครื่องแบบรวมถึงสไตล์ประจำชาติ เช่น ในโรงเรียนหนึ่ง นักเรียนอาจสวมแจ็กเก็ตสีเขียว และอีกโรงเรียนหนึ่ง อาจสวมเสื้อกั๊กสีส้ม

 

ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ชุดกะลาสีที่สร้างขึ้นตามแบบโรงเรียนในยุโรปได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่เด็กนักเรียน ในภาษาญี่ปุ่น ชุดดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "sailor fuku" ซึ่งแปลว่า "ชุดกะลาสี" ตามตัวอักษร

 

บริษัทท้องถิ่นผูกขาดการผลิตชุดเซฟุกุ (seifuku) และนักเรียนของแต่ละโรงเรียนในประเทศได้รับชุดกะลาสีที่มีเอกลักษณ์นี้กันทุกคน แบบฟอร์มนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ละรุ่นจะมีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบการตัดเย็บและสี มีความเชื่อผิดๆ ที่แพร่หลายตามสื่อต่างๆ ว่า รัฐบาลออกแบบกระโปรงสั้นมากๆ ให้กับเด็กนักเรียนญี่ปุ่นสมัยใหม่แต่ในความเป็นจริง นักเรียนย่อให้สั้นลงเองจ้ะ จากความยาวเดิมเกือบถึงเข่า ความนิยมของกระโปรงสั้นในหมู่สาวญี่ปุ่นปรากฏขึ้นในทศวรรษที่ 90 ของศตวรรษที่ 20 เมื่อนามิเอะ อามูโระดาราดังเจิดจรัสอยู่บนเวทีด้วยในชุดกระโปรงสั้นสุดเก๋ 

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

ตั้งแต่นั้นมาเด็กนักเรียนก็เริ่มม้วนกระโปรงด้านบนรัดไว้ในเข็มขัดแล้วซ่อนมันไว้ใต้แจ็คเก็ต กลายเป็นชุดกระโปรงสั้นติดตาผู้คน นักเรียนจะเดินจากบ้านไปโรงเรียน (ส่วนเด็กนักเรียนหญิงโซเวียตก็นับเป็นธรรมเนียมที่จะต้องตัดกระโปรงให้สั้นลงด้วยการตัดผ้าออกจากด้านล่างแล้วเย็บชายกระโปรงกันเองตามต้องการ)

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

ศรีลังกา

การสวมเครื่องแบบนักเรียนเป็นข้อบังคับในโรงเรียนทุกแห่งในศรีลังกา ยกเว้นสถาบันเอกชนบางแห่งที่นักเรียนสามารถสวมใส่ชุดอะไรก็ได้ เด็กผู้ชายในโรงเรียนท้องถิ่นสวมกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินและเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนสั้นจนถึงเกรด 10 ส่วนนักเรียนมัธยมปลายสวมกางเกงขายาวได้ เด็กผู้หญิงในทุกโรงเรียนมีทรงผมแตกต่างกันได้ 

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

ภูฏาน 

ชุดนักเรียนแบบดั้งเดิมในภูฏานเรียกว่าโกะ (gho) สำหรับผู้ชาย และคิรา (kira) สำหรับนักเรียนหญิง แต่ละโรงเรียนเลือกสีของเครื่องแบบได้อย่างอิสระ แต่การตัดและรูปแบบจะเหมือนกัน 

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

คิวบา 

สำหรับนักเรียนคิวบาและนักศึกษามหาวิทยาลัย ต้องสวมเครื่องแบบ แบบมีระบบสีของตัวเองโดยแต่ละชั้นเรียนหรือหลักสูตรจะมีสีแยกตามชั้น นักเรียนชั้นประถมศึกษาสวมชุดสีแดงเบอร์กันดี (การผสมผสานระหว่างสีม่วง น้ำตาล และสีแดง เป็นสีไวน์เข้ม) และสีขาว เด็กผู้ชายสวมกางเกงสีเบอร์กันดีและเสื้อเชิ้ตสีขาว ส่วนเด็กผู้หญิงสวมชุดเอี๊ยมสีเบอร์กันดี

 

เนื่องจากคิวบาเป็นทายาทของวัฒนธรรมสังคมนิยม เด็กนักเรียนในท้องถิ่นจึงยังคงผูกเนคไทสีแดงเหมือนกับผู้บุกเบิกโซเวียต บางครั้งก็มีเนคไทสีน้ำเงินด้วยในโรงเรียนมัธยม เสื้อเชิ้ตยังคงเป็นสีขาว ชุดเอี๊ยมและกางเกงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เด็กหญิงมัธยมต้นสามารถเปลี่ยนชุดเอี๊ยมกระโปรงเป็นกระโปรงสวมถุงเท้ายาวที่มีสีเดียวกันได้ 

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

เกาหลีเหนือ

นักเรียนของโรงเรียนในเกาหลีเหนือมีความคล้ายคลึงกับเด็ก ๆ ในสหภาพโซเวียตในชุดเครื่องแบบ สัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักคือเน็คไทสีแดงแบบเดียวกับในคิวบา แน่นอนว่า เนคไทคือสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นต่อขบวนการคอมมิวนิสต์และนักเรียนทุกคนต้องสวมเน็คไท แต่ที่เหลือก็ไม่มีมาตรฐานบังคับสำหรับทุกโรงเรียน เด็กผู้หญิงสามารถสวมกระโปรงและชุดเอี๊ยมสีเบอร์กันดี สีเทา หรือสีขาว เด็กผู้ชายอาจสวมเสื้อเชิ้ตลายสก๊อตหรือสีขาวเข้าชุดกับกางเกงขายาวสีดำได้

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

เวียดนาม 

ไม่มีเครื่องแบบนักเรียนในเวียดนาม แต่ผู้นำของเมืองใหญ่ๆ ต้องการให้โรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่หนึ่งมีมาตรฐานสำหรับเสื้อผ้าของนักเรียน บางครั้งเราก็จะเห็นหนุ่มสาวชาวเวียดนามผูกเน็คไท (สีแดง) ท่อนล่างสีเข้ม ท่อนบนสีอ่อนในรูปแบบของเสื้อเบลาส์หรือเสื้อเชิ้ต แต่เปลี่ยนไปเมื่อนักเรียนไปเรียนมัธยมปลาย ในช่วงปีการศึกษาสุดท้าย เด็กผู้หญิงสวมชุดอ่าวหญ่าย (Aozai)  แบบดั้งเดิมของเวียดนาม ซึ่งเป็นเสื้อเชิ้ตตัวยาวสีขาวที่ทำจากผ้าไหมสวมทับกางเกงขายาว โดยนักเรียนมัธยมปลายสามารถเลือกไม่ใช้เน็คไทสีแดงได้ แต่กางเกงสีดำและรองเท้ากับเสื้อเชิ้ตสีขาวยังคงถูกบังคับใช้ แต่ถ้าหากคุณไปเยี่ยมชมหมู่บ้านที่ห่างไกลจากฮานอย คุณจะสังเกตเห็นว่านักเรียนสวมใส่เสื้อผ้าตามอำเภอใจ

 

Diversity Live: เครื่องแบบนักเรียน มีไม่มี เราต่างกันยังไง?

 

สหราชอาณาจักร

แต่ละโรงเรียนจะมีเครื่องแบบของตนเอง เครื่องหมายที่โดดเด่นในรูปแบบของตราสัญลักษณ์หรือตราประจำโรงเรียนถูกปักลงบนเสื้อผ้าแต่ละชิ้น  เพราะมันคือวิธีเน้นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของโรงเรียนอย่างหนึ่ง ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง เครื่องแบบยังคงเป็นความภาคภูมิใจของนักเรียนและพวกเขาต้องดูแลมันอย่างระมัดระวัง หากนักเรียนของสถาบันดังกล่าวมาเรียนในเครื่องแบบไม่ครบชุด เขาจะอับอายและได้รับการตำหนิ

 

ออสเตรเลีย

ในทศวรรษที่ 1920 เด็กผู้ชายชาวออสเตรเลียมักสวมกางเกงขาสั้นและหมวกทรงแหลมไปโรงเรียนเหมือนเด็กผู้ชายในอังกฤษ ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เด็กผู้ชายในออสเตรเลียมักจะไปโรงเรียนด้วยเท้าเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กผู้ชายอังกฤษไม่เคยทำ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องแบบในออสเตรเลียกลายเป็นแบบลำลองมากขึ้น ทุกวันนี้ สไตล์ลำลองกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นสำหรับโรงเรียนในออสเตรเลีย

 

แอฟริกา

ประวัติศาสตร์ของเครื่องแบบนักเรียนในแอฟริกาเริ่มต้นจากผู้เผยแผ่ศาสนา ตามรายงานของ Nile Journal เครื่องแบบถูกใช้เพื่อแยกความแตกต่างของนักเรียนในโรงเรียนมิชชันนารีจากเด็กทั่วไปที่วิ่งเล่นตามท้องถนน ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแอฟริกา เครื่องแบบนักเรียนได้รับความนิยมเป็นพิเศษจากรัฐเผด็จการ เครื่องแบบถูกใช้เป็นวิธีการรับสมัครและควบคุมคนหนุ่มสาว ทุกวันนี้ เครื่องแบบนักเรียนน่าจะแพร่หลายในแอฟริกามากกว่าที่ใดๆ ในโลก แม้ว่าบางครั้งจะมีความหมายเชิงลบก็ตาม ความรู้สึกของสามัญชนคือสิ่งที่ทำให้เครื่องแบบนักเรียนเจริญรุ่งเรืองที่นี่

 

จีน

จีนเริ่มใช้เครื่องแบบนักเรียนกันอย่างแพร่หลายในศตวรรษที่ 19 ไชน่าเดลีเอเชียระบุว่า เครื่องแบบเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย ​โดยเครื่องแบบในยุคแรกได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นตะวันตกผสมกับเครื่องแต่งกายแบบจีนโบราณ การรวมประวัติศาสตร์ของประเทศเข้าด้วยกันทำให้เครื่องแบบของจีนแตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ เครื่องแบบนักเรียนจีนในอดีตถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดูจืดชืดและแทบไม่เห็นความแตกต่างระหว่างสไตล์ของเด็กชายและเด็กหญิง ทุกวันนี้สไตล์เครื่องแบบได้รับอิทธิพลมาจากแฟชั่นเกาหลีมากขึ้น โดยเด็กผู้หญิงจะสวมหูกระต่าย เสื้อเบลาส์ และกระโปรงลายสก็อต ในขณะที่เด็กผู้ชายจะสวมสูทและเนคไท

 

ที่สุดแล้ว คำตอบ อาจอยู่ที่เหตุผลของคนคนนั้นจริงๆ ว่า “พอใจ” กับอะไร และ “มีพอ” สำหรับรสนิยมของตัวเองแค่ไหน  แน่นอนว่า ประเทศของเราก็ยังมีนักเรียนที่พอใจจะใส่ชุดนักเรียนที่เหมือนๆ กันกับเพื่อนๆ อยู่ และก็มีอีกมากมายที่อยากโยนมันทิ้งจะแย่

 

เหตุผลนั้นอาจน่ารักสำหรับบางคน ที่เดินมาบอกว่าถ้าหากใส่ชุดไปรเวทก็อาจยิ่งทำให้ความยากจนของตนเผยตัว จนดูแตกต่างบ่งบอกฐานะที่แท้เข้าไปอีก ส่วนคนที่อยากสลัดก็บอกว่ามันไม่เกี่ยวกับการเรียน จะแต่งยังไงจะแต่งแบบไหนก็ได้นี่มันโลกยุคไหนกันคะครู หรือบางทีอาจต้องมีการสำรวจ ความพอใจ ของนักเรียนแต่ละสถาบันว่า พอใจและพร้อมแค่ไหน

 

ในที่นี้ เสียงส่วนใหญ่ จะยังสำคัญ การนึกถึงใจเขาใจเรา จะยังคงมีอยู่ต่อไปในสังคมเล็กๆ อย่างโรงเรียน ที่ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการฟูมฟักอนาคตของประเทศ.

 

 

 

เครดิตภาพ: smapse.com