จุดร่วมดราม่าสมาคมแท็กซี่ไทย - คนจนมีสิทธิไหมคะ? ท้องถิ่นVSเมือง
อย่ามองข้าม จุดร่วมดราม่า! จากสมาคมแท็กซี่ไทยไม่ให้พูดอีสาน สู่ดราม่าเพลงคนจนมีสิทธิมั้ยคะ? เปิดแผลกดทับความเป็นท้องถิ่นที่ต่อสู้กับความเป็นคนเมืองมานานหลายสิบปี
เริ่มต้นจากข่าวที่สมาคมแท็กซี่ไทย แนะนำผู้ขับแท็กซี่ไม่ให้พูดภาษาอีสาน เพื่อยกระดับการบริการ และสร้างภาพลักษณ์คนขับในการให้บริการอย่างมืออาชีพ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเบื้องหลังสามสี่ประโยคเบื้องต้นนั้น มาด้วยเจตนาอย่างไร .. เพราะคำว่ามืออาชีพตีความได้หลายแง่มุม
ในประเด็นความเป็นมืออาชีพ หากมองว่าสำหรับลูกค้าบางรายอาจไม่เข้าใจภาษาถิ่น และเกิดการสื่อสารผิดพลาด ก็เป็นสิ่งที่ฟังขึ้นอยู่บ้าง เพราะการใช้ภาษากลางในการสื่อสารส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะชาติไหน ก็เพื่อการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าอย่างนั้นก็ควรเหมาไปถึงภาษาถิ่นท้องถิ่นอื่นเช่น เหนือ หรือ ใต้ ซึ่งก็ฟังยากเช่นกัน!
แต่ในเมื่อเน้นแค่ภาษาอีสาน และสามสี่ประโยคนั้นไม่มีการอธิบาย แถมบอกว่าเป็นการสร้าง ‘ภาพลักษณ์’ คำว่าภาพลักษณ์นี่แหละจึงเป็นตัวจุดชนวนให้คนท้องถิ่นทัวร์ลงอย่างเสียไม่ได้ ... โดยเฉพาะในยุคที่ความหลากหลายและเท่าเทียมได้รับการยอมรับและถูกพูดถึง การกดทับอัตลักษณ์เช่นนี้ในสังคมไทย ทำไมยังคงอยู่?
ภาษาถิ่นถูกกด ต้นเหตุคืออำนาจ
ย้อนไปในสมัยก่อนที่กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวงเฉกเช่นปัจจุบัน ประเทศไทยมีเมืองหลวงคือกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีสำเนียงที่เรียกว่า ‘สำเนียงหลวง’ เป็นสำเนียงคล้ายสุพรรณบุรีกับหลวงพระบาง ส่วนสำเนียงของชาวบางกอก หรือชาวกรุงเทพฯ นั้น ก็ถูกเรียกว่า ‘บ้านนอก’ เช่นกัน
ต่อมาเมื่อกรุงแตก และย้ายราชธานีมาที่ธนบุรี สำเนียงกรุงเทพฯ หรือบางกอกก็ถูกยกเป็น ‘สำเนียงหลวง’ และสำเนียงหลวงที่เคยมีมาก็กลายเป็นว่าถูกกดว่า ‘เหน่อ’ แทน .. ทำให้เห็นว่าการกำหนดว่าสำเนียงไหนเป็นสำเนียงหลักนั้นขึ้นอยู่กับว่าตั้งราชธานีที่เมืองไหน เมืองใดขึ้นมาเป็นใหญ่ และอำนาจอยู่ที่ใคร!
เช่นเดียวกับการกำหนด ‘ภาษากลาง’ ของแต่ละประเทศในเวลาต่อมา
ภาษากลาง หมายถึง ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนที่พูดภาษาต่างกัน ภาษากลางอาจเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างประเทศ .. บางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘ภาษาทางการค้า’ หมายถึงไว้ใช้ติดต่อกันเพื่อค้าขายระหว่างประเทศนั่นเอง อย่างเช่น ภาษาอังกฤษ ก็แน่ล่ะถ้าหากว่าจะติดต่อค้าขายกับทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลก คุณก็ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ หรือตอนนี้ถ้าหากอยากจะค้าขายกับจีน ก็ต้องพูดภาษาจีนให้ได้ เพราะน้อยครั้งที่พี่จีนจะยอมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพราะก็ใหญ่ไม่แพ้ฝั่งตะวันตก!
ความเป็นมหาอำนาจนั้นผูกติดกับการใช้ภาษากลาง ..
ประเทศไทยก็เช่นกัน การเลือกใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารแทนที่จะใช้ภาษาท้องถิ่นใดๆ ก็เพราะว่าศูนย์กลางการปกครองยังคงพูดภาษาไทย แม้จะมีพื้นที่ขนาดเล็กมาเมื่อเทียบเท่ากับภาคอื่นๆ ก็ตาม!
ดราม่าคนอีสาน มีมานาน และไม่เคยเลือนหาย
คำว่าภาพลักษณ์ที่ทางสมาคมแท็กซี่ไทยใช้นั้น สะท้อนให้เห็นภาพของคนอีสาน ที่ยังคงปรากฎอยู่ในทัศนคติของผู้คนบางกลุ่ม .. อันที่จริงเรื่องว่าคนอีสานถูกเหยียดนั้นมีมาหลายต่อหลายครั้ง ... อีสานถูกมองว่าเป็นคนชนบท เป็นชนชั้นรากหญ้าที่ใช้แรงงานแลกเงิน! โดยไม่เปิดช่องให้พูดถึงความเป็นจริงได้อย่างเท่าเทียม
ถามว่าการที่คนอีสานต้องดิ้นรนนั้น พวกเขาผิดอะไร?
หากย้อนกลับไปดูในยุคของเมืองการปกครองที่มีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้น จะพบว่าแผนพัฒนาเหล่านี้มุ่งแต่ที่จะพัฒนาในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ... จะว่าไปแล้วการพัฒนาในประเทศไทยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองและการเริ่มต้นของสงครามเย็น ในช่วงเวลานั้นการพัฒนาถูกนำเข้ามาในฐานะเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ผ่านหน่วยงานต่างๆ ระดับโลกที่สนับสนุนการพัฒนาที่เรียกว่า ‘การพัฒนากระแสหลัก’
การเติบโตของการพัฒนากระแสหลัก ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค การลงทุนจากต่างประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าเน้นไปที่ศูนย์กลางของเมืองและอุตสาหกรรม จนเกิดความไม่สมดุลในการดูแลประเทศไทย และหลังจากนั้นจึงเกิดความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ... จนถึงปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำนั้นก็ยิ่งชัดเจน
ผลพวงจึงตกไปอยู่กับชาวอีสาน หลังจากที่คนในศูนย์กลางทอดทิ้งพวกเขามานานหลายสิบปี จนต้องอพยพมาหางานทำในตัวเมืองที่เติบโตด้วยอุตสาหกรรม และพร้อมที่จะอ้าแขนรับแรงงานราคาถูก .. พวกเขามาเพื่อหารายได้ ในขณะที่กลายเป็นภาพจำให้กับคนไทยในช่วงเวลาหนึ่งว่าพวกเขานั้น อยู่คนละชนชั้น!
ปัจจุบันพบว่า จากสถิติความมั่งคั่งของคนในภาคอีสานกระจุกอยู่กับคนแค่ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าเศรษฐกิจเกือบ 50% ของทั้งภาคอีสาน ส่งผลให้คนต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานของตนมาทำงานในเมืองใหญ่ หรือไม่ก็ในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่เป็นภาคที่มีปริมาณแรงงานสูง มีพรมแดนอยู่ติดกับ 2 ประเทศ ซึ่งควรจะเป็นภูมิภาคทางการค้าได้ ..
คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ? ภาพสะท้อนของคนอีสานที่รุนแรงในความคิดบางคน
“คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ? ปริญญาไม่มี แต่มีxxนะคะ”
คือเนื้อหาในบทเพลงซึ่งกลายเป็นไวรัลดราม่ากันยกใหญ่ รับไม้ต่อจากดราม่าแท็กซี่ห้ามพูดภาษาอีสาน แม้จะคนละข่าวกัน แต่ทั้งสองเรื่องมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันอยู่ โดยแรกเริ่มนั้นมาจากเนื้องเพลง สมองจนจน ซึ่งไถ่ถามสังคมว่าคนจนนั้นมีสิทธิ์มีเสียงหรือไม่ในสังคม หลังจากนั้นคณะลำซิ่งทิวลิปก็นำมาร้องแปลงกันเป็นอย่างที่ได้ฟัง
เราคงไม่สามารถบอกว่าใครถูกผิดในดราม่านี้ได้ เพราะต่างก็พูดในเจตนาที่ต่างกัน ฝั่งหนึ่งมองเรื่องความสุภาพของการใช้ภาษา ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมองถึงเรื่องเนื้อหาและบริบทของสังคมที่แฝงไว้จนต้องกลายเป็นคำเหล่านี้
แต่หากมองลึกถึงเจตนาในเพลง เราจะพบว่าการนำเอาความจริงมาตีแผ่อย่างตลกขบขำ เป็นค่านิยมที่ ‘คนไทย’ ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะชนชั้นที่ไม่ใช่กระแสหลักเลือกจะทำหากย้อนไปในบริบทของเพลงนี้คือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ... ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตั้งแต่สมัยนมนาม เราไม่มีสิทธิที่จะพูดเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาในสิทธิของตนเฉกเช่นสมัยปัจจุบัน ที่มีช่องทางมากมายที่เราจะเรียกร้องสิทธิของตนเอง .. นอกจากนั้นยังเป็นการระบายสิ่งที่คับคั่งในใจในรูปแบบดังกล่าว .... การเล่าเรื่องของตนแบบหัวเราะปนคราบน้ำตา จึงเป็นวิธีการที่เพลงนี้อาจจะอยากนำเสนอ
และทำไมเพลงนี้ถึงเข้าถึงผู้คน และกลับมาเป็นไวรัลได้อีกใน 30 ปีให้หลัง .. ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสนุกและตลกขบขัน แต่อีกส่วนหนึ่งก็อยากจะให้ความไวรัลนี้ช่วยส่งเสียงว่า ความตลกของภาษาดังกล่าวคือการเรียกร้องของคนจนในสังคมไทยที่ไม่เคยมีสิทธิมีเสียง พวกเขาจนมุมถึงขั้นว่า .. ถ้าจะอยากได้ดีก็คงต้องใช้แรงงานในวิธีต่างๆ แลกมา .. ความเป็นจริงค่านิยม ‘เต้าไต่’ แม้จะไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันไม่เคยหายไป ได้แต่หวังว่าคนในยุคปัจจุบันจะช่วยกันดูแล รณรงค์ และส่งเสริมไม่ให้เกิดระบบ 'คนของใคร' นอกเหนือไปจากการส่งเสริมจากส่วนกลางทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ และโอกาสในชีวิตให้กระจายสู่พื้นที่อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวเมืองโดยเร็ว
เราต้องการการพัฒนาที่นอกเหนือไปจากกระแสหลัก
อีกหนึ่งสิ่งที่มีการพูดถึงมานานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ 'การพัฒนากระแสทางเลือก' ซึ่งแตกต่างจากการพัฒนากระแสหลักที่เน้นการลงทุนระดับมหภาค กระจุกในตัวเมืองหรือแค่ในหัวเมืองใหญ่
คงต้องย้อนกลับไปที่ว่า จุดมุ่งหมายของการพัฒนาประเทศคืออะไร?
ความมั่งคั่งร่ำรวย รายได้ของรัฐและปากท้องของประชาชน แค่นั้นหรือ? การพัฒนาทางเลือกเป็นการพัฒนาจากข้างล่าง ที่ให้ความสําคัญกับผู้กระทําการหรือศักยภาพของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เน้นการพัฒนาคน ชุมชน กลุ่มเล็ก ๆ และให้ความสำคัญต่อความหลากหลายและความแตกต่าง เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาบนความยั่งยืน บางคนเคยมองว่ามันอยู่ขั้วตรงกันข้ามกับการพัฒนากระแสหลัก แต่บางคนกลับมองว่ามันสามารถไปด้วยกันได้ ซึ่งเราก็เห็นผ่านนโยบายสำคัญๆ ต่างๆ ในยุคหลังๆ ที่มีการให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและคนตัวเล็กตัวน้อยมากยิ่งขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการพัฒนาจากมุมของการยอมรับในความหลากหลายและเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม แม้ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาประเทศให้เป็นของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง แต่การมีดราม่าทั้งสองเรื่องดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่า คนปัจจุบันไม่ได้ยินยอมต่อการถูกเพิกเฉยหรือละเลยความสำคัญอีกต่อไป .. และนั่นคือสิ่งที่ผู้ออกนโยบายทุกคนต้องพึงคิดเสมอ
มิฉะนั้น เราคงจะได้มาถกเถียงกันถึงประเด็นแบบนี้อีก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่สิบปีก็ตาม.