posttoday

บริการรอบกรุงฯ ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วย AI รู้ผลไว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

11 ตุลาคม 2566

แอสตร้าเซนเนก้าจับมือกับกรุงเทพมหานคร นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นทั่วกรุงเทพมหานคร หวังเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคมะเร็งปอด และลดอัตราผู้เสียชีวิต

แก้จุดบอด ‘มะเร็งปอด’ มักตรวจพบในระยะที่ 4

 

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย ที่มีอัตราการเสียชีวิตกว่า 80,000 คน ต่อปี โดยมีมะเร็งปอดเป็นสาเหตุอันดับต้นของการเสียชีวิต โดยโรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมักตรวจพบในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ เมื่ออาการแสดงในช่วงลุกลามแล้วมารักษาจึงส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับการรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น

 

ดังนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อให้ทราบล่วงหน้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้  จากการศึกษา NLST และ NELSON พบว่าการตรวจคัดกรองเบื้องต้นสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 20%

 

นอกจากนี้ในสวนของค่าใช้จ่ายทางการรักษาก็พบว่า ยิ่งระยะของโรคเพิ่มขึ้น มีความสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้นตามมา ...

 

ใช้ AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรอง

 

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เริ่มดำเนินงานภายใต้โครงการ “Don’t Wait. Get Checked.” โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นให้แก่ประชาชนคนไทย โดยใช้เทคโนโลยี AI หรือซอฟต์แวร์ “qXR” ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Qure.ai บริษัทผู้พัฒนาโซลูชัน AI หนึ่งในพันธมิตรของแอสตร้าเซนเนก้า มาช่วยพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น  ซึ่งโซลูชันนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นเครื่องมือแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ ที่นำความสามารถในการเรียนรู้เชิงลึกมาระบุความผิดปกติจากภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดได้สูงสุด 29 รายการ รวมไปถึงการระบุขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ หรือร่องรอยอาการที่อาจบ่งชี้โรคมะเร็งปอดได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

บริการรอบกรุงฯ ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วย AI รู้ผลไว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

 

ความแม่นยำดังกล่าวนั้น คือการอ่าน Digital chest x-ray image ซึ่งเป็นเครื่องมือวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ถูกนำมาช่วยในการวินิจฉัยโรคทางปอด ตลอดจนในการตรวจสุขภาพประจำปี โดยในแต่ละปีมีภาพถ่ายรังสีทรวงอกปริมาณมาก แต่มีเพียงไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ได้รับการแปลผลโดยแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยา ภาพถ่ายส่วนที่เหลือมักได้รับการแปลผลโดยแพทย์ทั่วไป

จากการศึกษาหลายฉบับพบว่า แพทย์ทั่วไปมีโอกาสแปลผลผิด (Misdiagnose) หรือ มองไม่เห็นรอยโรค (Missed Diagnose) ได้ถึงร้อยละ 20-50 ของภาพถ่ายที่มีรอยโรคมะเร็งปอดและการแปลผลโดยแพทย์ทางรังสีวิทยาเพียงคนเดียวก็ยังมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ร้อยละ 5-9 ดังนั้น การแปลผลภาพถ่ายรังสีวิทยาทรวงอกด้วย AI เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อช่วยในการคัดกรองภาพถ่ายรังสีทรวงอกที่มีรอยโรคหรือความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว ก่อนได้รับการแปลผลซ้ำโดยรังสีแพทย์

 

ทั้งนี้ นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย กล่าวว่า “แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับเส้นทางสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมและก้าวไปสู่การดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล จากความร่วมมือในครั้งนี้ เราตั้งเป้าหมายที่จะทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นแก่ประชาชนกว่า 500,000 รายให้ได้ภายในปี 2567 เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยต่อไป”

 

นายโรมัน รามอส

 

สำหรับรายละเอียดจุดคัดกรองเคลื่อนที่ และโรงพยาบาลในเครือของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

  • โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
  • โรงพยาบาลสิรินธร
  • โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  • โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
  • โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
  • หน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่สำนักอนามัย
  • และอีกหลายโรงพยาบาลภายใต้กรุงเทพมหานครอีกในอนาคต