10 จุดหมายสาย Go Green เขาไปเที่ยวไหนกัน
ในสายตาของสายแข็งเรื่องสิ่งแวดล้อม การเดินทางมักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่มนุษย์สามารถทำได้ต่อสิ่งแวดล้อม ว่าแต่จุดหมายของสายแข็งบนเส้นทาง Go Green ในโลกนี้ มีที่ไหนบ้าง อยากรู้ไหม ไม่ตกเทรนด์
ในสายตาของสายแข็งเรื่องสิ่งแวดล้อม การเดินทางมักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่มนุษย์สามารถทำได้ต่อสิ่งแวดล้อม สายแข็งบนเส้นทาง Go Green จำนวนหนึ่งจึงเลือกที่จะไม่เดินทางไปไหนเลย หากการเดินทางจะทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้ ยกตัวอย่าง หากเครื่องบินของสายการบินนั้นๆ ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ใช่เที่ยวบินคาร์บอนต่ำ สาธารณูปโภคพื้นฐาน รถ เรือ ถนนหนทาง การจัดการขยะ หรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางไม่เอื้อต่อการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ พวกเขาเหล่านั้นอาจเลือกไม่เดินทางไปที่แห่งนั้น หรือประเทศนั้นๆ เพียงเพราะโครงสร้างพื้นฐานในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ที่ว่ามามันยังไม่กรีนสักเท่าไหร่
จึงเป็นการบ้านให้ผู้ที่เกี่ยวข้องขบคิดว่า การจะโกกรีน ไม่ได้มีแค่ฉลากสีเขียว แต่ตัวและหัวใจต้องกรีนด้วย อย่างไรก็ตาม มันก็มีการจัดอันดับสถานที่สุดกรีนในโลกนี้กัน แบบว่า เป็นประเทศที่ส่งเสริมและรักษาสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในระดับโครงสร้างและนโยบาย ไปดูกันว่ามีที่ไหนบ้าง ก่อนที่เราจะเริ่มต้นวิถีชีวิตในแบบที่เรียกว่า Zero Waste Lifestyle กัน
คอสตาริกา
ตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงป่าฝนล้นไปจนถึงทะเลของประเทศคอสตาริกา ประเทศในอเมริกากลางอันแสนป๊อบปูลาร์ มีจุดหมายปลายทางทางธรรมชาติอันแสนงามมากมายสำหรับผู้มาเยือน และคอสตาริกาเองก็รู้ดีถึงข้อดีข้อนี้ของตัวเองในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ จึงได้เปลี่ยนแคมเปญการท่องเที่ยวให้เป็นหนึ่งเดียวแบบ into one โดยอิงแอบจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งสรุปไว้ในสโลแกน 'Pura Vida' ("ชีวิตที่บริสุทธิ์") สั้นๆ เพียงวลีเดียวแบบยิงๆไปเลย ใครอยากบริสุทธิ์ทั้งกายและใจในสายกรีนเชิญค่ะ
เพราะพื้นที่มากกว่าหนึ่งในสี่ของประเทศนี้ซึ่งตั้งอยู่อย่างสง่างามระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลแคริบเบียนถูกมอบให้กับอุทยานแห่งชาติแบบไร้ข้อกังขา ทำให้ผืนแผ่นดินของคอสตาริกาเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ราว17% ของสปีชีส์สัตว์ทั้งหลายในโลก และไม่ใช่แค่สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ไฟฟ้าที่ใช้บริโภคหนึ่งในสามของคอสตาริกาก็มาจากการใช้พลังงานจากน้ำค่ะ กรีนพอหรือยัง
ภูฐาน
อาณาจักรพุทธศาสนาอันโดดเดี่ยวกลางเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้เป็นประเทศเดียวในโลกที่วัดความสุขมวลรวมของชาติได้ จำกันได้ไหมกับ แนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ จีเอ็นเอช (Gross National Happiness: GNH) ที่สวนทางกับ จีดีพี ตามแบบฉบับโลกสากล ภูฐานอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ หากคุณตกหลุมรักและลงลึกไปในประเทศนี้ จะพบว่า ภูฐานเป็นประเทศเดียวในโลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral แบบไม่ต้องพยายามทำอะไรมากเลย (เพราะเป็นอยู่แล้วจ้ะ) แถมยังขึ้นชื่อในเรื่องที่รัฐบาลเขาพยายามรักษาจำนวนนักท่องเที่ยวให้ต่ำเข้าไว้ด้วยความกลัวว่า การหลั่งไหลเทเข้ามาของนักท่องเที่ยวจะทำให้แผ่นดินของเขาเสียหาย
ราชสมาคมเพื่อการคุ้มครองธรรมชาติของประเทศ (Royal Society for the Protection of Nature) รับประกันต่อชาวโลกว่า ประเทศเล็กในหุบเขาน้ำแข็ง หรือ glacial valleys (ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด) จะดูแลรักษาสิ่งต่างๆ ให้คงอยู่ต่อไปได้ ไม่แปลกหากเงินทุนสำหรับความพยายามเหล่านี้จะหลั่งไหลเข้ามาจากการจัดตั้งเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั้งหลายในสากลโลก งดงามตามท้องเรื่อง…
สกอตแลนด์
ดินแดนปี่สกอตได้ดำเนินโครงการริเริ่ม (ที่จำเป็น) ในการต่อสู้กับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และด้วยการเป็นประเทศเจ้าภาพของการประชุม COP26 ในปี 2564 สกอตแลนด์จึงเป็นประเทศแรกในโลกที่ลงนามในข้อริเริ่ม “Tourism Declares a Climate Emergency” ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวลดปริมาณคาร์บอน
Rewilding หรือ การฟื้นคืนธรรมชาติ เป็นวาระสำคัญบรรทัดแรกๆ ของทุกเวที ทุกสถาบัน ซึ่งในแต่ละปีก็ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวสายกรีนให้มาพบกับความงดงามตระการตาของที่ราบสูง ดินแดน High Land ที่ยังคงความเขียวสดงดงาม จนเป็นภาพติดตาคนทั่วโลก ทั้งจากภาพยนตร์แนวพีเรียดของยุโรปมากทุกยุคทุกสมัย และหากนักท่องเที่ยวต้องการทราบว่าควรไปเยี่ยมชมอะไร ที่ไหนบ้างของสกอตแลนด์ ก็ขอให้ปฏิบัติตามที่โครงการรับรองการท่องเที่ยวสีเขียวของประเทศ หรือ Green Tourism certification scheme เขาแนะนำกันไป...
รวันดา
โลกของธรรมชาติคือแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของรวันดา โดยเฉพาะกอริลล่าภูเขา การปกป้องถิ่นที่อยู่ของพวกลิงยักษ์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศถือเป็นแนวหน้าและเป็นศูนย์กลางในความพยายามอนุรักษ์ของรัฐบาลที่อุทยานแห่งชาติ Volcanoes
การท่องเที่ยวชุมชนในเขต Great Rift Valley ซึ่งเป็นหุบเขาที่เกิดจากการทรุดตัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ยังมีโครงการดีๆ สนับสนุนประชากรในท้องถิ่น เป้าหมายคือ ความพยายามเปลี่ยนอดีตนายพราน นักล่าสัตว์แห่งแอฟริกากลางให้เป็นพันธมิตรด้านการอนุรักษ์ ผ่าน…
สโลวีเนีย
แม้ว่าสโลวีเนียจะเป็นหนึ่งในมุมที่ไม่ค่อยมีคนสัญจรไป-มาของยุโรป แต่สโลวีเนียก็เต็มไปด้วยความงามทางธรรมชาติที่งดงามอยู่ดี เช่น เทือกเขาจูเลียนแอลป์ ทะเลสาบโบฮินจ์ ทะเลสาบเบลด ประเทศนี้ใช้ประโยชน์จากจุดเด่นเหล่านี้ด้วยการสร้างรอยเท้าของเส้นทางใหม่ๆ รอให้คนไปค้นพบ ทั้งป้ายบอกทางอันเก๋ไก๋ และแม้แต่แผนที่แบบดิจิทัลสำหรับนักเดินป่าและนักเล่นสกีสายลุย สายกรีนทั้งหลาย
ฟินแลนด์
รู้ไหมว่า 80% ของประเทศทางตอนเหนือของยุโรปประเทศนี้คือป่าไม้ ส่วนอากาศและน้ำของชาวแลปแลนด์ถูกจัดอันดับว่า สะอาดที่สุดในโลก รัฐบาลฟินแลนด์ได้สร้างความมั่นใจให้กับชาวโลกสายกรีน ว่าจะยังคงใช้นโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยการจัดทำโครงการฟินแลนด์อย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Finland นำทางนักท่องเที่ยวไปในทิศทางที่ถูกต้อง ถูกที่ถูกทาง เช่น ป่าทางตอนเหนือของแลปแลนด์ ซึ่งสามารถส่องดูแสงเหนือผ่านต้นไม้ได้ เก๋ไปอีก…
นิวซีแลนด์
นิวซีแลนด์อาศัยความงามตามธรรมชาติตามท้องเรื่องที่มีอยู่แล้วเพื่อดึงดูดเงินดอลลาร์จากนักท่องเที่ยวข้อได้เปรียบข้อนี้ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นแสงสว่างของประเทศผู้นำในโลกแห่งความยั่งยืนได้ไม่ยาก แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ค่อนข้างปลอดมลพิษคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในห้าของการบริโภคพลังงานโดยรวมของประเทศ นโยบายของรัฐบาลเน้นไปที่การรักษาสถานที่สีเขียวและทำให้ความยั่งยืนเป็นแนวหน้าของนโยบายของรัฐบาลในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำมานานแล้วจ้ะ…
บาร์เบโดส
ประเทศหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกและทางตะวันออกของทะเลแคริบเบียนเล็กน้อยแห่งนี้ก็เหมือนกับประเทศหมู่เกาะอื่นๆ ที่ต้องต่อกรกับปัญหา ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอันดับต้นๆ ของโลก นายกรัฐมนตรี Mia Mottley (ซึ่งเคยขึ้นพูดในที่ประชุม COP) ตระหนักดีถึงสถานการณ์ของประเทศ และกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สีเขียว หรือ green transition ในฐานะสมาชิกของ Caribbean Alliance for Sustainable Tourism ด้วยการทำงานหนักเพื่อให้ชาวโลกมั่นใจได้ว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวจะจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
มาดากัสการ์
มาดากัสการ์เป็นประเทศชาวเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันออกของแอฟริกาใกล้กับโมซัมบิก มาดากัสการ์เป็นเกาะใหญ่อันดับ 4 ของโลก เป็นถิ่นฐานของสายพันธุ์พืชและสัตว์ถึงร้อยละ 5 ของโลกและมีมากกว่าร้อยละ 80 ที่เป็นสัตว์หรือพืชเฉพาะถิ่นมาดากัสการ์ ที่เด่นคือตัวลีเมอร์ จำกันได้ไหม? หรือ ตัวฟอสซา (fossa) สัตว์กินเนื้อ นกเฉพาะถิ่น 3 ตระกูล และต้นบาวบับ (baobab) อีก 6 ชนิด เรียกว่าของดีของเด่นมารวมกันไว้เยอะเลย
แต่ใครบ้างจะรู้ว่า มาดากัสการ์เพิ่งจะกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ต้องประสบกับภาวะอดอยากอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางตอนใต้ของประเทศ ตอนนี้ชาวเกาะรู้แล้วว่ามีอันตรายรออยู่ นอกจากความงามตามธรรมชาติของที่ดึงดูดใจใครต่อใคร เพื่อช่วยเหลือสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทต่างๆ เช่น Earth-Changers.com ก็ได้พยายามสร้างความตระหนักรู้ต่อเรื่องนี้ด้วยการขายทริปอาสาสมัครซะเลย
เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ติดอันดับด้วยชายหาดที่สวยงามและสถานะผู้บุกเบิกกระแสสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสุดๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่จุดหมายปลายทางแห่งใดแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียจะอยู่ในลิสต์ของสายกรีนโดยมีซานดิเอโกทางตอนใต้ของรัฐเป็นผู้นำ เมืองนี้มีแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ Climate Action Planและการจ้างงานด้านเทคโนโลยีสะอาด หรือ Clean Tech jobs ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยเกือบสองเท่า เมืองนี้ยังมีแผนขยะเป็นศูนย์ (zero waste plan) แบบเอาจริงเอาจังจนสามารถอวดชาวโลกได้ แผนดังกล่าวเรียกร้องให้มีการหมุนเวียนขยะ(waste diversion) ทั้งหมดภายในปี 2583 ยิ่งกว่านั้นซานดิเอโกกำลังอยู่ในจุดสูงสุดของการใช้พลังงานหมุนเวียน100% ทั้งเมืองจ้า เขียวปี๋จริงๆ
เกาะหมาก จังหวัดตราด ประเทศไทย
ส่วนประเทศไทยของเราก็ไม่น้อยหน้า เราก็มีชุมชนสีเขียว แม้ยังไม่เขียวในระดับโครงสร้างแต่ก็มีต้นแบบสายเขียวที่อวดชาวโลกได้นั่นก็คือ "เกาะหมาก" ที่เราได้ยินชื่อมานาน
เกาะหมาก มีพื้นที่ทั้งหมด 9,500 ไร่ ถือเป็นเกาะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจังหวัดตราด รองจากเกาะช้าง และเกาะกูด เกาะหมากเคยได้รับการยกย่องจากนิตยสาร เดอะ ซันเดย์ ไทม์ (The Sunday Times Magazine) ให้เป็นชายหาดลึกลับที่แสนงามของโลกใบนี้ ไม่น่าแปลกใจเลยที่สถานที่นี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวซึ่งชื่นชอบธรรมชาติอันสวยงามและความสงบจะหลั่งไหลเข้ามาบนเกาะไม่น้อย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
“ธรรมนูญเกาะหมาก” จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างเกาะหมากให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่ดำรงอยู่และเติบโตอย่างไม่ทำร้ายตัวเอง ด้วยแนวคิดสำคัญ คือ “เกาะหมากโลว์คาร์บอน”
เกาะหมาก ได้รับการเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565 ถือเป็นเกาะต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยในด้านความปลอดภัย และด้านการจัดการขยะ และถือว่าทำสำเร็จก่อนเป้าหมาย โดยได้รับรางวัลดังกล่าวในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวไทยที่ได้รับการคัดเลือกในปี 2565 ซึ่งจัดโดย Green Destinations Foundation ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่
1.เกาะหมาก จังหวัดตราด ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination) แห่งแรกของไทย
2.บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
3.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จังหวัดชัยนาท
พร้อมเที่ยวแบบเขียวๆ กันหรือยังลุยกันเลย!