posttoday

สังเกตพฤติกรรมผู้สูงวัย ‘โรคสะสมของ’ ระดับไหนต้องได้รับการเยียวยา

14 ตุลาคม 2566

ของรก สะสมของที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ เป็นพฤติกรรมที่คนใกล้ตัว หรือแม้แต่ผู้สูงวัยเองต้องสังเกต เพราะนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โรคสะสมของ’ ซึ่งสามารถพัฒนาตามระดับจนก่อให้เกิดอัตรายต่อตัวเองและบุคคลรอบข้างได้

มีผลวิจัยระบุว่ายิ่งอายุมากขึ้น ผู้สูงวัยจะยิ่งมีพฤติกรรมเก็บสะสมของมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จะมีพฤติกรรมสะสมของมากขึ้นกว่า 6.2 เปอร์เซนต์

 

การแยกแยะระหว่างคนที่มัธยัสถ์ และใช้สิ่งของให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับพฤติกรรมสะสมของนั้นสามารถแยกได้ง่ายๆคือ

 

‘หากมีการเก็บสะสมของที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ปริมาณมาก’

 

นั่นคือสิ่งบ่งชี้ของพฤติกรรมที่ผิดปกติ หรือหากการทิ้งของบางอย่างสามารถสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจที่มากเกินไป นั่นก็เป็นสัญญาณว่าผิดปกติเช่นกัน

 

ปัญหาของ ‘โรคสะสมของ’ ไม่ได้กระทบต่อสุขภาพจิตเท่านั้นแต่ยังสามารถก่อให้เกิดผลเสียด้านสุขอนามัยอื่นๆ รวมไปถึงปัญหาความสัมพันธ์ของคนที่บ้าน ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนไปถึงอุบัติเหตุอย่างที่ไม่อาจคาดคิดได้

 

สังเกตพฤติกรรมผู้สูงวัย  ‘โรคสะสมของ’ ระดับไหนต้องได้รับการเยียวยา

 

ทำไมการกักตุนของถึงแย่ลงในวัยสูงอายุ?

 

พฤติกรรมดังกล่าวจะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้นในวัยสูงอายุ  แม้จะไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนมากนั้น แต่สามารถคาดเดาได้ว่า สาเหตุนั้นเกิดจากความซับซ้อนทางอารมณ์บางประการ เช่น ผู้สูงวัยมักจะนำการกักตุนของมาเป็นเครื่องมือในการรับมือกับความรู้สึกบางอย่าง โดยเฉพาะความรู้สึกที่นึกถึงเรื่องราวในอดีต  บางคนอยากจะสะสมของเพราะรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ตนเองควบคุมได้ ไม่เหมือนวัยหรือสังขารที่ร่วงโรยหรือปัญหาในบ้านอื่นๆ ที่บางครั้งผู้สูงวัยก็ถูกกีดกันออกจากการร่วมตัดสินใจ รวมไปถึงสามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้

 

โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมแยกตัวออกไปจากสังคม ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมการสะสมของที่มากขึ้นด้วย เพราะของบางอย่างสามารถเชื่อมโยงตัวผู้สูงอายุกับสภาพแวดล้อมหรือบางสิ่งบางอย่างข้างนอก ในช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกเหงาได้ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือภาวะซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ก็มีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมสะสมของมากขึ้นด้วย

 

สังเกตพฤติกรรมผู้สูงวัย  ‘โรคสะสมของ’ ระดับไหนต้องได้รับการเยียวยา

 

5 ระดับความรุนแรงของพฤติกรรมสะสมของ

 

โรคสะสมของถูกแบ่งความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับด้วยกัน มีรายละเอียดและจุดสังเกตดังนี้

   1.  ระดับที่วางของเกะกะ  คือระดับน้อยที่สุดของโรค หมายถึงอาจจะยังไม่มีความเสี่ยงที่จะสะสมของ แต่บ้านไม่เป็นระเบียบ ค่อนข้างไม่ถูกสุขลักษณะในบางเรื่อง แต่เจ้าของบ้านหรือผู้สูงอายุรับรู้และยังคงดูแลอย่างสม่ำเสมอ โดยบ้านที่มีสุขลักษณะที่ดีนั้นต้องดูตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ  สามารถใช้บันได ประตูและหน้าต่างได้ทั้งหมด ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีการระบายอากาศที่เพียงพอ สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ๆเหมาะสม และไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

 

    2.  เสี่ยงต่อการเป็นโรคสะสมของ  พฤติกรรมในระยะนี้คือ ทางออกมีของวางขวางไปหมด มีอุจจาระและเส้นขนของสัตว์เลี้ยงตามบางส่วนของบ้าน มีปัญหากับระบบไฟฟ้าและประปา หรือมีจุดขยะล้น จานสกปรก มีเชื้อราเติบโตในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องได้รับการทำความสะอาดเพื่อให้บ้านมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น

 

    3.  เกิดความผิดปกติอย่างชัดเจน  แม้จะเห็นว่าขั้นที่ 2 ก็ดูสร้างปัญหาให้แก่สุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยแล้ว แต่ถ้าหากยังไม่แก้ไข ก็สามารถมีแนวโน้มที่จะผิดปกติได้มากขึ้นไปอีก โดยในระยะสามนี้จะเห็นถึงการกักตุนอย่างเด่นชัด  มีแมลง มด แมลงสาบ หรือเหาอยู่ตามบ้าน กองสิ่งของเริ่มเข้ามารุกล้ำพื้นที่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการพัง เกิดการรั่วหรือแตกหักของสิ่งของภายในบ้าน หรือมีห้องหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมัน  ซึ่งการแก้ไขนั้นคือ เจ้าของบ้านหรือผู้สูงวัยควรได้รับการปรึกษากับแพทย์ได้แล้วในขั้นนี้

 

     4.  ระยะของการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน   ระยะนี้การสะสมของอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างของบ้าน มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงและขยะที่มากเกินไป และมีสิ่งของกีดขวางทางเข้าออก รวมไปถึงอาหารเปื่อยและเน่าคาจาน มีกลิ่นจากจุดบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องได้รับการทำความสะอาด ควบคู่กับการปรึกษาทางด้านนักจิตวิทยาโดยด่วน เพราะหากผู้สูงอายุมีพฤติกรรมถึงระยะนี้จะมีความรู้สึกไม่สบายใจหากมีคนบอกให้ทิ้งทรัพย์สินของตน

 

     5. โรคสะสมของอย่างรุนแรง  ระยะนี้คือการสะสมของส่งผลต่อด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสุขอนามัยได้เช่น กักตุนของมากเกินไปจนกระทบกับความสัมพันธ์ บางคนทำให้เกิดการหย่าร้าง หรือขับไล่ออกจากบ้าน ระยะนี้จะมีสภาพบ้านที่ไม่สามารถอยู่ได้ และสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงดูก็อาจจะตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกับผู้อยู่อาศัย เพราะเชื้อรา โรคที่มาจากความสกปรกต่างๆ โครงสร้างบ้านที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น

 

วิธีการช่วยเหลือผู้สูงอายุให้หลุดพ้นจาก ‘โรคสะสมของ’

 

เมื่อเข้าสู่ภาวะโรคสะสมของ สิ่งที่ต้องทำคือไปพบกับจิตแพทย์ เพื่อใช้วิธีการบำบัดทางจิตเข้าช่วยเหลือ นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมหรือครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

 

สิ่งสำคัญคือต้องรอให้ผู้สูงอายุเปิดใจรับการช่วยเหลือ จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนของการทำความสะอาดและนำบ้านให้กลับมาน่าอยู่ดังเดิมซึ่งควรจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย  โดยที่ต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึง อย่าทำความสะอาดห้องนอนเป็นลำดับแรก เพราะห้องนอนถือเป็นพื้นที่ที่ยากที่สุด เพราะมีความสำคัญมากที่สุด ควรจะเริ่มจากห้องครัวหรือห้องน้ำก่อนตามหลักงานวิจัย นอกจากนี้การเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ ก็จะทำให้ผู้สูงวัยไม่เครียดจนเกินไป และในกระบวนการทำความสะอาดจะต้องให้ผู้สูงวัยเป็นผู้ตัดสินเองในทุกขั้นตอน ผู้ที่ช่วยเหลือเป็นเพียงผู้โน้มน้าวเท่านั้น เพื่อให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เสมือนเป็นการบำบัดรักษาอย่างหนึ่งด้วย