กำจัดขยะสุดคูลด้วยหนอนแมลงวันลาย (BSF) บนเกาะสีชังแบบ “Food Loss Food Waste”
รู้จักวิธีการกำจัดขยะในชุมชนด้วยหนอน BSF ที่แรกในไทยบนเกาะสีชัง และกิจการ “Food Loss Food Waste” เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้มีมูลค่า ด้วยธุรกิจที่ต่อยอดการจัดการขยะในชุมชนมาสู่การพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ ในค่าย “Power Green” ครั้งที่ 18
ขยะ หรือ Waste เป็นหัวใจของแทบทุกกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในโลกนี้ เพราะขยะเป็นสิ่งใกล้ตัวเราที่สุด มนุษย์หนึ่งคนในทุกวินาทีผลิตขยะได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการส่งมันออกจากตัวเองสู่สภาพแวดล้อม หลายคนคิดว่า “ถังขยะ” อาจคือปลายทางของขยะทุกชิ้นบนโลก เมื่อทิ้งมันลงในนั้นก็จบ แต่ความจริง วงจรของขยะยังไปไกลกว่านั้น….
ในปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 25.70 ล้านตันต่อปีของประเทศไทยเมื่อปี 2565 เป็นขยะที่เกิดจากเศษอาหารถึง 60% มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 8.80 ล้านตัน เกิดคำถามว่า มีวิธีอะไรที่กำจัดขยะจากเศษอาหารได้บ้าง นอกจากการฝังกลบในหลุมขยะและการเผา และยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก
ปีนี้ ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “Power Green Camp” โดย บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นปีที่ 18 แล้วถ้าเทียบเป็นคนก็กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานที่สำแดงพลังด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ค่ายเยาวชนจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะ “สร้างคน” ที่จะเป็นขุมพลังด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป สอดคล้องกับธีม CSR “การพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพคน”
แนวคิดแกนหลักในปีนี้ก็คือเรื่องของ "ขยะ" ในหัวข้อ “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 21 ตุลาคม 2566 ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ได้นำเสนอผลงานของ วิสาหกิจเพื่อสังคม "เบตเทอร์ฟลาย" (Batterfly) และผู้ประกอบการ “Food Loss Food Waste” กิจการที่เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้มีมูลค่า ด้วยการนำเสนอธุรกิจที่ต่อยอดการจัดการขยะในชุมชนมาสู่การพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ มาร่วมให้ความรู้กับเยาวชนทั้ง 50 คนที่คัดเลือกมาจากทั่วประเทศ ในเรื่องการกำจัดขยะบนเกาะสีชัง
รู้จัก Betterfly & Food Loss Food Waste
กิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม "Food Loss Food Waste" และ “เบตเทอร์ฟลาย” (Betterfly) เลือกใช้วิธีจัดการขยะจากเศษอาหารด้วยการใช้หนอน ชนิดที่เรียกว่า “Black Soldier Fly” ชื่อย่อว่า "BSF" ชื่อไทยว่า “หนอนแมลงวันลาย” มาเป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปุ๋ย ที่ได้จากมูลหนอน BSF และ อาหารสัตว์ (แมลงตัวเต็มไวจากหนอน) เป้าหมายคือ เพื่อลดการฝังกลบและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในชุมชน
เริ่มดำเนินการในพื้นที่เกาะสีชังเป็นที่แรก และเป็นโครงการแรกของประเทศที่ใช้หนอน BSF มาจัดการขยะอินทรีย์ชุมชน โดยที่คนในชุมชนสามารถนำเศษอาหารเหลือทิ้ง เช่น เปลือกผลไม้ เศษผัก เศษอาหารทะเล และอาหารเหลือทิ้งอื่นๆ มามอบให้ที่โรงเรือนนวัตกรรมสร้างคุณค่า Organic Waste ได้ทุกวัน โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันสามารถจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชนเกาะสีชังไปแล้วเกือบ 7,000 กิโลกรัม
แม้จะเป็นสัดส่วนไม่มากหากเทียบกับปริมาณขยะระดับตันที่ผลิตออกมาในแต่ละวัน แต่ก็เป็นวิธีที่รักษ์โลกมากที่สุดวิธีหนึ่งในวงจรการกำจัดขยะอินทรีย์ และยังสามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อีก
คุณตฤณ รุจิรวณิช ผู้ก่อตั้ง Food Loss Food Waste Thailand ได้เล่าถึงโครงการต่อไปในอนาคตว่า มีความตั้งใจจะขยายสเกลการกำจัดขยะเศษอาหารด้วยหนอน BSF ไปสู่ระดับ Commercial Scale และ Industrial Scale ต่อไปหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นอกจากพื้นที่บนเกาะสีชัง "Betterfly" ก็ได้เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงหนอน BSF ให้กับชุมชนบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ในการแยกขยะอินทรีย์และนำขยะอินทรีย์ที่ได้มาเป็นอาหารหนอน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านผลไม้ โรงแรม และประชาชนในพื้นที่
คุณตฤณ เล่าว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม Betterfly เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อธันวาคม พ.ศ.2565 เปิดดำเนินการจริงจังเมื่อกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม Food Loss Food Waste Thailand (บริษัทแคนนาฟลาวเวอร์ จำกัด) และบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ
1. เพื่อลดขยะอินทรีย์ไปที่หลุมฝังกลบบนเกาะสีชังลดจำนวนแมลงวันบ้าน ลดก๊าซมีเทน ลดการเผา
2. เพื่อการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์กลับมาใช้ในการเกษตร
3. สามารถแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะอื่นๆ เพื่อลดขยะทั่วไปและนำขยะรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 กล่าวว่า
“ปัญหาขยะในประเทศไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกระยะของวงจรชีวิตของขยะทุกประเภท ดังตัวอย่างที่สำคัญคือ ปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ค่ายเพาเวอร์กรีนจึงเลือกโฟกัสกับประเด็นการจัดการปัญหาขยะและการส่งเสริมให้เยาวชนก้าวเข้ามาเป็นกรีนอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อขยายกำลังคนที่สามารถช่วยสื่อสารความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง มีความน่าสนใจและน่าติดตาม
เราเลือกออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาเรียนรู้ปัญหาขยะและแนวทางการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง พร้อมนำเอาองค์ความรู้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้ามาประยุกต์ใช้ให้หลากหลาย ครอบคลุม และเกิดประโยชน์กับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเรามุ่งหวังว่า เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนในครั้งนี้ จะได้สนุกไปกับประสบการณ์จากค่าย และเกิดแรงบันดาลใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”