ย้อนพัฒนาการ 7 ปี ‘รถไฟไทย’ เกิดอะไรขึ้นถึงกลับมาได้รับความนิยมเกรียวกราว
รถไฟไทยเปิดให้จองแล้วกับขบวนท่องเที่ยว ‘เส้นทางรถไฟลอยน้ำ’ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พร้อมใจกันจับจอง เป็นอีกการท่องเที่ยวหลักร้อย ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ .. แต่แค่นั้นหรือที่ทำให้รถไฟไทยได้รับ ‘มิตรภาพ’ ดีๆ กลับมาจากคนไทยอีกครั้ง
รถไฟไทย ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อนก็มักจะได้ยินเสียงบ่นจากประชาชนหลายส่วน ถึงภาพลักษณ์ที่โบร่ำโบราณเสียหน่อย แต่ไม่กี่ปีให้หลังเราได้เห็นพัฒนาการของ ‘รถไฟไทย’ ที่กลับมาได้รับความนิยมอย่างพลิกฝ่ามือ และได้รับเสียงตอบรับที่ดี แม้แต่กระทั่งคนรุ่นใหม่ โพสต์ทูเดย์จึงขอย้อนกลับไปตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับ ‘รถไฟไทย’ ในวันนี้
ปีแห่งการปฏิวัติโฉมใหม่รถไฟไทย
14 กรกฎาคม ปี 2559
หากใครติดตามข่าวมาตลอด ก็น่าจะพอเห็นว่าในปี 2559 นั้นมีการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ เรียกเสียงฮือฮาว่า ‘รถไฟไทย’ มีแบบนี้ด้วยเหรอ? สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทยก็คงคิดเช่นเดียวกันบ้าง เพราะในรายงานสรุปปลายปีในปี 2559 ของทางองค์กรได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็น ‘ปีแห่งการปฏิวัติโฉมใหม่รถไฟไทย’
โดยทางการรถไฟฯ ได้เปิดตัวรถไฟใหม่จำนวน 115 คัน ที่เน้นความสะดวกสบายและความปลอดภัย ปรับรูปโฉมให้ทันสมัยมากขึ้น อาทิ ตู้ใหม่กับกระจกบานกว้างเห็นวิวทิวทัศน์ชัดเจน เบาะนอนที่สะอาดใหม่ กว้างขึ้น แถมมีปลั๊กไฟและโคมไฟอ่านหนังสือให้ทุกจุดที่นั่ง รวมไปถึงห้องน้ำในโบกี้ที่ก็ดีไม่ต่างจากบนเครื่องบิน มีอ่างล้างหน้าแปรงฟันให้อีกต่างหาก แถมยังมีที่เก็บสัมภาระอย่างชัดเจน นอกจากนี้ตามโบกี้ยังมีหน้าจอบอกว่ากำลังเดินทางถึงบริเวณไหนคอยแจ้ง รวมไปถึงบริการอาหาร ที่ตอนนี้ต้องขอบอกว่ามีการยกระดับ เพราะโบกี้เสบียงก็น่านั่งแถมยังมีอาหารเมนูเซ็ตน่าทานเยอะแยะ แต่อาจจะติดที่ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถไฟแบบเก่า หรือใครไม่สะดวกจะติดอาหารไปกินบนรถไฟก็ไม่มีใครว่า แค่อย่ารบกวนคนอื่นเป็นพอ แถมยังมีตู้แยกสำหรับตู้สตรีอย่างชัดเจน ผู้หญิงเดินทางคนเดียวก็สบายใจ
โดยรถไฟตู้ใหม่นี้ประกอบด้วย 4 เส้นทางคือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-อุบลราชธานี กรุงเทพ-หนองคาย และกรุงเทพ-หาดใหญ่ .. ซึ่งทุกวันนี้มีแต่เสียงบ่น ไม่ใช่ที่บริการแต่ ถูกจองเต็มเร็วโดยเฉพาะช่วงเทศกาล!
จากการปรับโฉมรถไฟเส้นทางหลักครั้งนี้เอง ที่เรียกคนให้มาใช้บริการรถไฟกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยติดว่าต้องเดินทางทั้งคืน แต่ที่นอนก็นอนไม่หลับ ปวดหลัง หรือใดๆ ก็ตาม ... เมื่อขจัดปัญหานี้ไปได้ การเดินทางด้วยรถไฟ ที่มีข้อดีคือผ่านสถานีในตัวอำเภอต่างๆ มากกว่าการเดินทางโดยวิธีแบบอื่น โดยที่คนในอำเภอนั้นๆ แทบไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้าไปในเมืองอีกเป็นหลายร้อย หลายสิบกิโล จึงสะดวกสบายดี แถมยังได้นอนพักบ้างตลอดคืนก็ทำได้แล้ว คนจึงไม่ได้มีอคติกับการเดินทางด้วยรถไฟอีกต่อไป รวมถึงคนที่อาจจะกลัวกับการเดินทางโดยเครื่องบิน คนที่ไม่อยากนั่งหลังตรงตลอดเวลาของการเดินทาง รถไฟจึงตัวเลือกที่กลับมาในความคิดของคนไทยอีกครั้ง
ระบบการจองแบบออนไลน์เต็มระบบ
ในปี 2560 จากเดิมที่เป็นหน้าเว็ปไซต์สไตล์ราชการ ที่ใช้งานยากและไม่เป็นมิตรต่อการเข้าถึงเท่าไหร่นัก สู่การพัฒนาเว็ปไซต์ที่แสดงผลในรูปแบบของ Responsive Web Design จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาระบบ D-Ticket หรือการจองตั๋วรถไฟออนไลน์ ที่ต้องเข้าไปจองในเว็ปไซต์ ในปี 2563 ก่อนจะเปิดให้ใช้งานได้จริงในปี 2564 ซึ่งสามารถให้ผู้โดยสารเข้าไปสำรองที่นั่งได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังไม่ต้องออกตั๋วรถไฟแบบกระดาษแต่สามารถแสดงหลักฐานจากหน้าจอมือถือได้โดยตรง อีกทั้งยังสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด หรือไปชำระเงินได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง โดยรหัสชำระเงินจะมีอายุ 24 ชั่วโมง
ต่อมาในปี 2565 ระบบการจองตั๋วรถไฟได้อัพเกรดเป็น SRT D-Ticket ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นจองตั๋วรถไฟออนไลน์ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปมาไว้ในมือถือเท่านั้น โดยการชำระเงินยังคงเป็นการชำระเงินผ่านทางบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ส่วนตั๋วจะส่งผ่านอีเมล ทำให้การเข้าถึงง่าย สะดวก และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ใน SRT-DTicket ยังสามารถจองรถไฟขบวนท่องเที่ยวในราคาหลักร้อยได้อีกด้วย
รถไฟท่องเที่ยว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ดึงภาพลักษณ์รถไฟ เที่ยวอย่างเป็นมิตร
บริการรถไฟนำเที่ยวของการรถไฟฯ มีหลายเส้นทางตลอดปี ทั้งแบบที่เป็นทริปการเดินทาง และเป็นการเดินทางที่สามารถทำได้ทุกสัปดาห์
สำหรับทริปการเดินทาง หากเป็นทริปยอดนิยม ก็คงหนีไม่พ้น ขบวนรถไฟลอยน้ำ หรือรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ฮอตฮิตมาก เพราะได้นั่งรถไฟผ่านรางรถไฟที่ทอดตัวเหนือน้ำ เปิดให้บริการแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 รวม 24 วัน โดยผู้ที่จองหากเลือกการนั่งแบบรถไฟปรับอากาศ จะสามารถได้มีโอกาสนั่งรถไฟตู้พิเศษ OTOP TRAIN ซึ่งเป็นรถไฟตู้พิเศษที่ถูกตกแต่งให้มีความสวยงาม ทันสมัย สะดวกสบาย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ
หรือจะเป็นเส้นทางนำเที่ยวด้วยรถจักรไอน้ำตามเทศกาลสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง กรุงเทพ-อยุธยา ที่จะเปิดให้จองอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ หรือในโอกาสต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ของไทย อีกทั้งยังเป็นการระลึกถึงการเดินรถไฟปฐมฤกษ์จากกรุงเทพ ไปยังอยุธยาเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งเส้นทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งใกล้ๆ นี้ก็จะเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ก็เป็นอีกเส้นทางการท่องเที่ยวที่น่าไปไม่แพ้กัน
ล่าสุดในปี 2566 หลังจากที่ รฟท.ได้เปิดตัว KIHA 183 ซึ่งเป็นรถไฟที่ได้รับการปรับปรุงจำนวน 17 คันโดยได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company ประเทศญี่ปุ่น เป็นรถที่ผลิตในปี 2525 และได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ในปี 2535 โดยทางประเทศญี่ปุ่นได้ทำการปลดระวางและส่งมอบให้กับการรถไฟฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปี 2560 ซึ่งทางรถไฟรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนย้าย และกลับมาปรับปรุงฟื้นฟูสภาพรถโดยช่างฝีมือภายในโรงงานมักกะสัน โดยมีการปรับขนาดความกว้างของล้อ เพื่อให้เหมาะสมกับรางรถไฟในประเทศไทย ฟื้นฟูระบบปรับอากาศ ทำความสะอาดภายในรถและดัดแปลงโคมไฟส่องทาง ซึ่งได้มีการทดลองใช้หลังการปรับปรุงในปี 2565 ก่อนที่จะนำมาเปิดเป็นเส้นทางรถไฟท่องเที่ยว จนใครๆ ก็อยากจะนั่งเจ้ารถไฟหน้าตาญี่ปุ่นขบวนนี้ ... สำหรับในปีนี้ในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 KIHA 183 มีแพลนจะพาเที่ยวทั้งเส้นทางฉะเชิงเทรา , ปราจีนบุรี , ชลบุรี , มวกเหล็ก , อยุธยา ซึ่งจะมีทั้งทริปไปเช้าเย็นกลับ หรือไปค้างคืนได้อีกด้วย
นอกจากนี้การรถไฟฯ ยังมีรถไฟแบบเช่าเหมาคันอย่าง SRT Prestige รถหรูสุดพรีเมียม ลุคฮอลลีวูด ที่จะให้บริการแบบเช่าเหมาเท่านั้น สำหรับใครอยากจะเช่าเหมาเดินทางไปไหน หรือเช่าเหมาสำหรับการประชุมก็ทำได้เช่นกัน
ส่วนเส้นทางท่องเที่ยวประจำสัปดาห์ การรถไฟฯก็ยังคงให้บริการอยู่ตลอด สำหรับเส้นทางที่น่าสนใจ เช่น เส้นทางไปพัทยา ตลาดน้ำสี่ภาค สวนนงนุช เส้นทางตลาดร่มหุบ จังหวัดสมุทรสงคราม เส้นทางเมืองราชบุรี และเส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี
ระบบรางรถไฟที่ดีที่สุดในอาเซียน
เป็นเรื่องน่าประทับใจที่ประเทศญี่ปุ่น สามารถใช้การเดินทางโดยรถไฟเป็นการเดินทางหลัก และเป็นการเดินทางที่เป็นมิตรและยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว แล้วประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่?
ในปี 2563 การรถไฟฯ ได้เริ่มมีนโยบายหนึ่งที่น่าสนใจคือการยกระดับให้ ระบบรางรถไฟไทยเป็นระบบรางรถไฟที่ดีที่สุดในอาเซียน ตั้งเป้าไว้ในปี 2570 เมื่อพิจารณาจากโครงการต่างๆ ก็จะพบว่าการรถไฟฯ พยายามที่จะเชื่อมต่อการเดินทางในเส้นทางต่างๆ ผ่านระบบรางรถไฟของตัวเองมาโดยตลอด
ไม่ว่าจะเป็นในปี 2564 ที่ได้พัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าระบบชานเมืองเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานครในสายสีแดง ที่ให้บริการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนมีแผนงานที่จะขยายไปสู่พื้นที่ต่อเนื่องคือฉะเชิงเทรา อยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร เพื่อให้ผู้โดยสารที่อยู่ในแถบชานเมืองเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในปี 2566 ก็ได้มีการเปิดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อดึงให้การเดินทางของขบวนรถไฟต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟสายเหนือ ใต้ ออก ตก ที่เดินทางออกต่างจังหวัด เชื่อมต่อกับรถไฟเขตชานเมือง และรถไฟฟ้ามหานครเพื่อเดินทางต่อยังกรุงเทพมหานคร ก็สามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ไม่นับกับโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมรถไฟทางคู่ ที่จะรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าคือทางรถไฟ และรองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์อย่าง ‘โครงการรถไฟความเร็วสูง’ ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหากดำเนินการเสร็จ โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งที่เชื่อมโยงตลาดการค้าในแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมไปถึงการเดินทางที่สะดวกสบายของประชาชนมากขึ้น ซึ่งในปี 2570 เราจะได้เห็นรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ - นครราชสีมา เปิดใช้งานเป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางเหลือเพียง 90 นาทีเท่านั้น!!
ยังไม่นับรวม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ซึ่งจะช่วยเชื่อมการเดินทางของท่าอากาศยานต่างๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
อีกทั้งยังเห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินนโยบาย EV on train โดยมีการพัฒนารถต้นแบบคันแรกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า เป็นความร่วมมือระหว่าง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” กับ “สจล.-สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” และ “EA-บริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน)” เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทดสอบแล้วสามารถวิ่งได้ระยะทาง 150-200 กิโลเมตร และสามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้กว่า 40% ซึ่งน่าจะมีแผนการใช้งานในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้เห็นพัฒนาการ และการเติบโตของการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ดึงดูดและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์รุ่นใหม่ รวมไปถึงนโยบายที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการวางรากฐานทางการคมนาคมขนส่งของประเทศ ... ยังมีอีกสิ่งหนึ่งในฐานะที่เป็นผู้ใช้งานมองว่าเป็นสิ่งที่ดีและควรแก่การรักษา คือ รถไฟไทยยังเป็นการเดินทางที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ทุกฐานะทางเศรษฐกิจในสังคมได้ ไม่ว่าจะจนหรือรวย ก็สามารถเลือกใช้บริการของการรถไฟฯ มีส่วนลดให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการ และอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน ซึ่งไม่อยากให้สิ่งนี้ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่รัดโยงให้คนไทยผูกพันกับการรถไฟที่บริการ ในแบบที่การเดินทางอื่นมีไม่เท่า หายไปจากสังคม.