posttoday

ความกตัญญู เป็นมงคล : Moral Quotient

25 มกราคม 2553

คนกตัญญูย่อมได้รับความเจริญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ย่อมได้รับการสรรเสริญจากผู้รู้ มีชื่อเสียงงดงามและเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ....  

คนกตัญญูย่อมได้รับความเจริญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ย่อมได้รับการสรรเสริญจากผู้รู้ มีชื่อเสียงงดงามและเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ....  

โดย...คุณสลิล

ท่านผู้อ่านที่เคารพ หลายอาทิตย์แล้วที่ MQ นำเรื่องของมงคลคาถาที่ 7 ในมงคล 38 มาคุยกัน วันอาทิตย์นี้ก็ถึงมงคลสูงสุดข้อที่ 24 คือ ความกตัญญู เรียกเป็นภาษาบาลีว่า กตญฺญุตา

ความกตัญญูนั้น หมายถึง ความเป็นผู้รู้คุณท่านผู้มีคุณแก่ตน เมื่อจะกล่าวโดยบุคคลแล้ว ผู้ที่มีบุญคุณแก่เรา ก็ไม่พ้น มารดา บิดา ครู อาจารย์ เป็นต้น ตลอดจนถึงผู้ที่สงเคราะห์เราด้วยการช่วยเหลือ ด้วยการให้ข้าวให้น้ำ ให้ที่อยู่อาศัย ให้วิชาความรู้ และให้ความสุขสบายต่างๆ บุคคลผู้ที่ทำคุณแก่เราก่อน บุคคลเหล่านี้จึงมีชื่อเรียกว่า “บุพการี”

ทั้งผู้ที่เป็นบุพการีและผู้ที่มีความกตัญญูนั้น นับว่าเป็นผู้หาได้ยาก เป็นการปฏิบัติต่อกันของคนดี วิธีหนึ่งที่ทำให้รู้ได้ว่าผู้ใดผู้หนึ่งเป็นคนดีหรือไม่ ก็คือดูว่าเขามีความ “กตัญญู” คือ รู้คุณคนไหม เพราะความกตัญญูนั้นนับว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี

ผู้ที่มีจิตปกติเป็นไปในบุญกุศล นอกจากจะรู้คุณคนแล้ว เขาก็มักจะกระทำดีตอบแทนด้วย ผู้ที่กระทำตอบแทนคุณ เรียกว่าเป็นผู้มี “กตเวที” ซึ่งจะแสดงออกทางกายบ้างทางวาจาบ้าง ไม่เฉพาะรู้คุณอยู่แต่ในใจอย่างเดียว ตรงข้ามกับผู้ที่มักมีจิตใจชั่วหยาบ ซึ่งแม้ผู้อื่นจะทำคุณความดีต่อตนก็ยังเฉยๆ อย่าว่าแต่จะกระทำดีตอบแทนคุณเลย เขาไม่แม้แต่จะคิดขอบคุณ จิตใจไม่ได้ระลึกถึงบุญคุณ ไม่มีความกตัญญู และซ้ำร้ายบางคนกลับสามารถคิดร้าย คือ เนรคุณต่อบุพการีเสียอีก

นอกจากการกตัญญูต่อบุคคล มีพ่อแม่ เป็นต้นแล้ว เรื่องของความกตัญญูนั้นยังมีว่าโดยธรรม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และบุญกุศล ก็เป็นบุพการี ผู้มีบุญคุณก่อนแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะสัตว์ที่ได้มาเกิดในภพภูมิที่ดี เช่น ได้มาเป็นมนุษย์ เป็นต้น ผู้ใดรู้คุณ พระรัตนตรัย รู้คุณความดี และกระทำคุณงามความดีให้ยิ่งขึ้นๆ มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เชื่อในการทำความดีปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ย่อมได้ดี ส่วนผู้ที่ไม่รู้คุณเมื่อได้อัตภาพที่ดีมาแล้วก็ประมาท กลับไปประพฤติชั่ว ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เขาย่อมมัวเมา ย่อมนำไปสู่ความเสื่อม

คนกตัญญูย่อมได้รับความเจริญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ย่อมได้รับการสรรเสริญจากผู้รู้ มีชื่อเสียงงดงามและเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ ซึ่งตัวอย่างก็มีมากมาย คงไม่ต้องยกมาประกอบในที่นี้

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่อกตัญญู ผู้ที่เนรคุณต่อบุพการี คือ ผู้ที่ทำคุณแก่ตนก่อน ก็มีโทษ เป็นทางแห่งความเสื่อมทั้งในภพนี้และภพหน้า โดยที่สุดมีการถูกแผ่นดินสูบบ้าง ตกนรกบ้าง ตัวอย่างมีไม่ใช่น้อยที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แม้ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยโดยเฉพาะในโลกที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดมีขึ้นบ่อยๆ มีความน่ากลัวไม่แพ้กัน ใครคิดจะทำความชั่วควรกลัวไว้บ้าง

มงคลในคาถาที่ 7 นี้ ประกอบด้วย 5 มงคลด้วยกัน ซึ่งแม้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้จะกล่าวไปแล้วเพียง 4 มงคล คือ ความเคารพ ความถ่อมตัว ความสันโดษ และความกตัญญู ก็จะเห็นว่าแต่ละมงคลล้วนนำไปสู่ความสุขความเจริญทั้งนั้น แม้ปฏิบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่งให้ดี ก็ยังเป็นมงคลสูงสุดแล้ว แต่หากผู้ใดมีคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อ ก็คงจะเป็นผู้ที่ดียิ่ง เป็นผู้น่าคบน่ารัก และน่าชื่นชมสรรเสริญ

สำหรับอาทิตย์หน้า MQ จะกล่าวถึงมงคลสุดท้ายในคาถานี้ ซึ่งก็คือ เรื่องของการฟังธรรมตามกาล มาคุยกันต่อ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นอิงหลักธรรมะ ท่านสามารถส่งคำถามหรือข้อติชม ทาง e-mail มาได้ที่ [email protected]