ของกินจากป่าหลังบ้าน สู่หนังสือ ' อาหารบ้านฉัน '
สูตรอาหารแบบพื้นบ้าน ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ของ "ปวีณา พรหมเมตจิต" ที่ปรากฏในหนังสือ "อาหารบ้านฉัน" ย่อมจะแตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ....
สูตรอาหารแบบพื้นบ้าน ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ของ "ปวีณา พรหมเมตจิต" ที่ปรากฏในหนังสือ "อาหารบ้านฉัน" ย่อมจะแตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ....
โดย...พับพ์กิ้น_พาย
เรื่องอาหารการกินนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกชีวิต นอกจากจะทำให้อิ่มท้อง อาหารยังสะท้อนถึงวิถีความเป็นอยู่ของผู้คน แสดงถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นด้วยเช่นกัน ทำให้สูตรอาหารแบบพื้นบ้าน ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ของ "ปวีณา พรหมเมตจิต" ที่ปรากฏในหนังสือ "อาหารบ้านฉัน" ย่อมจะแตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ
เกิดและเติบโตมาที่บ้านแม่เหียะ บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ปวีณา ใช้ชีวิตในหมู่บ้านที่ยังมีสภาพเป็นชนบทอยู่มาก ด้วยไม่มีทั้งไฟฟ้า และน้ำประปาใช้ แต่พื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกเล็กๆ มีลำห้วยหลายสาย และมีของขวัญจากธรรมชาติที่กลายมาเป็นเครื่องปรุงอาหารสูตรเด็ดประจำท้องถิ่นหลากหลายเมนู
"ในแต่ละฤดูที่บ้านก็มีจะผักป่า ผักพื้นบ้าน ออกมาให้ได้เก็บไปรับประทานได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะฤดูฝน ซึ่งจะมีทั้งเห็ด หน่อไม้ ให้ได้เก็บกินกัน และก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านอย่างพวกเรานะคะ ที่ ไปหาอาหารจากป่าหลังบ้าน ซึ่งนอกจากชาวบ้าน แม่เหียะในแล้ว ก็ยังมีชาวบ้านจากที่อื่นๆ เข้ามาหาอาหารที่ป่านี้ด้วยเช่นกัน"
ปัจจุบัน ปวีณา ในวัย 19 ปี กำลังเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ด้วยความที่เธอชอบทำอาหาร เมื่อตอนเด็กๆ เข้าครัวช่วยแม่ทำกับข้าวเป็นประจำ จึงมีความคิดว่าอยากจะเป็นกุ๊กทำอาหารให้คนอื่นๆ ได้ชิมวันหนึ่งเมื่อเพื่อนจาก ต่างถิ่นได้มาลองชิมเมนูอาหารที่เธอทำ หลังจากได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อนคนนั้นจึงเชียร์ให้เธอรวบรวมสูตรอาหารต่างๆ ที่เคยกิน และเคยทำมาตั้งแต่เด็กเขียนเป็นหนังสือออกมา
"จริงๆ หนูก็ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลยค่ะ แต่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว อ่านได้ทุกๆ แนว และก็ชอบดูหนังสือเกี่ยวกับอาหารด้วยค่ะ พอมาเริ่มลงมือเขียนหนังสือ ก็จะได้พี่ที่เขามีประสบการณ์มาช่วยแนะนำในการวางโครงเรื่อง การเขียน การสื่อสารในเรื่องที่เราอยากเล่า ก็เลยทำให้เขียนออกมาได้ในที่สุดค่ะ"
ปวีณา
สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ปวีณา บอกว่า เกิดมาจากการที่เธออยากจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารพื้นบ้านของเธอ ที่นับวันก็จะหารับประทานได้ยากขึ้น
"เราอยากจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเล่าเล็กๆ ที่เกี่ยวกับอาหารพื้นบ้านของเรา ที่นับวันจะหากินยากขึ้น อยากให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าเราหาอยู่หากินกันอย่างไร อาหารที่เรากิน ผักพื้นบ้านที่ปลอดสารพิษมีประโยชน์อย่างไรบ้าง อยากบอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้านแม่เหียะในให้คนได้รับรู้ผ่านสูตรอาหารค่ะ
นอกจากนั้น ก็อยากจะบอกให้คนอ่านได้รู้ด้วยว่า อาหารการกินที่เรียบง่ายแบบชาวบ้านที่กินกันเป็นปกติ ที่บางคนอาจจะมองดูว่าเชย ไม่ทันสมัย มันมีเรื่องราวของมัน มีประโยชน์ของมัน เป็นมากกว่าอาหารค่ะ ส่วนเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สอดแทรกเข้าไป ก็เพื่ออธิบายเพิ่มเติม เพราะผักพื้นบ้านบางอย่าง เครื่องปรุงบางชนิด มันเป็นของเฉพาะถิ่น ก็เลยต้องบอกไว้ด้วย ทำให้ต้องเขียนเล่าเป็น เรื่องราวมากกว่าสูตรอาหารธรรมดาทั่วไปค่ะ และพอดีตัวหนูเองก็เรียนเกี่ยวกับอาหารอยู่แล้ว ก็เลยอยากรวบรวมสูตรอาหารเหล่านี้ไว้ด้วย เพราะกลัวอาหารเหล่านี้จะหายไป ซึ่งกว่าจะเป็นรูปเล่มแบบนี้ได้ก็ใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ ค่ะ"
ในหนังสือ "อาหารบ้านฉัน" รวบรวมสูตรอาหารต่างๆ เอาไว้ถึง 50 สูตร ซึ่ง ปวีณา บอกว่า แต่ละสูตรเป็นอาหารธรรมดาแบบบ้านๆ ที่ทุกคนที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือ จ.เชียงใหม่ คุ้นเคยกันอยู่แล้ว จึงไม่ยากเท่าไหร่ในการรวบรวมสูตรต่างๆ เอาไว้ แต่ก็ต้องมีการเข้าไปขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำจากแม่ จากคนในหมู่บ้านที่ทำกับข้าวอร่อยมาเพิ่มเติมด้วย
สำหรับเมนูโปรดของเธอนั้น ปวีณา บอกว่า "ก็แล้วแต่ว่าหน้าไหน ฤดูไหน มีอะไรออกมาให้กินบ้างค่ะ เป็นอาหารตามฤดูกาล อย่างหน้าหน่อไม้ ก็แกงหน่อไม้ ยำหน่อไม้ แต่หน้าเห็ดนี่ก็จะสนุกหน่อย เพราะจะมีเห็ดมากมายหลายชนิดออกมาให้ได้กินค่ะ แต่ที่ชอบเป็นพิเศษก็คือ ส้าปี๋ และส้ายอดมะขาม รสชาติจะออกเปรี้ยวๆ มีน้ำขลุกขลิกอร่อยดีค่ะ ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไงต้องหาหนังสือมาอ่านดูนะคะ"
จากการที่เธอคุ้นเคยกับอาหารที่เธอเรียกว่าแบบบ้านๆ นั้น เมื่อมีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่วัยรุ่นทั่วไปมองว่ากินแล้วเท่ เก๋ และอร่อยนั้น ปวีณา กลับเห็นตรงกันข้าม และบอกว่าอาหารบ้านเธอนั้นอร่อยกว่าเป็นไหนๆ
"อาหารฟาสต์ฟู้ดอาจจะทำได้เร็ว ดูง่าย แต่ที่จริงไม่ง่ายนะคะ หนูว่า เพราะมันต้องผ่านขั้นตอนที่เรามองไม่เห็นอีกมาก ทั้งอบขนมปัง เตรียมเนื้อ เตรียมผัก หนูว่าอาหารบ้านหนูทำง่ายกว่าค่ะ อร่อยกว่าด้วย อาจเป็นเพราะอาหารที่บ้านหนูมีหลากหลายอย่าง หลายรสชาติ เลยทำให้ไม่น่าเบื่อ และก็ทำง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ส่วนอาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นเมนูซ้ำๆ กันอย่างที่เห็น ทั้งพิซซา แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด ซึ่งหนูไม่ค่อยจะได้กิน เพราะแพง และโดยส่วนตัวหนูไม่ค่อยชอบอาหารทอดๆ น้ำมันเยอะ หรือประเภทแป้ง เพราะรู้สึกว่าเลี่ยนๆ ค่ะ
อาจเป็นเพราะว่าหนูเป็นคนที่ถูกเลี้ยงมาด้วยอาหารแบบชาวบ้านมาตั้งแต่เด็ก เลยถนัด และชินกับการกินแบบนี้ พอได้กินพวกฟาสต์ฟู้ดเลยไม่ค่อยชอบ อีกอย่างหนูมองว่าฟาสต์ฟู้ดเป็นเรื่องของแฟชั่น เรื่องความอยากทันสมัยมากกว่าค่ะ เห็นเพื่อนๆ กินพิซซา ไก่ทอด ก็ว่าอร่อยกันดี แต่พอได้กินส้มตำ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ก็ลืมพิซซา แฮมเบอร์เกอร์กันทุกคน (หัวเราะ)"
ส่วนผลงานเล่มต่อไปของเธอนั้น ปวีณา บอกว่า มีคิดๆ เอาไว้บ้าง เธออยากจะเล่าเรื่องราวความประทับใจของชีวิตในวัยเด็กที่เติบโตมาในหมู่บ้านแม่เหียะ ซึ่งเป็นประสบการณ์จริงที่เธอเคยผ่านมา และเรื่องราวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกเรื่องที่เธออยากจะเขียนคือ เรื่องของการเรียนทำอาหารที่เธอเรียนอยู่ว่า ได้เรียนอะไรบ้าง บรรยากาศเป็นอย่างไร รวมทั้งอยากจะเขียนสูตรอาหาร พร้อมสอดแทรกความรู้ เคล็ดลับในการปรุงอาหารที่ได้เรียนมา รวมทั้งเรื่องราวของเพื่อนๆ ร่วมชั้นด้วย
สำหรับคนที่อยากจะเขียนหนังสือแบบเธอบ้างนั้น ปวีณา บอกว่า "ต้องหาแรงบันดาลใจให้เจอก่อน และต้องบอกกับตัวเองให้ได้ว่าอยากจะเล่าเรื่องอะไรให้คนอื่นฟัง แล้วก็ต้องจดบันทึก ทดลองเขียน หรือปรึกษาพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ และที่สำคัญคือ ต้องเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือด้วยค่ะ"