วัดสัมพันธวงศ์แห่งเดียวในไทยที่มีพระอุโบสถสูง3ชั้น
ปูชนียสถานและถาวรวัตถุสำคัญยิ่งในวัดที่สูงและใหญ่ที่เห็นโดยทั่วไป ก็จะมีพระเจดีย์เท่านั้น ไม่มีที่ไหน และวัดใดในประเทศไทยที่มีพระอุโบสถทั้งกว้างใหญ่ยาว และสูงถึง 3 ชั้น เว้นแต่วัดสัมพันธวงศ์
ปูชนียสถานและถาวรวัตถุสำคัญยิ่งในวัดที่สูงและใหญ่ที่เห็นโดยทั่วไป ก็จะมีพระเจดีย์เท่านั้น ไม่มีที่ไหน และวัดใดในประเทศไทยที่มีพระอุโบสถทั้งกว้างใหญ่ยาว และสูงถึง 3 ชั้น เว้นแต่วัดสัมพันธวงศ์
โดย...มาน สุดโต
ปูชนียสถานและถาวรวัตถุสำคัญยิ่งในวัดที่สูงและใหญ่ที่เห็นโดยทั่วไป ก็จะมีพระเจดีย์เท่านั้น ไม่มีที่ไหน และวัดใดในประเทศไทยที่มีพระอุโบสถทั้งกว้างใหญ่ยาว และสูงถึง 3 ชั้น เว้นแต่วัดสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ที่ได้สร้างสิ่งนั้นไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 และยังไม่มีวัดอื่นทำได้ถึงปัจจุบัน
พระอุโบสถ 3 ชั้น มีลิฟต์ขึ้น-ลง มีความกว้าง 39 เมตร และยาว 57 เมตร ทรงไทยจตุรมุข สร้างมณฑปยอดปราสาทเป็นจุดสูงสุดอยู่ตรงกลางทำให้มองเห็นแต่ไกล เป็นแลนด์มาร์คของย่านไชน่าทาวน์
พระอุโบสถหลังใหม่สร้างแทนหลังเก่าที่ไม่สามารถบูรณะซ่อมแซมได้ตามเดิม ได้รวมสิ่งปลูกสร้างที่แยกกันมารวมไว้ในอาคารหลังเดียว แต่แบ่งประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันออกไป ชั้นบนสุดเป็นพระอุโบสถ ชั้นที่ 2 เป็นการเปรียญ และชั้นล่างใช้เป็นโรงเรียนก็ได้ ห้องสมุดก็ได้
ก่อนที่จะมีพระอุโบสถใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน เท้าความไปเมื่อปี พ.ศ. 2504 พระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ในครั้งนั้น ทำเรื่องคณะสงฆ์และรัฐบาลตามลำดับ ขอพระบรมราชานุญาตรื้อพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์เก่า พร้อมกับขออนุญาตสร้างพระอุโบสถวิหารการเปรียญ เป็นอาคารแบบจตุรมุข ทรงไทย 3 ชั้น มีมณฑปทรงปราสาทยอดอยู่บนหลังคาชั้นสูงสุดขึ้นมาแทน เมื่อได้รับอนุญาตตามลำดับจึงเชิญจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมาเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2506 เวลา 08.38 นาฬิกา
ในการนี้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมที่วัดมีวิสัยทัศน์ในการสร้างพระอุโบสถ 3 ชั้น โดยรวบรวมเอาพระวิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน และประชาชนเข้าไว้ด้วยกัน เฉพาะชั้นที่ 3 เป็นพระวิหารและพระอุโบสถสำหรับสังฆกรรมนั้น เป็นความคิดที่แยบคายในด้านการประหยัดพื้นที่และทุนก่อสร้าง เพราะทุกวันนี้ที่ดินย่านกลางพระนครหาไม่ได้โดยง่าย
สุดท้ายท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าวัดสัมพันธวงศาราม หรือที่เรียกกันอย่างสามัญว่าวัดเกาะ เป็นวัดที่มีเกียรติประวัติสูง มีชื่อเสียงมาแต่แรกสร้าง ดังที่นายกสมาคมรายงานว่าสร้างมาแล้วเกือบ 200 ปี จึงรู้สึกศรัทธาและชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่สิ่งก่อสร้างได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เว้นแต่ที่ชำรุดทรุดโทรมยากจะบูรณปฏิสังขรณ์ ก็ต้องจัดสร้างใหม่
ปัจจุบันนี้ พระอุโบสถ 3 ชั้น แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยได้รับการใช้สอยตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ โดยชั้นล่างสุดจะจัดทำห้องสมุด ดังที่พระพรหมเมธีเคยเล่าให้ฟังว่าห้องสมุดที่วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงมาช้านาน จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงอ้างอิงว่าเคยเสด็จมายืมหนังสือจากห้องสมุดวัดเกาะไปอ่าน นานมากแล้ว
ตามประวัตินั้นวัดสัมพันธวงศ์ เดิมชื่อว่าวัดเกาะแก้วลังการาม เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงสร้างและทรงอุปถัมภ์ รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่าวัดสัมพันธวงศาวาส (ปัจจุบันเรียกว่าวัดสัมพันธวงศ์) เอกสารบางฉบับเรียกว่าวัดสัมพันธวงษาราม หรือวัดสัมพันธวงศาราม ปัจจุบันเรียกว่าวัดสัมพันธวงศ์ บางครั้งทางวัดก็เรียกว่าวัดสัมพันธวงศาราม และชื่อที่คนทั่วไปรู้จักคือวัดเกาะ หนังสือเรื่องสำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ ที่คุณสุภางค์ จันทวานิช เป็นบรรณาธิการ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
เคยมีโรงพิมพ์ชื่อดัง นักอ่านสมัยก่อนคุ้นดีคือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หรือโรงพิมพ์วัดเกาะ หนังสือที่โรงพิมพ์นี้มีคำกลอนพิมพ์ไว้ที่ปกหรือหน้าใน ว่า
"เล่มสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา
ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี
ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกๆ เรื่อง อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นศุกขี
ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี เจริญศรีศิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย"
โรงพิมพ์วัดเกาะได้ย้ายออกไปราวๆ พ.ศ. 2510 ปัจจุบันไม่มีร่องรอย เหลือให้รู้ว่า ณ ย่านนี้ เคยเป็นแหล่งผลิตวรรณกรรมที่สำคัญในอดีต
นอกจากนั้นวัดเกาะเป็นจุดเริ่มต้นของพวกฝรั่งที่เข้ามาสอนศาสนาคริสต์ โดยพวกมิชชันนารีอเมริกันได้มาเช่าที่อยู่เหนือวัดเกาะทางท้ายตลาดจัดตั้งเป็นโอสถศาลา เพราะตั้งใจสอนศาสนาคริสต์แก่พวกจีนที่อยู่ในเมืองไทย จึงได้เลือกเอาบริเวณวัดเกาะ เพราะมีคนจีนอยู่เป็นอันมาก (ส.พลายน้อย, 2544)
วัดสัมพันธวงศ์ยังมีบทบาทสงเคราะห์ชุมชนชาวจีนโดยปลูกตึกแถวให้เช่า ชาวจีนส่วนหนึ่งอาศัยบริเวณที่เช่าของวัดเป็นที่ทำการค้า แม้ปัจจุบันกลายเป็นเจ้าสัวใหญ่ขยับขยายกิจการออกไปแต่ก็ยังคงแวะเวียนมาช่วยเหลือวัดตามกำลังในจำนวนนี้ก็มี บริษัท เจียไต๋ จำกัด ที่เริ่มกิจการโดยการเช่าตึกแถวของวัดสัมพันธวงศ์ค้าขายเมล็ดพันธุ์ผักมานานนับสิบๆ ปี จนการค้าเจริญรุ่งเรืองขยายกิจการครอบคลุมกิจการค้าและการลงทุนมากมายหลายประเภท ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำนุบำรุงวัด
วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดที่สร้างเจ้าสัว เป็นย่านธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ เหนืออื่นใดเป็นวัดที่มีพระจำพรรษาไม่มาก หากแต่มีพระราชาคณะ หรือเจ้าคุณมากถึง 11 รูป ในจำนวนนั้นมีสมเด็จพระราชาคณะ 1 รูป คือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และรองสมเด็จพระราชาคณะ 1 รูปคือ พระพรหมเมธี และทั้งสองรูปเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม อันเป็นองค์กรบริหารคณะสงฆ์ไทยชั้นสูงสุดอีกด้วย