ลมหายใจของกสิกรรมแห่งศรีลังกา
เมื่อเอ่ยถึงซินนามอนและชาซีลอน หลายคนคงได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน
เมื่อเอ่ยถึงซินนามอนและชาซีลอน หลายคนคงได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน
แต่สำหรับประเทศศรีลังกาแล้ว นี่คือสองสิ่งที่สามารถพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ประเทศนี้ไปตลอดกาล
ซินนามอนคือพืชในตระกูลเครื่องเทศชนิดหนึ่ง คนไทยรู้จักกันในชื่อของ “อบเชย” ส่วนชาซีลอนคือชาที่มีชื่อเสียงของศรีลังกา โดยมีจุดเริ่มต้นจาก James Taylor ชาวอังกฤษ ได้นำพันธุ์ชาจากรัฐอัสสัมประเทศอินเดีย มาปลูกที่เมืองแคนดี ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและอากาศเย็นสบายทั้งปี แล้วพืชสองสิ่งที่ว่านี้เกี่ยวข้องและมีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศศรีลังกา
เมื่อย้อนไปในสมัยอดีตกาล ประเทศศรีลังกามีสถานะเป็นเมืองท่าที่สำคัญ เพราะตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการเดินเรือ พ่อค้าไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป อาหรับ และจีน ต่างใช้ที่นี่เป็นจุดแวะพักขบวนเรือสินค้า และมากไปกว่านั้นที่นี่ยังเป็นแหล่งของการค้าเครื่องเทศขนาดใหญ่
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ โปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ เข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ตามลำดับ
โดยต่างก็มุ่งหวังที่จะเข้ามาเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติในประเทศนี้เพื่อป้อนกลับไปยังประเทศของตน ซึ่งในยุคนี้เองซินนามอนคือเครื่องเทศที่มีมูลค่าการค้าสูง เพราะเป็นเครื่องเทศที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวยุโรป แอฟริกา และอาหรับ จึงทำให้เป็นที่ต้องการมาก และที่ประเทศศรีลังกาก็มีซินนามอนที่มีคุณภาพสูงอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ที่นี่จึงเป็นเป้าหมายทั้งการล่าอาณานิคมและการค้ามาตั้งแต่อดีต
ส่วนชาซีลอนที่ปลูกในประเทศศรีลังกา ก็ได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะในสมัยของการปกครองโดยอังกฤษ ที่พัฒนาการปลูกชาให้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอังกฤษได้นำแรงงานชาวทมิฬจากแคว้นทมิฬนาดูจำนวนมากเข้ามาทำงานในไร่ชา ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นปัญหาของความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ระหว่างผู้อาศัยดั่งเดิมอย่างชาวสิงหลและผู้มาใหม่อย่างชาวทมิฬ
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกินระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี ผู้คนบาดเจ็บล้มตายและอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก หลายคนสามารถตั้งตัวได้ก็ส่งเงินกลับมาช่วยเหลือครอบครัวที่ยังอาศัยในประเทศศรีลังกา ซึ่งจะว่าไปแล้วจำนวนเงินที่ส่งกลับเข้ามาในประเทศก็มีมากกว่ารายได้จากการส่งออกเสียอีก สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ดังนั้นทัศนคติและความเชื่อของผู้คนจึงอยู่บนพื้นฐานของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เช่น เรื่องของความกตัญญูรู้คุณ ดังนั้นชาวศรีลังกาจึงให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมตะวันตกที่ใช้ชีวิตในแบบตัวใครตัวมัน
ในปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศศรีลังกากลับเข้าสู่สภาวะปกติ รัฐบาลภายใต้ผู้นำอย่าง มหินธา ราชาปักษา จึงได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูประเทศ และเน้นไปที่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันอินเดียเพื่อนบ้านที่สำคัญได้ให้ความสนใจในการเข้ามาตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ศรีลังกามีแรงงานราคาถูกอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับทั้งสองประเทศมีความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญๆ เช่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกัน
การค้าระหว่างประเทศศรีลังกาและประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่ายังไม่สูงมากนัก อันเนื่องมาจากศรีลังกาเป็นตลาดไม่ใหญ่ อีกทั้งชนิดของสินค้าก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่หากมองถึงการใช้ศรีลังกาเป็นฐานในการผลิตและส่งสินค้าไปยังอินเดีย โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีระหว่างศรีลังกาและอินเดีย ก็นับได้ว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
แรงงานเกษตรในชนบทหลั่งไหลเข้าเมืองเพื่อหางานทำในภาคอุตสาหกรรม นี่คือสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา แต่ด้วยความที่ประเทศเป็นเกาะและมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด บวกกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ส่งผลให้มีความต้องการแหล่งอาหารจำนวนมาก ดังนั้นภาคการเกษตรจึงไม่ได้ถูกลดความสำคัญลงแต่อย่างใด
ซินนามอนและชาซีลอน คือพืชสองสิ่งที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการของกสิกรรมในประเทศศรีลังกา ที่ถึงแม้ว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคตามสมัย แต่ถึงอย่างไรก็มิอาจถูกลดความสำคัญลง เพราะหากจะเปรียบก็คงเปรียบได้กับลมหายใจ ที่ขาดหายไปเมื่อไหร่ ก็หมายถึงการสูญสิ้นไปเมื่อนั้น