เรือดำน้ำ ดัชนีวัดสัมพันธ์ปู-ทหาร
จับตาประชุม ครม.อังคารนี้ ชี้ชะตาโครงการเรือดำน้ำมือสอง 7,700 ล้านบาท
โดย...ทีมข่าวการเมือง
จับตาประชุม ครม.อังคารนี้ ชี้ชะตาโครงการเรือดำน้ำมือสอง 7,700 ล้านบาท ว่าจะออกหัวออกก้อย หลังจาก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. เดือดถึงขั้นใช้เครดิตความโปร่งใสตลอดชีวิตราชการ การันตีโครงการทิ้งทวนก่อนเกษียณหวังให้บ้านเรามีเรือดำน้ำใช้กับเขาเสียที
“ผมพยายามทำดีที่สุด ทำให้กองทัพเรือ ทำให้ประเทศชาติ และถ้าพูดว่าทบทวนเพื่อความโปร่งใสก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าบอกว่ามีความไม่โปร่งใส ก็อย่ามาพูดเรื่องนี้กับผมดีกว่า ลองไปถามพ่อค้าแม่ค้าอาวุธที่รู้จักกับผมทุกคนว่า ผบ.ทร.คนนี้เป็นอย่างไรก็จะรู้ว่าโปร่งใสแค่ไหน
...จะไปถามกี่บริษัทก็ถามเลย ดูว่าเขาจะตอบอย่างไร เรื่องสตางค์แดงเดียวผมไม่เคยเกี่ยวข้องหรือเคยเคาะกะลาไหม ใน 3 ปีที่ผมเป็น ผบ.ทร. แต่ถ้ายังสงสัยเรื่องความโปร่งใสผมก็ช่วยไม่ได้แล้ว”
ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองของกระทรวงกลาโหมที่มี 7 คน กำลังพิจารณาความคุ้มค่าโปร่งใสในการจัดซื้อ ในขณะที่ พล.ร.อ.กำธร จะเกษียณสิ้นเดือนนี้ และรัฐบาลจะต้องมีคำตอบส่งกลับไปยังประเทศเยอรมนีว่าจะเอาอย่างไร ก่อนวันที่ 30 ก.ย.นี้
แน่นอนว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ทราบดีว่าเงื่อนเวลานี้ดี แต่ยังไม่อาจบุ่มบ่ามรีบปล่อยผ่านโครงการนี้ได้ เนื่องจากมีเสียงทักท้วงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบรายละเอียดการจัดซื้อว่าคุ้มค่าหรือไม่ ก่อนส่งกลับให้สำนักงบประมาณกระทรวงกลาโหมพิจารณาอีกครั้ง
ที่สำคัญ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ยังได้รับเสียงเตือนจาก สส. และ สว. ว่า ขอให้ดูให้ดีถึงแม้ว่างบดังกล่าวจะเป็นงบประมาณของกองทัพเรือ แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเจอกับกระทู้จาก สส. และ สว. ทั้งวัน รวมไปถึงอาจเจอแจ็กพอตถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสอง “ยู-206” จำนวน 6 ลำ จากเยอรมนี รวมถึงการจ้างกิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท โฮวัลส์เวิร์ก ดอยซ์ เวิร์ฟ และบริษัท มารีน ฟอร์ซ อินเตอร์เนชั่นแนล ซ่อมทำเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ เป็นเงิน 7,700 ล้านบาท โดยใช้อะไหล่จากเรือดำน้ำอีก 2 ลำ สำหรับซ่อมเรือดำน้ำ 4 ลำ พร้อมนำโครงเรือไปทำพิพิธภัณฑ์ต่อไป
ที่มาของการจัดซื้อเรือดำน้ำนี้เริ่มตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งได้มีการอนุมัติเตรียมการไปแล้ว โดยใช้งบประมาณของกองทัพเรืองบประมาณผูกพัน 5 ปี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือให้มีความทันสมัย สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไทยให้มีความทันสมัย เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต พึ่งพาตนเองตามหลักความพอเพียง
คำถามตามมาคือเราจำเป็นต้องมี “เรือดำน้ำ” จนต้องเร่งซื้อในเวลานี้หรือไม่
มองไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย ต่างก็มีเรือดำน้ำเสริมศักยภาพทางการทหารแล้วทั้งนั้น หากเกิดเหตุจำเป็นขึ้นมาจริงๆ การไม่มีเรือดำน้ำจะกลายเป็นจุดอ่อนหรือไม่ในการปกปักรักษาอธิปไตย
การตัดสินใจของ ครม.อังคารนี้ ย่อมสะท้อนความชัดเจนในหลายๆ ด้านตามมาไม่ว่ามติ ครม.จะออกมาให้ซื้อหรือไม่ให้ซื้อก็ตาม
ประการแรกย่อมสะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาณาเขตที่จะเริ่มเปลี่ยนจากคอยตั้งรับเป็นแนวรุกหรือไม่ หลังจากที่กองทัพเรือไม่ได้มีเรือดำน้ำประจำการมานานมาก ในช่วงที่ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับจ้อง
ชัดเจนว่าถึงจะดำเนินการอนุมัติจัดซื้อในเวลานี้ แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากกว่าจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพใช้งานก็นานเป็นปี การเตรียมการไว้สำหรับอนาคตจึงต้องพิจารณาว่าเหมาะสมกับสถานการณ์วันข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน
สำหรับสิ่งที่ยังค้างคาใจหลายๆ คนที่ติดตามเรื่องนี้คือ ความคุ้มค่าในการใช้งานของเรือดำน้ำที่เป็นของเก่าจากเยอรมนี แถมยังจอดทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานมานานพอสมควร จะเป็นภาระในการซ่อมบำรุงของกองทัพต่อไปหรือไม่ หรือปัญหาเก่าๆ กรณีรถหุ้มเกราะล้อยางที่เยอรมนีไม่ขายอะไหล่ให้มาแล้วครั้งหนึ่งจะเป็นปัญหาซ้ำรอยอีกหรือไม่
รวมไปถึงสมรรถนะของเรือดำน้ำยู-206 ที่ออกแบบมาสำหรับภูมิศาสตร์แถบทะเลบอลติกที่มีอุณหภูมิต่ำมาก การนำมาปรับใช้กับพื้นที่บ้านเราไม่ว่าจะฝั่งอ่าวไทย หรืออันดามันที่มีอุณหภูมิสูงไปจนถึงระดับความลึกของพื้นที่ที่ไม่ลึกพอหรือเต็มไปด้วยโคลนตมหรือไม่
ทั้งนี้ การติดตั้งเพิ่มระบบปรับอากาศ เพื่อให้สภาพเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่บ้านเราจะต้องเพิ่มแบตเตอรี่ ย่อมส่งผลกระทบถึงสมรรถนะของเรือดำน้ำ ทั้งน้ำหนักที่จะเพิ่มขึ้น การขับเคลื่อนที่จะต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น ยังไม่รวมกับเสียงที่จะดังขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการพรางตัวของเรือดำน้ำเพื่อหลบการตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้าม
แต่การออกตัวของ พล.ร.อ.กำธร ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่มีรายละเอียดมากและใครจะรู้ดีเท่ากับ “ทหารเรือ” ในฐานะผู้ใช้งานย่อมทำให้เกิดความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะคำยืนยันว่าคุ้มค่า แม้เป็นเรือดำน้ำมือสองแต่ผ่านการดูแลปรับปรุงตลอด ยังไม่หมดอายุการใช้งาน
ความคุ้มค่าที่ว่านี้ย่อมต้องประเมินถึงความคุ้มค่าคุ้ม ราคาเพราะในสเปกกลางเก่ากลางใหม่ของเยอรมนีที่พอจะใช้งานได้ไปอีกนับสิบปี หากต้องการจะเพิ่มเป็นของใหม่จะต้องใช้งบประมาณสูงกว่าเดิมมาก ซึ่งย่อมเป็นภาระงบประมาณที่หนักหนากว่านี้
เส้นตาย 30 ก.ย.นี้ ที่จะต้องมีคำตอบไปยังเยอรมนีว่า ไทยจะเอาไม่เอาอย่างไร แม้จะยืดหยุ่นเจรจาได้ในเงื่อนเวลา แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ทั้งเรือดำน้ำสัญชาติสวีเดนหรือเกาหลีใต้
อีกด้านหนึ่งมติ ครม.ที่ออกมาจะสะท้อนให้เห็นถึงท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและกองทัพที่จะต้องติดตามว่าผลจะออกมาอย่างไร