หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (25)
โดย..นพ.ย์วิชัย โชควิวัฒน
**************
ผลการวิเคราะห์ระหว่างทาง (Interim analysis) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่คณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัย ซึ่งเป็น “คณะกรรมอิสระ” เรียกอีกชื่อว่า “คณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลอิสระ” (Independent Data Monitoring Board : IDMB) หรือ Independent Data Monitoring Committee : IDMC) แนะนำให้นำผลการวิเคราะห์ไปขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับ อย.
การยื่นขออนุญาตต่อ อย. ประเทศต่างๆ นั้น ได้มีการยื่นเสนอ (Submission) เพื่อขอรับการพิจารณาแบบ “เร่งด่วน” ซึ่ง อย. ของประเทศเจริญแล้วหลายประเทศได้เปิด “ช่องทางด่วน” (Fast Track) สำหรับการพิจารณาวัคซีนโควิด-19 ไว้แล้ว วิธีการคือแทนที่จะรับพิจารณา “ทบทวน” (Review) ข้อมูลการศึกษาวิจัย เมื่อการวิจัยแต่ละระยะเสร็จสิ้น และพิจารณาไปตามลำดับตั้งแต่ผลการศึกษาวิจัยในห้องทดลอง สัตว์ทดลอง ผลการศึกษาทางเภสัชวิทยา ผลการศึกษาวิจัยในคนระยะที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ ซึ่งจะใช้เวลายาวนานอันย่อม “ไม่ทันการณ์” กับสถานการณ์การระบาดของโรค ที่ทำให้มีการติดเชื้อ ล้มป่วย ป่วยหนัก และเสียชีวิต ทั่วโลกจำนวนมากมาย
อย.สหรัฐ มีการกำหนดช่องทางด่วน (FDA Fast Track designation) ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 และการทบทวนข้อมูลการศึกษาวิจัยก็จะทบทวนแบบ “รวบยอด” (Rolling Review) ซึ่งจะทบทวนข้อมูลแบบคู่ขนานตามที่มีการยื่นเสนอ
สำหรับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไบโอเอ็นเทค-ไฟเซอร์ มีการยื่นเสนอขอรับการทบทวนเร่งด่วน ต่อ อย.ยุโรป ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2563 , ต่อ อย.แคนาดา เมื่อ 7 ตุลาคม 2563 , ต่อ อย. สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ 9 ตุลาคม 2563 นอกจากนั้นยังยื่นเสนอต่อ อย.ประเทศเจริญแล้วอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เป็นต้น
ผลการวิเคราะห์ระหว่างทาง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 มีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563
ต่อมา มีการวิเคราะห์ผลจากข้อมูลที่เพิ่มเติมเข้ามาในโครงการวิจัย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 จากอาสาสมัครวิจัยกว่า 43,000 คน ทำการศึกษาวิจัยในลักษณะ “พหุศูนย์” (Multicenter) รวม 110 ศูนย์ ในประเทศต่างๆ 6 ประเทศ คือ สหรัฐ, เยอรมนี , ตุรกี , แอฟริกาใต้ , บราซิล และ อาร์เจนตินา การวิเคระห์ผลจากผู้ได้รับวัคซีนทั้งสองกลุ่ม คือ วัคซีนทดลอง และวัคซีนหลอก 2 เข็ม ห่างกัน 21 วัน และดูผลหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป พบว่ามีผู้ปรากฏอาการเข้าข่ายและตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 รวม 170 ราย อยู่ในกลุ่มได้รับวัคซีนทดลอง เพียง 8 ราย อีก 162 ราย อยู่ในกลุ่มได้รับวัคซีนหลอก
ผลการวิเคราะห์ทางสถิติสรุปว่า วัคซีนมีอัตรา “ประสิทธิศักย์” (Efficacy rate) 95%
กลุ่มอาสาสมัครกว่า 43,000 ราย ใน 6 ประเทศ ที่ทำการศึกษา เป็นอาสาสมัครสุขภาพดี (healthy participants) ช่วงอายุ 18-85 ปี ในด้านความปลอดภัย “อาการข้างเคียง” (side effects) หรือ “อาการไม่พึงประสงค์” (adverse events) ที่พบบ่อย คือ เจ็บบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย (fatigue) , ปวดศรีษะ และปวดกล้ามเนื้อ โดยพบอาการปวดศรีษะ 2.0% อาการอ่อนเพลีย 3.8%
ผลการศึกษาวิจัยในคนระยะที่ 3 ซึ่งความจริงแล้วยังเป็น “ผลเบื้องต้น” (Preliminary results) จึงบรรลุ “วัตถุประสงค์ปฐมภูมิ” (Primary objectives) หรือ “จุดสิ้นสุดปฐมภูมิ” (Primary endpoint) ที่นับว่า “เกินคาด” มาก เพราะ อย.สหรัฐ ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะพิจารณารับขึ้นทะเบียน เมื่อ “อัตราประสิทธิศักย์” (Efficacy rate) ไม่น้อยกว่า 50%
การรับขึ้นทะเบียนของประเทศต่างๆ ในระยะแรก แม้มีเงื่อนไขให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization : EUA) แต่ก็ให้ใช้ในช่วงอายุที่กว้างขวางมาก คือ 18-85 ปี โดยในสหราชอาณาจักรพิจารณาให้โดยไม่จำกัดอายุขั้นสูง เพราะพิจารณาชั่งน้ำหนักแล้วว่ายิ่งสูงอายุ ยิ่ง “เปราะบาง” (vulnerable) และยิ่งมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนนี้ จึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ควรได้รับวัคซีนโดยเร็ว และ “ประเดิม” ฉีดให้แก่คุณยายวัย 90 ปี ซึ่งปลอดภัยดี
อังกฤษรับขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้อย่างรวดเร็วมากก่อนใครเพื่อน เพราะเริ่มรับพิจารณาทบทวนผลการศึกษาวิจัยวัคซีนนี้ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2563 แล้ว และการเปิดฉลาก และวิเคราะห์ผลการวิจัยในคนระยะที่ 3 เมื่อ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ก็ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ และยื่นเสนอต่อ อย.สหรัฐ เพื่อขอรับอนุญาตใช้กรณีฉุกเฉิน และในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะที่เจริญแล้วหลายประเทศ ในวันเดียวกันนั้น
ต่อมาประเทศต่างๆ ก็ทยอยรับขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้เพื่อใช้กรณีฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการของ “สภาบรรสานสากล” (International Council on Harmonization) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2539
ก่อนหน้านั้น การศึกษาวิจัยยาใหม่ๆ จะทำในแต่ละประเทศ และผลการศึกษาวิจัยก็สามารถนำไปยื่นขอขึ้นทะเบียนยากับ อย. ในประเทศนั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะแต่ละประเทศมี “มาตรฐาน” ในการพิจารณาผลการศึกษาวิจัย แตกต่างกัน เนื่องจากความเข้มงวด ทั้งทางวิชาการ และจริยธรรมการวิจัยแตกต่างกันมาก
ต่อมา จึงมี 3 ประเทศ / กลุ่มประเทศ ที่มาร่วมกัน “บรรสาน” (Harmonization) หลักเกณฑ์การวิจัยยาใหม่ที่ใช้ “ในมนุษย์” ให้มีหลักเกณฑ์เดียวกัน เพื่อให้มีการกระจายกำลังการวิจัยใน 3 ประเทศ / กลุ่มประเทศนั้น โดยสามารถนำผลการศึกษาวิจัยไปขอขึ้นทะเบียนในกลุ่มประเทศสมาชิก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แนวคิดและแนวทางดังกล่าว ทำให้สามารถวิจัยในลักษณะ “พหุศูนย์” ใน 3 ประเทศ / กลุ่มประเทศดังกล่าว คู่ขนานกันไป ทำให้สามารถคัดเลือกอาสาสมัครวิจัยเข้าในโครงการขนาดใหญ่ได้รวดเร็วขึ้นมาก ข้อมูลจากการวิจัยก็สามารถนำไปรวมกันวิเคราะห์ และนำผลไปใช้ขึ้นทะเบียนยาได้เร็วขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์จากยาที่วิจัยเร็วขึ้น การลงทุนทางธุรกิจสามารถคืนทุนและทำกำไรได้เร็วขึ้น เป็นลักษณะต่างคนต่างได้ประโยชน์ (Win-Win)
การรวมกันของ 3 ประเทศ / กลุ่มประเทศ เริ่มต้นทำในลักษณะ “การประชุม” (Conference) ร่วมกัน จึงเรียกว่า “การประชุมบรรสานสากล” (International Conference on Harmonization) ชื่อย่อคือ ไอซีเอช (ICH) หลักเกณฑ์ที่จัดทำขึ้นเป็น “หลักเกณฑ์การวิจัยทางคลินิกที่ดี” (Good Clinical Practice Guideline) ชื่อย่อคือ หลักเกณฑ์จีซีพี (GCP Guidelines) ต่อมาประเทศต่างๆ ทั่วโลก “เห็นดีเห็นงาม” พากันประกาศยอมรับหลักเกณฑ์นี้กันทั่วโลก ในกลุ่มอาเซียน สิงคโปร์รวดเร็วกว่าเพื่อน ประเทศไทยก็ยอมรับในเวลาต่อมา องค์กรนี้ต่อมาเรียกชื่อใหม่เป็น “สภาบรรสานสากล” (International Council on Harmonization) ชื่อย่อยังคงเดิม คือ ไอซีเอช (ICH) และ ชื่อย่อหลักเกณฑ์ก็ยังเหมือนเดิม คือ “หลักเกณฑ์จีซีพีของไอซีเอช” (ICH GCP Guideline)
ประเทศต่างๆ ที่รับขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้ ก็เพราะการศึกษาวิจัยวัคซีนนี้ยึดตามมาตรฐานของหลักเกณฑ์จีซีพีของไอซีเอชนี้เอง
ขณะที่ของไทยยังยึดหลัก “ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง”
**********************