posttoday

“สบน.” จ่อขายบอนด์ความยั่งยืน วงเงิน 1.3 แสนล้าน ล็อตแรก 2-3 หมื่นล้านบาท

04 พฤศจิกายน 2567

“สบน.” เปิดตัวพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน ปีงบ 68 วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท เปิดล็อตแรกอายุ 15 ปี วงเงิน 2-3 หมื่นล้าน ชูบทบาทนำไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เตรียมโรดโชว์สิงคโปร์-ฮ่องกง

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 สบน. มีแผนที่จะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพันธสัญญาในความตกลงปารีส (Paris Agreement) และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)

 

     ทั้งนี้ เพื่อให้คุณสมบัติของพันธบัตรดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล สบน. จึงได้จัดทำกรอบการระดมทุนส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond Financing Framework) ที่สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดโดย International Capital Market Association (ICMA) และ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) โดยได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก DNV ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ให้ความเห็นอิสระระดับสากล (Second Party Opinion) ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของกรอบการดำเนินงานของ สบน. 

    

      โดยกรอบการระดมทุนครอบคลุมถึงการกําหนดตัวชี้วัด (Key Performance Indicators: KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainable Performance Targets: SPTs) เงื่อนไขและรายละเอียดของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน แนวทางและหลักเกณฑ์ในการวัดผลและรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืนของพันธบัตรดังกล่าวด้วย โดย KPIs หลัก ได้แก่ 1.ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้) ต้องมีเป้าหมายไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี พ.ศ. 2573 (คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก 30% จากค่า Business As Usual (BAU)) และ2. ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ (Passenger Car and Pick-Up Trucks) ซึ่งมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี พ.ศ. 2573

 

     สำหรับลักษณะพิเศษเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนจะแตกต่างจากพันธบัตรทั่วไป โดยระดับความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ที่กำหนดจะเป็นปัจจัยกำหนดการปรับอัตราดอกเบี้ย คือ ในกรณี  ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น หรือ ในกรณีที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง โดยหาก SPT 1 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.025% และหาก SPT 1 สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.025% แต่หาก SPT 2 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.025%  หาก SPT 2 สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.025%
 

     อย่างไรก็ดี ในการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนครั้งนี้ สบน. จะดำเนินการออกพันธบัตรรุ่น SLB406A อายุ 15 ปี ในวงเงิน 2 – 3 หมื่นล้านบาท ผ่านผู้จัดจําหน่าย 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จํากัด (มหาชน) โดยสบน. จะดำเนินการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ (Book Building) ในวันที่ 19 พ.ย. 2567 และเสนอขาย (Issue Date) ในวันที่ 25 พ.ย. 2567 และจะมีการเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกงด้วย