posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (17)

21 สิงหาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************

สังคมไทยเป็นสังคมของการมีหน้ามีตา การลงโทษด้วยการประจานจึงเหมาะที่สุด

อย่างที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อธิบายว่า การลงโทษในสมัยอยุธยาเน้นการทำให้กลัว ส่วนหนึ่งก็ด้วยการลงโทษให้หนักที่สุด แต่กระนั้นก็สามารถ “ผัดผ่อน” หรือบรรเทาลดโทษลงได้ ทั้งการจ่ายค่าปรับสำหรับโทษลงหวายที่กลางหลัง หรือการแห่ประจาน เหมือนที่นางศรีประจันกับขุนช้าง ได้จ่ายเงินอย่างมากมายเพื่อ “ซื้อโทษ” เหล่านั้น

แต่เหนืออื่นใดก็คือ การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่แม้ศาลจะตัดสินเป็นอย่างไรแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ยังคงพระราชอำนาจที่จะมีพระราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ แม้แต่การยกโทษให้ แต่บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับพระราชอัชฌาศัย คืออารมณ์ความรู้สึกของพระมหากษัตริย์เอง ที่จะทรงเปลี่ยนแปลงโทษเหล่านั้นไปตามสถานการณ์

อย่างกรณีของขุนแผนที่ชนะคดีขุนช้างแล้ว แต่พอ “ทะลึ่ง” ไปกราบทูลขอนางลาวทองที่ถูกกักขังเป็นนางในคืนมา พระพันวษาก็กริ้วและสั่งจำขังในทันที พูดถึงเรื่องพระราชอำนาจนี้แล้ว ก็ต้องขอออกไปนอกประเทศอีกสักหน่อย เพราะในสมัยโบราณ หลาย ๆ ประเทศก็ล้วนมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ไป ๆ มา ๆ ทำไมบางประเทศจึงล้มเลิกการปกครองโดยพระมหากษัตริย์นี้ไป โดยบางประเทศก็ดำเนินการล้มเลิกกันเอง กับบางประเทศที่มีประเทศอื่นมาล้มเลิกให้ รวมถึงที่บางประเทศก็มีการปฏิรูประบอบกษัตริย์ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมพระเกียรติในสังคมสมัยใหม่

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ก็ด้วยปัญหาเรื่อง “พระราชอำนาจ” นั้นเป็นสำคัญ ที่การปกครองบ้านเมืองในสมัยก่อนนั้น จะสงบเรียบร้อยและเจริญรุ่งเรืองไปด้วยดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ “บุคลิกภาพ” และ “พระปรีชา” ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์เป็นสำคัญ ซึ่งในระบอบกษัตริย์เรียกสิ่งนี้ว่า “พระบารมี” บ้าง “พระบรมเดชานุภาพ” บ้าง คือพอผลัดแผ่นดินไปก็เป็นที่หวั่นไหวแก่พสกนิกรในทุกครั้งว่า ชีวิตของราษฎรนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่ จึงทำให้ทั้งสถานะของพระมหากษัตริย์และราษฎร มีความไม่เป็นที่มั่นใจและไม่มั่นคงด้วยกันทั้งสองฝ่าย อันเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศที่เป็นมาโดยตลอดในสมัยโบราณ

แนวคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคง ตามตำรารัฐศาสตร์ที่เรียนกันมาก็จะกล่าวถึงระบบกษัตริย์ของอังกฤษ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความจริงแล้วก็น่าจะเป็นการปฏิวัติโดยขุนนาง เพราะพระเจ้าจอห์นยอมมอบอำนาจให้แก่สภาในปี ค.ศ. 1215 ก็เพราะถูกบรรดาขุนนางและเหล่าอัศวินบีบบังคับ หรือระบบกษัตริย์ฝรั่วงเศสที่ถูกประชาชนบุกเข้ายึดพระราชวัง ทั้งนี้ก็เพื่อสถาปนาระบอบการปกครองที่ประชาชนสามารถควบคุมและจัดการด้วยประชาชนนั้นได้

ซึ่งของอังกฤษนั้นยังอยู่รอดมา และยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ ก็เพราะการที่ทั้งประชาชนอังกฤษและรัฐสภาร่วมกันส่งเสริมพระราชฐานะให้คงอยู่ ส่วนของฝรั่งเศสนั้นหมดสิ้นไปเลย เพราะประชาชนไม่ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญเช่นในยุคก่อน ทั้งในประเทศที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์ปกครอง

นอกจากจะยังคงอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรมประเพณีการปกครองแบบดั้งเดิมแล้ว ก็ยังต้องอาศัยให้ความคุ้มครองและปกป้องไว้โดยกำหนดพระราชอำนาจและบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ส่วนของประเทศไทยแม้จะมีการกำหนดให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แต่บรรดาขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม ๆ ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ ของไทยจึงยังเป็นระบบผสม ที่ยังคงถวายพระราชอำนาจที่ทรงมีมาแต่เดิมให้คงไว้บางส่วน และก็มีรัฐธรรมนูญกับผู้ใช้อำนาจทางการปกครองคอยส่งเสริมถวายพระเกียรติยศและบทบาทหน้าที่นั้นไว้

ย้อนกลับไปที่การลงโทษสมัยอยุธยา ที่ว่าเน้นการประจาน ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เกิดความกลัว และที่สุดก็คือให้เกิดความเข็ดหลาบ เพื่อให้กลับตัวกลับใจและไม่ให้กลับไปกระทำความชั่วและความผิดเหล่านั้นอีก แต่ด้วยวิธีการที่ทำให้อับอายขายหน้าและให้ผู้คนต่าง ๆ ได้ร่วมลงโทษ เช่น ร่วมสาปแช่ง หรือเกิดความรู้สึกโกรธแค้นชิงชัง ก็จะเน้นการ “ประจาน” หรือทำลายหน้าตาชื่อเสียงให้ย่อยยับร่วมไปด้วย ที่อาจจะเรียกในภาษาสมัยใหม่ว่าเป็น “สังคมทัณฑ์” หรือการลงโทษโดยสังคมคือผู้คนทั้งหลาย ซึ่งเป็นการลงโทษที่จะให้คนอื่น ๆ ได้จดจำและไม่กระทำผิดเยี่ยงนั้นอีกต่อไป

การจองจำ 5 ประการ จึงเป็นการลงโทษเพื่อเป็นการประจานดังกล่าว ซึ่งระหว่างที่เขียนเรื่อง “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้โทรศัพท์ไปขอความรู้กับท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในสมัยนั้น คือนายสนิท รุจิณรงค์ ก็ได้ความรู้ว่าเรื่องนี้มีอยู่จริง โดยเรียกว่า “การจำ 5 ประการ” ซึ่งมีข้อมูลยืนยันจากคณะบาทหลวงฝรั่งเศสที่ถูกลงโทษด้วยการจำ 5 ประการนี้

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เครื่องจองจำ 5 อย่างนี้ประกอบด้วย 1. ตรวนใส่เท้า2. เท้าติดขื่อไม้ 3. โซ่ล่ามคอ 4. คาไม้ใส่คอทับโซ๋ และ 5. แขนทั้งสองที่สอดเข้าไปในคาบนคอแล้วให้โน้มตัวให้มือทั้งสองสอดเข้าไปในขื่อที่เท้า ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดอีกว่า โซ่ตรวนหรือขื่อคาจะมีขนาดเท่าใด ก็ให้หนักเบาไปตามโทษานุโทษ

ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องให้มีการ “แห่ประจาน” โดยเอาคนที่ถูกจองจำเหล่านี้ใส่เกวียนลากประจานไปทั่วเมือง 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง บางทีคนที่ถูกจองจำก็ตายในระหว่างที่ถูกแห่ประจานนั้นเอง จึงสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนได้มาก รวมถึงตัวคนที่ถูกโทษให้จองจำ 5 ประการ ก็หวาดกลัวเป็นอย่างยิ่งด้วย อย่างขุนช้างและนางศรีประจันผู้เป็นแม่ของขุนช้างก็จำต้องยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับการไม่ถูกจองจำและแห่ประจาน ที่อาจจะเป็นด้วยความหวาดกลัวนั้นด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่น่าจะร้ายแรงมากกว่าก็คือ “กลัวเสียหน้าตา” ที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็แค่มาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการ แม้จะเป็นอาชญากรก็ถูกห่อด้วยทองคำทันที

******************************