ย้อนอดีตทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ กับ 6 เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล
โดย....ดร.สมศักดิ์ วัฒนปฤดา
***********************
จังหวัดเล็กๆ อย่างสตูล แต่มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ คือ ความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนทั้งจังหวัดที่ดูแลรักษา สิ่งมหัศจรรย์จากธรรมชาติ จากมรดกทางธรณีวิทยา จากศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดเป็นอุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย หนึ่งในอุทยานธรณีโลก 147 แห่ง
ความภาคภูมิใจนี้ ไม่เฉพาะประชาชนชาวจังหวัดสตูลเท่านั้น ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งแวดวงวิชาการธรณีวิทยา และวงการท่องเที่ยว ที่ต่างตื่นตัวและได้รับผลดีจากอุทยานธรณีโลกสตูลทั้งสิ้น ประชาชนชาวสตูลทำได้อย่างไรและมุ่งมั่นที่จะรักษาแชมป์นี้ไว้อีกครั้งหนึ่งอย่างไร วันนี้ กรมทรัพยากรธรณีจะนำท่านร่วมเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจนี้ด้วยกัน ในสภาวะวิกฤติโควิดคุกคาม ในมหกรรมเที่ยวทิพย์อุทยานธรณีโลกสตูล ปีปกติใหม่ 2564 ซี่งมีธีมหลักของการจัดงานคือ “จาก 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่” ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2564 อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
เมื่อเอ่ยถึง สตูล หลายคนคงนึกถึง เกาะตะรุเตา เกาะสุดชายแดนทะเลอันดามัน ที่เคยเป็นคุกการเมืองที่มีชื่อเป็น ที่รู้จัก และเป็นเมืองเล็กๆ ที่คนอยากพักใจนิยมไปเยือน ไปเที่ยวทะเล เกาะแก่งที่สวยงาม และถ้ำหินปูนที่น่าค้นหา จนปัจจุบัน สตูลกลายเป็นเมืองแห่งอุทยานธรณีโลก มีอะไรบ้างที่น่าสนใจ น่าไปเยี่ยมชมในฐานะพี่ใหญ่ของอุทยานธรณีไทย
ในยามที่เราทุกคนต่างห่างไกลจากกิจกรรมการท่องเที่ยว กรมทรัพยากรธรณีขอร้อยเรียงให้ชมใน 6 เส้นทางท่องเที่ยวทิพย์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความผ่อนคลาย และเตรียมความพร้อมให้ไปตะลุยอุทยานธรณีโลกสตูลและอุทยานธรณีในประเทศไทย รวมทั้งอุทยานธรณีโลกในประเทศต่างๆ ในอีกไม่นานนี้
เริ่มกันที่เส้นทางแรก เราจะข้ามน้ำข้ามทะเลปัจจุบันไปเยี่ยมเยียนทะเล 500 ล้านปีที่แล้ว ในเส้นทางเชื่อมทะเล อันดามันสู่ทะเลโบราณ ก้าวแรกที่เหยียบลงบนแผ่นดินเกาะตะรุเตา จะเป็นก้าวที่พาย้อนกลับสู่ทะเลดึกดำบรรพ์ของยุคแคมเบรียน ที่ได้ทิ้งหินตะกอน พร้อมซากดึกดำบรรพ์ไว้เป็นหลักฐาน บริเวณท่าเรือเกาะตะรุเตา คุ้มค่าสมกับคำกล่าวที่ว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพดึกดำบรรพ์ในอุทยานธรณีโลกสตูล คือมรดกทางธรณีที่เชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต สู่การประจักษ์ชัดถึงคุณค่าของแผ่นดิน”
ไหนๆไปถึงเกาะตะรุเตาแล้ว ต้องไปเยือนอ่าวเมาะ ซึ่งเมื่อประมาณ 500 ล้านปีที่ผ่านมา “ไทรโลไบต์” ได้เคยแหวกว่ายในทะเลแห่งนี้ แต่วันนี้ เหลือเพียงซากของสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ยุคแคมเบรียน เป็นประจักษ์พยานทะเลอันอุดมสมบูรณ์เมื่อ 500 ล้านปีก่อน
ก่อนกลับจากทะเลโบราณ ขอพาไปเส้นทางข้ามกาลเวลา ชม “อ่าวฟอสซิล” แหล่งสะสมตัวของซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลไฟลัมมอลัสกา แห่งยุคออร์โดวิเชียนอายุกว่า 400 ล้านปี ที่มีเนื้อนิ่มและเปลือกแข็งหุ้มห่อร่างกาย จำพวกเดียวกันกับหอยและหมึกที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาให้มนุษย์เราได้ใช้เป็นอาหารต่อจากนั้น เราไป “ปราสาทหินพันยอด” สิ่งอัศจรรย์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติและจินตนาการ เกิดเป็นปราสาทหินยอดแหลมมากมาย และพลาดไม่ได้กับอีกหนึ่งประติมากรรมธรรมชาติทางธรณีวิทยา “หัวใจสีฟ้ามรกต” หัวใจแห่งอุทยานธรณีโลกสตูล ที่ต้องไปชมสักครั้งหนึ่งในชีวิต
กลับจากทะเลโบราณ ขอพาไปชมสิ่งมีชีวิตโบราณที่เคยครอบครองผืนดินผืนน้ำสตูล เมื่อหลายร้อยล้านปีอีก สักพื้นที่ นั่นคือ ดงฟอสซิลเขาน้อย เนินเขาลูกเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของหิน 2 ยุค พื้นที่เขาน้อยวันนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล เป็นกลุ่มเขาลูกเล็กหลายลูกที่วางตัวเป็นช่วงๆต่อเนื่องกัน และเมื่อกว่าสองร้อยล้านปีที่ผ่านมาในยุคเพอร์เมียน ในทะเลตื้นและสงบ ปะการังโบราณขนาดใหญ่เคยวางตัวขนานชายฝั่ง มีหอยสองฝา ฟองน้ำ ไบรโอซัว ปะการัง หอยฝาเดียว แบรคิโอพอด และพลับพลึงทะเล อาศัยอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ สิ่งที่เราเห็นอยู่ในวันนี้ คือ หินปูนชั้นหนาที่เก็บรวบรวมซากสิ่งมีชีวิตในยุคนั้นไว้มากมาย
กลับจากทะเล และอร่อยกับอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดสตูลแล้ว ถึงเวลาออกกำลังป่ายปีนเขา เข้าไปเที่ยวมุดถ้ำกันบ้าง เราเริ่มกันที่เส้นทางท่องป่าหินปูน Satun Karst Wanderers’ Trail ที่ ลานหินป่าพน เป็นจุดที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อโครงสร้างหินสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ ผู้ผลิตก๊าซออกซิเจนรายแรกให้กับโลกของเราได้โผล่ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ถ้าไม่มีสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวนี้ ผลิตออกซิเจนให้โลกเมื่อ 500 ล้านปีที่ผ่านมา อาจไม่มีมนุษย์อย่างเราในวันนี้ก็เป็นได้
ต่อจากนั้น คงถึงเวลาที่ต้องไปมุดถ้ำ แม้ ถ้ำภูผาเพชร จะเป็นถ้ำใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในภาคใต้ แต่บางช่วงก็คงต้องมุดผ่านช่องแคบของถ้ำบ้าง เพื่อเป็นรสชาติของชีวิตที่วันหนึ่งได้มาเที่ยวทิพย์ถ้ำหินปูนมากมายของจังหวัดสตูล ไม่แปลกใจ หากใครเข้าถ้ำภูผาเพชร แล้วจะติดใจในความสวยงามตั้งแต่ปากถ้ำ แต่ขอแนะนำให้เดินไปให้ถึง “ห้องแสงมรกต” ที่มีปล่องแสงขนาดใหญ่ เป็นช่องทางนำแสงเข้าสู่ถ้ำอันมืดมิด เป็นถ้ำที่พบความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ ที่มีความแตกต่างกันในพื้นที่มืดและพื้นที่ได้รับแสงจากปล่องแสง เป็นที่น่าอัศจรรย์ในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ
มาต่อกันที่ เส้นทางบุกถ้ำ-ทะลุป่าหลุมยุบโบราณ ที่มี ถ้ำทะลุ เป็นถ้ำหินปูนที่มีความยาวเพียงแค่ร้อยกว่าเมตร แต่กลับมีเรื่องราวหลักฐานทางธรณีวิทยา วิวัฒนาการของโลก และสิ่งมีชีวิตมากมาย ที่พลาดไม่ได้ในเส้นทางนี้ คือ ป่าหลุมยุบโบราณ
และไฮไลต์สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ เส้นทางถ้ำเลสเตโกดอน ที่ต้องล่องเรือคายัคผ่านถ้ำเลยาวประมาณ 2.5 กม. และนับว่ายาวที่สุดของเมืองไทย โดยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อชมประติมากรรมถ้ำที่สวยงามตระการตา ไม่ว่าจะเป็นหลอดกาแฟ หินงอก หินย้อย เสาหิน ม่านหินย้อย จนถึงโล่หิน และโผล่ออกมาพบกับโลกอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากโลกในถ้ำ ส่วนที่เป็นโลกอะไร ขอทิ้งไว้เป็นปริศนาให้ค้นหา
วันนี้ท่านได้สัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัสบรรยากาศของขุนคีรีที่ยิ่งใหญ่และทะเล 500 ล้านปี ผ่านมหกรรมเที่ยวทิพย์ฯ โดยตาทิพย์ ด้วยภาพถ่ายและคลิปวีดีโอ ผ่านหูทิพย์ ด้วยเสียงคลื่น เสียงลม เสียงน้ำตก เสียงทรายที่พัดพา เสียงลม เสียงนกและค้างคาว ผ่านจมูกทิพย์ ผ่านควันอาหารและกลิ่นฝน กลิ่นดอกไม้ ที่สำคัญ คือใจทิพย์ สัมผัสด้วยใจ ที่อยากชวนให้เปิดใจ สัมผัสธรรมชาติด้วยหัวใจ เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติได้มากขึ้น
มรดกทางธรณีวิทยาเหล่านี้ ได้รับการฟื้นฟูและดูแลรักษาอย่างดีจากประชาชนชาวจังหวัดสตูลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในช่วงหยุดพักธุรกิจการท่องเที่ยวในยุคโควิด มหกรรมเที่ยวทิพย์อุทยานธรณีโลกสตูล จึงเป็นโอกาสดีที่เราได้มีโอกาสนำเสนอธรรมชาติของอุทยานธรณีโลกสตูลที่ได้รับการพักผ่อนและฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่ให้คนไทยได้มีโอกาสเยี่ยมชม
เที่ยวทิพย์ คงไม่อาจทดแทนเที่ยวจริงได้ 100% เที่ยวทิพย์คงไม่อาจทำให้ทุกท่านได้ออกเดิน ได้เสียเหงื่อ ได้ออกกำลังปีนป่ายเหมือนเที่ยวจริง ไม่สามารถทำให้ท่านได้จูงมือกัน ได้สบตากัน และเดินไปด้วยกันได้ แต่เรา ก็หวังว่า เที่ยวทิพย์คงจะทำให้ท่านชุ่มชื่นหัวใจ มีความหวัง ความฝัน และแรงบันดาลใจถึงวันข้างหน้า ที่อุทยานธรณีโลกสตูลและอุทยานธรณีทุกแห่งของประเทศไทยเรา จะเป็นเป้าหมายการเดินทาง เพื่อค้นพบเสน่ห์ อันหลากหลายที่ธรรมชาติ วัฒนธรรม และมรดกทางธรณีวิทยา ได้บรรจงมอบแด่ทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือน