posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (22)

25 กันยายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***********

เรื่องขุนช้างขุนแผนชี้ให้เห็นว่า ระบบกฎหมายโบราณนั้น “มั่วมั่ก ๆ”

ขออนุญาตใช้ภาษาวัยรุ่นยุคนี้ เพราะเห็นคนที่เขาเรียกว่าพระดัง ๆ ก็ยังชอบใช้กัน ที่ว่ามั่วมั่ก ๆ ก็เพราะแม้แต่พระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้ใช้กฎหมายและออกกฎหมายเองด้วยนั้น ก็ยังทรงสับสนในการใช้กฎหมาย โดยบางทีก็แยกไม่ออกระหว่าง “คดีหลวง” คือคดีส่วนพระองค์ กับ “คดีนครบาล” หรือความผิดทั่ว ๆ ไป ดังที่ปรากฏในคดีระหว่างพระไวยกับขุนช้าง โดยในงานแต่งงานของพระไวย(ยศทางราชการคือ จมื่นไวยวรนาถ แต่คนทั้งหลายนิยมเรียกว่าพระไวย คงเพราะมีฐานะเทียบเคียงได้กับข้าราชการที่มีคยศชั้นพระนั่นเอง) ขุนช้างเมาหนัก อาละวาดด่าทอพระไวย แล้วลำเลิกไปถึงตอนที่เลี้ยงดูมาแต่เด็ก จนถึงตอนที่รู้ความจริงว่าเป็นลูกของขุนแผน จึงลวงเข้าป่าไปทำร้าย พระไวยบันดาลโทสะ จึงให้ลูกน้องเข้าทำร้ายจนขุนช้างสลบไป นางวันทอง เข้ามาแยกแล้วให้บ่าวไพร่หามไปรักษาตัวที่เรือนจนฟื้น ขุนช้างจึงไปฟ้องพระพันวษา

ขุนช้างฟ้องว่า พระไวย เรียกบ่าวไพร่ให้รุมทำร้ายตนจนเกือบจะถึงแก่เสียชีวิต ทั้งยังบังอาจพูดว่า ถึงขุนช้างจะมีเจ้านายก็ไม่กลัว เจ้านายของขุนช้างก็คือพระพันวษานั่นเอง ขุนช้าง อ้างขุนนางหลายคนที่ไปร่วมงานแต่งเป็นพยาน พระพันวษาจึงให้ตำรวจไปตามพระไวยมาเข้าเฝ้า พระไวยก็กราบบังคมทูลถึงต้นเรื่องตั้งแต่ครั้งที่ถูกลวงเข้าไปทำร้ายในป่า ขุนช้างนำเรื่องนั้นมาลำเลิกในงาน จนคนทั้งหลายได้ยินโดยทั่วกัน ส่วนเรื่องพูดจากระทบเจ้านายนั้นตนไม่ได้พูด พระพันวษาตัดสินพระทัยไม่ได้ว่า จะพิจารณาเป็นคดีหลวงคือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือเป็นคดีทะเลาะวิวาท(ที่เรียกในสมัยนั้นว่าคดีนครบาล)อย่างไหนดี จึงให้ใช้วิธีดำน้ำพิสูจน์ อันเป็นวิธีการสำหรับตัดสินคดีอีกอย่างหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในยุคนั้น

ถึงตรงนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คงจะกลัวว่า ผู้อ่านจะคิดว่าเมืองไทยสมัยโบราณนี้ช่างป่าเถื่อนเสียจริง ๆ จึงอธิบายเทียบเคียงกับการพิจารณาคดีของคนอังกฤษในสมัยโบราณว่า “ในประเทศอังกฤษสมัยก่อนนั้น ตัดสินความด้วยเอาผู้พิพากษาเป็นสำคัญก็ได้ คือให้ผู้พิพากษาเป็นคนตัดสิน หรือจะตัดสินความโดยใช้ลูกขุน ซึ่งเป็นคนชั้นเดียวกับจำเลย เป็นผู้ชี้ผิดชี้ถูกก็ได้ หรือมิฉะนั้นจะตัดสินความแบบทรมาน ซึ่งอังกฤษเรียกว่า Trial by Torture ก็ได้ และประการสุดท้าย อาจตัดสินความด้วยการให้คู่ความเข้าต่อสู้กันด้วยอาวุธ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trial by Battle ก็ได้

การตัดสินความแบบนี้ ให้คู่ความเอาอาวุธมาสู้กัน ถ้าใครแพ้ในการต่อสู้ คนนั้นก็แพ้ความ แต่โจทก์จำเลยอาจหาคนอื่นมาสู้กันแทนตนก็ได้คนที่จะมาสู้กับคนอื่นแทนคนอื่นนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า แชมเปี้ยน ผู้ที่เป็นแชมเปี้ยนของผู้ใดก็ดี นอกจากจะมีหน้าที่เข้าต่อสู้กับผู้อื่นในการชำระความแบบนี้แล้ว ก็ยังมีหน้าที่สำหรับรับคำท้าทายจากบุคคลอื่นแทนบุคคลซึ่งตนเป็นตัวแทนอยู่ ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษนั้น จะต้องมีแชมเปี้ยนแทนพระองค์อยู่หนึ่งคนเสมอไป สำหรับรับคำท้าทายที่ใครจะพึงกระทำต่อพระเจ้าแผ่นดิน

การตัดสินคดีแบบนี้ในเมืองไทย เห็นมีแต่การตัดสินด้วยการทรมาน เช่น ดำน้ำ ลุยไฟ แต่ในอังกฤษหรือในยุโรปแต่โบราณนั้น มีการกระทำที่ค่อนข้างจะทารุณ กล่าวคือ หลอมตะกั่วใส่มือคู่ความ ใครทนได้นานกว่าก็ชนะ” ซึ่งก็จะเห็นว่าการทรมานของฝรั่งมีวิธีที่พิสดารกว่าของไทยมาก

การสู้ความโดยการดำน้ำครั้งนั้น ขุนช้างแพ้แก่พระไวย ขุนช้างจึงถูกตัดสินลงโทษให้ประหารชีวิต นางวันทองซึ่งตอนนี้มาอยู่กับขุนช้างแล้วได้วิ่งเต้นหาทางบรรเทาโทษ ตั้งแต่จ่ายเงินให้ลดเครื่องจองจำทรมานแก่ขุนช้างในระหว่างรอประหาร จนถึงให้ลูกชายคือพระไวยนั้นไปกราบบังคมทูลขออภัยโทษแก่พระพันวษา ที่สุดพระพันวษาก็พระราชทานอภัยโทษให้ อย่างไรก็ตามพระไวยก็ก่อเรื่องอีก คือพอกลับมาอยู่บ้านก็คิดถึงแม่มาก อยากให้แม่มาอยู่ด้วย คืนหนึ่งจึงใช้คาถาสะกดคนบนบ้านขุนช้างรวมทั้งขุนช้างด้วยนั้น ลักเอานางวันทองไป ขุนช้างจึงไปฟ้องพระพันวษาอีก

คราวนี้ก็เกิดเรื่องใหญ่ สำหรับคนที่อ่านขุนช้างขุนแผนในเชิงนิยาย นั่นก็คือเหตุการณ์ที่นำมาสู่การตายของวันทอง ซึ่งถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าสังเวชที่สุด เพราะนางวันทองถูกตัดสินว่าเป็น “หญิงสองใจ” หรือ “วันทองสองใจ” ดังที่ปรากฏเป็นถ้อยคำประณามผู้หญิงมาอีกหลายชั่วอายุคน

อย่างที่ผู้เขียนเคยอธิบายมาแล้วว่า ตัวกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทยนั้นก็คือพระมหากษัตริย์ และด้วยเหตุที่เหตุผลทางกฎหมายมักจะแปรเปลี่ยนไปตามเหตุผลของพระมหากษัตริย์ แม้จะมีหลักกฎหมาย เช่น พระอัยการ วางระบบและวิธีการต่าง ๆ ในการตัดสินและพิจารณาความไว้แล้ว แต่ที่สุดก็มาสรุปจบหรือเปลี่ยนแปลงได้จากพระมหากษัตริย์ อย่างกรณีของนางวันทองนี้ก็เช่นกัน ก็เป็นด้วยเหตุที่มีการฟ้องร้องกันมาเรื่อยเป็นสิบ ๆ ปี ตั้งแต่ที่พระไวยยังไม่เกิด จนพระไวยมีครอบครัวแล้ว การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างขุนช้างกับขุนแผนก็ไม่จบสิ้น จนถึงขั้นที่ลูกคือพระไวยมาก่อเรื่องลักแม่คือนางวันทองนี้อีก

พระพันวษาก็คงจะต้อง “ทรงหงุดหงิดมาก” อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนวิเคราะห์ว่า “ต่อไปนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องเห็นพระราชหฤทัยพระพันวษา เพราะไม่ว่าจะเป็นขุนช้างก็ดี ขุนแผนก็ดี นางวัน และตลอดจนพระไวยก็ดี คนพวกนี้มักจะเข้ามารบกวนพระราชหฤทัย ทำให้ทรงขุ่นเคือง ใครทูลจบทีหนึ่งก็กริ้วคนนั้นทีหนึ่ง ใครทูลจบอีกทีหนึ่งก็กริ้วคนนี้อีกทีหนึ่ง หาความเป็นปกติไม่ได้” ด้วยลักษณะของพระราชหฤทัยเช่นนี้ ครั้นฟังความจากนางวันทองที่พระพันวษาทรงให้เลือกว่า นางวันทองจะอยู่กับใคร ขุนช้างหรือขุนแผน แต่นางวันทองอึกอักไม่สามารถจะเลือกได้ อย่างที่คนโบราณเชื่อว่า คนเราเมื่อถึงฆาตก็เหมือนมัจจุราชมาควบคุมตัว ไม่สามารถจะแก้ไขหรือคิดทำอะไรได้ ดังที่บทเสภากล่าวถึงอาการกริ้วของพระพันวษาในตอนนี้ไว้ว่า

“เร่งเร็วเหวยพระยายมราช                ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี

อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี                  อย่าให้มีโลหิตติดดินกู

เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน                 ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่

ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู                   สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัย”

ตอนที่นางวันทองถูกประหารชีวิตนี้ ในเสภาจะบอกว่าพระไวยไปขอพระราชทานอภัยโทษให้แม่ได้แล้วด้วย แต่วิ่งเอาความที่พระราชทานอภัยโทษนั้นมาไม่ทันเวลา นางวันทองต้องถูกตัดคอสิ้นชีวิตไปเสียก่อน แต่ในละครโทรทัศน์ทางช่องทีวีดิจิตอลช่องหนึ่งนำมา “รีเมค” หรือ “สร้างใหม่” ได้ทำให้คนดูเข้าใจไปว่า นางวันทองที่ถูกตัดคอนั้นเป็น “ร่างปลอม” เพราะถูกบรรดาผีพรายของพระไวยและขุนแผนมาอำพรางสร้างขึ้น เพื่อรับดาบแบบที่เรียกว่า “ตายทิพย์” นั้นแทน ส่วนตัวจริงของนางวันทองได้ถูกนำหลบหนีไปจากที่นั้นแล้ว และดูเหมือนว่าขุนแผนกับนางวันทองนั้น จะได้ไปใช้ชีวิตในแบบที่ “แสนสุขชั่วนิรันดร์ต่อจากนั้น” อย่างที่หนังฝรั่งแนวเทพนิยายชอบจบลงด้วยคำว่า “Happily ever after” นั่นเอง น่าสงสารนางวันทอง เมื่อไหร่หนอผู้คนจะเลิกประณามผู้หญิงที่ถูกกระทำอย่างเธอ

******************************