posttoday

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่หก)

11 มีนาคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***********

ตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงแต่งตั้งกรมหลวงชุมพรฯ (ผู้มีศักดิ์เป็นพี่) และกรมพระนครสวรรค์ฯ (ผู้มีศักดิ์เป็นน้อง) เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทั้งที่กรมหลวงชุมพรจบวิชาการทหารเรือจากอังกฤษ อีกทั้งยังทรงเป็น “บุตรเขย” ของเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมด้วย และกรมพระนครสวรรค์จบวิชาการทหารบกจากปรัสเซีย (เยอรมนี) ด้วยผลการเรียนที่โดดเด่น อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯยังทรงปลดกรมหลวงชุมพรฯออกจากราชการทหารเรืออีกด้วย

ที่กล่าวไปแล้ว สาเหตุที่เป็นไปได้สำหรับการไม่แต่งตั้งและการปลดกรมหลวงชุมพรฯ คือ หนึ่ง มีความขัดแย้งระหว่างกันในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ สาเหตุมาจากคนในสังกัดของทั้งสองพระองค์มีเรื่องกัน

สอง ในช่วงแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเสวยราชย์ ได้มีนักเรียนนายเรือพูดจาล้อเลียนพระองค์ ในครั้งที่ทรงเสด็จเยี่ยมโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิมที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมหลวงชุมพรฯ

สาม ซึ่งเป็นสาเหตุร่วมที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯไม่ทรงแต่งตั้งกรมพระนครสวรรค์ฯเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นั่นคือ ทั้งกรมหลวงชุมพรฯและกรมพระนครสวรรค์ฯต่างสืบเชื้อสายสกุลบุนนาคมาด้วยกัน กรมหลวงชุมพรฯ เป็นพระราชโอรสของเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง และเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่หก)

      กรมหลวงชุมพรฯ                        เจ้าจอมมารดาโหมด                   เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

ส่วนกรมพระนครสวรรค์ฯเป็นพระราชโอรสพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรีฯ เป็นพระเจ้าลูกเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ซึ่งเจ้าจอมมารดาสำลีเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่หก)

กรมพระนครสวรรค์ฯ         พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)

จากการที่กรมหลวงชุมพรฯและกรมพระนครสวรรค์ฯต่างสืบเชื้อสายสกุลบุนนาคมาด้วยกัน จึงมีคนกล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในกรมหลวงชุมพรฯและกรมพระนครสวรรค์ฯว่าจะคบคิดกันชิงราชสมบัติ จึงเป็นเหตุให้พระองค์ไม่ทรงแต่งตั้งทั้งสองพระองค์ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อีกทั้งยังปลดกรมหลวงชุมพรฯออกจากราชการทหารเรืออีกด้วย

การให้ความสำคัญกับเหตุผลที่ทั้งสองพระองค์ต่างสืบเชื้อสายสกุลบุนนาคนั้น ก็มีมูลอยู่บ้าง เพราะอย่างที่ผู้เขียนได้เคยเล่าถึงสัมพันธภาพทางการเมืองตั้งแต่รัชกาลที่สามจนถึงต้นรัชกาลที่ห้าว่า อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคมาโดยตลอดและมีอำนาจสูงสุดในช่วงต้นรัชกาลที่ห้าภายใต้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

แต่หลังจาก พ.ศ. 2417-2418 ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯสามารถดึงอำนาจกลับคืนมาได้ภายใต้การปฏิรูประบบราชการแผ่นดินให้เข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่เพื่อรับมือกับการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตกที่กำลังแสวงหาเงื่อนไขที่จะทำให้สยามตกเป็นอาณานิคมของตน และหากพิจารณาช่วงเวลาที่อำนาจของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคเริ่มเสื่อมลงจนถึงต้นรัชกาลที่หกก็เป็นเวลา 35 ปี ก็อาจเป็นไปได้ว่า หากมีโอกาส กลุ่มสกุลบุนนาคอาจคิดจะกลับมามีอำนาจอีกโดยผ่านกรมหลวงชุมพรฯและกรมพระนครสวรรค์ฯผู้สืบเชื้อสายสกุลบุนนาคผ่านทางพระมารดา

นั่นคือ การชิงราชสมบัติจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เพราะทั้งสองจบการศึกษาวิชาการทหารมาทั้งสองพระองค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมพระนครสวรรค์ผู้ทรงมีประวัติผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยมและมีประสบการณ์ทางการทหารที่โดดเด่นจากการรับราชการทหารในปรัสเซีย

แต่นั่นเป็นการวิเคราะห์ที่ผิวเผิน เพราะหากพิจารณาลงไปถึงสายสัมพันธ์ในตระกูลบุนนาค จะพบว่า กรมหลวงชุมพรฯสืบสายมาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ส่วนกรมพระนครสวรรค์ฯสืบสายมาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้เป็นน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)

แต่สองพี่น้องตระกูลบุนนาคนี้ นั่นคือ ดิศ และ ทัต ได้เกิดความขัดแย้งกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามจากสาเหตุของการชิงตำแหน่งราชการที่สำคัญกัน และต่อมาขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จากการที่พระสุริยอภัย (สนิท) บุตรชายคนโตบุตรชายคนโตของทัตต้องถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตก็มีความเกี่ยวพันกับดิศ จนทำให้สองครอบครัวตัดความสัมพันธ์กัน (ดู การคัดเลือก “บุคคลในตระกูลบุนนาค” เข้าดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่สอง) https://www.posttoday.com/politic/columnist/674140 )

และหลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้มีอำนาจสูงสุด ก็มิได้คิดจะประสานความสัมพันธ์กับครอบครัวสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ด้วย (ดู Edward Van Roy, “Bangkok’s Bunnag Lineage from Feudalism to Constitutionalism: Unraveling a Genealogical Gordian Knot,” Journal of Siam Society, Vol. 108, Part. 2, 2020)

ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ทั้งสองพระองค์จะคบคิดกันชิงราชสมบัติจึงเป็นไปได้น้อยมาก

ขณะเดียวกัน จากความแตกแยกร้าวลึกระหว่างสองครอบครัวบุนนาค ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงใช้เป็นโอกาสในการดึงอำนาจกลับคืนมา โดยในปี พ.ศ. 2417 ในการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินครั้งแรก พระองค์ได้ทรงโปรดฯให้มีการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของทั้งพระมหากษัตริย์และเสนาบดี และพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นหนึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินสิบสองคน แต่ไม่ได้แต่งตั้งขุนนางในสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยงศ์ (ช่วง บุนนาค) ให้ดำรงตำแหน่งในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเลย พระองค์อาศัยความแตกแยกในตระกูลบุนนาคดึงคนในสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ให้มาเป็นกำลังในฝ่ายพระองค์

และจากการที่กรมพระนครสวรรค์ฯสืบสายจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) และมีคุณสมบัติความสามารถโดดเด่น หลังจากที่กรมพระนครสวรรค์ฯจบการศึกษาและเสด็จกลับในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้โปรดเกล้าฯให้พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกโดยทันที และยังไม่ทันครบปี ก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือแทนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงษ์วรเดชที่กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เนื่องจากทรงพระประชวร

การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือแทนเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ก็มีความเป็นไปได้ว่า พระองค์อาจจะถูกวางตัวให้ขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในที่สุด เพราะเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมอยู่ด้วย แต่อย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆ จะพบว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็มิได้ทรงแต่งตั้งกรมพระนครสวรรค์ฯเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมตลอดรัชสมัยของพระองค์ จนเมื่อเปลี่ยนรัชกาลแล้ว กรมพระนครสวรรค์ฯจึงได้รับโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

ดังนั้น ในความเห็นของผู้เขียน สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯไม่ทรงแต่งตั้งกรมพระนครสวรรค์ฯเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมจึงไม่น่าจะใช่ประเด็นเรื่องการสืบสายมาจากตระกูลบุนนาคเท่ากับเหตุผลอื่นมากกว่า ส่วนการไม่แต่งตั้งและการปลดกรมหลวงชุมพรฯนั้น ท่านอาจารย์ วรชาติ มีชูบท ได้ทำการค้นคว้าจาก “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2” ของผู้ใช้นามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ” ได้ความดังนี้: “ในตอนต้นปี พ.ศ. 2454 ได้มีเรื่องขึ้นเรื่อง 1, ซึ่งฉันเองก็ตัดสินใจไม่ใคร่จะถูกได้ว่าฉันได้ประพฤติผิดหรือถูก, ฉะนั้นจะต้องเล่าไว้ในที่นี้ตามเหตุผลที่ได้เปนไป. เรื่องนี้คือเรื่องกรมชุมพรออกจากประจำการในกองทัพเรือ, ซึ่งเข้าใจว่าจะมีคนน้อยคนที่รู้ความในตลอด. เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้โดยแจ่มแจ้ง ฉันจำจะต้องกล่าวข้อความย้อนขึ้นไปในอดีตสักหน่อย.

ตามที่เธอได้รู้อยู่แล้ว, แต่เดิมมากรมชุมพรกับฉันได้เคยเปนผู้รักใคร่ชอบพอกันอย่างสนิธ, เพราะนอกจากที่เกิดปีเดียวกัน ยังได้ออกไปศึกษาพร้อมๆ กัน, และเมื่อกลับเข้ามากรุงเทพฯ แล้ว ฉันก็ยังได้ช่วยเหลือในกิจธุระส่วนตัวกรมชุมพรเปนหลายคราว. ฉนั้นต่อๆ มาฉันจึ่งรู้สึกประหลาดใจและเสียใจเปนอันมากที่ได้สังเกตเห็นว่า, จำเดิมแต่เวลาที่หญิงทิพสัมพันธ์ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระชายาของกรมหลวงชุมพรฯ/ผู้เขียน) ตายไปแล้ว, กรมชุมพรดูตีตนห่างจากฉันออกไปทุกที

ในชั้นต้นฉันเข้าใจเอาเองว่า คงจะเปนเพราะกรมชุมพรกับพระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง-ชูโต, ต่อมาเปนพระยามหาโยธา) ได้เกิดผิดใจกันขึ้น, และพระยาราชวังสันเปนผู้ไปมาหาสู่ฉันอยู่เสมอ, กรมชุมพรจึ่งพลอยไม่ชอบฉันไปด้วย. แต่ฉันรู้สึกว่าสาเหตุเพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะทำลายความไมตรีระหว่างกรมชุมพรกับฉัน, ฉันจึ่งตั้งต้นแสวงหาสาเหตุต่อไป. ฉันรู้อยู่ดีว่า กรมชุมพรนั้น, ถึงแม้ท่าทางและปากพูดเก่งก็จริง, แต่ที่แท้มิใช่คนที่มีใจหนักแน่นปานใดนัก, เปนคนที่ลังเลและเชื่อคนง่าย,

ฉะนั้นฉันจึ่งเริ่มต้นมองหาตัวผู้ที่เปน ‘ครู’ ของกรมชุมพร. ฉันได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า กรมชุมพรเคยฝากตัวเปนศิษย์กรมราชบุรี, และมีความนิยมตามกรมราชบุรีหลายประการ, มีสำแดงตนเปน ‘ผู้ชอบเปนอิศระ’ และถือพวกถือก๊กเปนที่ตั้ง. โดยนิสสัยของพระองค์เอง กรมชุมพรชอบพูดอวดดีแสดงความกล้าหาญและมีวิทยาอาคมอย่างแบบเก่าๆ, สักลายไปทั้งตัว, และ ‘ขลัง’ อะไรต่างๆ, มีพวกหนุ่มๆ นิยมอยู่บ้างแล้ว: ครั้นได้ไปฟังคำสั่งสอนของกรมราชบุรีเฃ้าด้วยก็เลยบำเพ็ญเปนหัวโจกมากขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่หก)

กรมพระนครสวรรค์ฯ                                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ                       กรมหลวงชุมพรฯ

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เปนสาเหตุที่จะทำให้พร่าไมตรีกับฉัน, เพราะกรมราชบุรีเปนผู้ที่ชอบพอกับฉันโดยสม่ำเสมอตลอดมา, คงไม่ยุให้กรมชุมพรแตกกับฉัน. ฉันได้สืบแสวงไปจนได้ความว่า กรมชุมพรได้เกิดชอบพอกับกรมหลวงประจักษ์, ก็เข้าใจได้ทันทีถึงเหตุที่กรมชุมพรเกิดไม่ชอบฉัน, เพราะกรมหลวงประจักษ์เปนผู้ที่ไม่ชอบฉันอย่างยิ่ง, และพยายามให้ร้ายแก่ฉันอยู่เสมอๆ

ที่ฉันรู้ได้โดยแน่นอนว่ากรมชุมพรตกไปอยู่ในอำนาจของกรมหลวงประจักษ์นั้น เพราะได้เกิดคดีขึ้นเรื่อง 1 ซึ่งถ้าเปนแต่โดยลำพังตัวกรมชุมพรคงมิได้เปนการใหญ่โตเลย. เหตุมีนิดเดียวที่พวกเด็กๆ ของฉันได้พาไปเล่นกันอยู่ที่สนามหน้าวังสราญรมย์, มีนักเรียนนายเรือ 2 คนเดินผ่านไปทางถนนสนามชัย, อยู่ดีๆ ก็ตรงเข้าไปขู่พวกเด็กๆ ของฉันว่า ห้ามไม่ให้หัดทหาร, จึ่งเกิดเปนปากเสียงกันขึ้น

ฉันจึ่งให้พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล), ซึ่งเวลานั้นเปนหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของฉัน, มีจดหมายต่อว่าไปยังผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ, และขอให้สั่งสอนว่ากล่าวพวกศิษย์ให้เข้าใจเสียว่า การที่เด็กอื่นๆ ปรารถนาจะฝึกหัดให้อกผายไหล่ผึ่งบ้าง ไม่ใช่กงการอะไรของนักเรียนนายเรือจะมาห้ามปราม ฉันเข้าใจว่าเมื่อให้มีจดหมายไปเช่นนั้นแล้วก็คงเปนอันจบเรื่องกัน

ฉนั้นฉันประหลาดใจมากเมื่อวัน 1 ฉันได้ถูกพระเจ้าหลวงรับสั่งให้หาเข้าไปในที่รโหฐานและทรงต่อว่าเรื่องที่ให้เลขานุการมีหนังสือไปขู่ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ นัยว่ากรมชุมพรตกใจและเกรงกลัวภยันตราย จึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล, เพื่อขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง. ทูลกระหม่อม (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ/ผู้เขียน) ทรงสั่งสอนว่า ฉันจะได้เปนใหญ่เปนโตต่อไป, ต้องระวังอย่าทำให้ผู้น้อยนึกสดุ้งหวาดหวั่นต่ออำนาจอาชญาอันอาจต้องรับกรรมความดาลโทษะของฉัน. ฉันก็รับพระบรมราโชวาทใส่เกล้าฯ โดยมิได้แก้ตัวว่ากระไร, เพราะเห็นว่าพระเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะให้เรื่องสงบไป

ในวันเดียวกันนั้นเอง บริพัตร์, ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ, ได้ตามออกมาจากวังสวนดุสิตไปหาฉันถึงที่วังสราญรมย์, แสดงความเสียใจ และขอโทษในการที่ฉันต้องถูกกริ้วโดยไม่มีมูลอันควรเลย, และออกตัวว่า เธอเองมิได้รู้เห็นในคดีนั้นจนนิดเดียว, เพราะกรมชุมพรมิได้นำเรื่องเสนอเธอก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล. ต่อเมื่อองค์อุรุพงศ์ เล่าให้ฟังว่าฉันถูกกริ้ว บริพัตร์จึ่งได้รู้เรื่อง, และรับว่าจะต่อว่ากรมชุมพร และจะขอให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีกเปนอันขาด. เมื่อฉันได้ทราบเรื่องตลอดแล้วก็รู้แน่ว่าแก่ใจว่า กรมชุมพรคงได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, ผู้ชอบก่อเหตุน้อยเปนใหญ่เช่นนี้เสมอ.

นับจำเดิมแต่เมื่อได้ตกไปอยู่ในอำนาจกรมหลวงประจักษ์แล้วไม่ช้า กรมชุมพรได้ทอดทิ้งการงานทางทหารเรือมากขึ้นเปนลำดับ, จนนับว่าไม่มีเยื่อใยอะไรในกองทัพเรือ นอกจากยังคงเปนหัวโจกของทหารหนุ่มๆ บางคนอยู่เท่านั้น. ในยุคนั้นกรมชุมพรได้ริอ่านทำการค้าขาย, คือตั้ง ‘บริษัทชุมพร’, มีพวกนายทหารเรือหนุ่มๆ ถือหุ้นอยู่หลายคน; บริษัทนั้นกระทำกิจไม่เปนผลสมปรารถนา, เกิดมีหนี้สินรุงรังขึ้น, จึ่งต้องขอพระราชทานกู้เงินพระคลังข้างที่ไปใช้, และพระเจ้าหลวงทรงยึดที่ดินไว้เปนประกัน, รับสั่งว่าถ้าประพฤติเรียบร้อยต่อไปจึ่งจะพระราชทานคืนให้. โดยความแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, กรมชุมพรจึ่งได้ริอ่านหาความชอบในส่วนพระองค์พระเจ้าหลวงโดยอาการ…ในชั้นต้น, เมื่อทรงเริ่มจัดสร้างที่สวนพญาไท, กรมชุมพรรับอาสาปลูกผักที่นั้น, ทุกๆ เดือนได้มีผักเข้าไปถวายคราวละหลายถาด, ซึ่งกราบทูลว่าผักที่ปลูกที่พญาไท, แต่ซึ่งที่แท้เที่ยวหาซื้อเอาดื้อๆ

การหลอกพระเจ้าหลวงเช่นนี้ อย่างไรๆ ก็คงเปนความคิดของ ‘ครู’, เพราะตัว ‘ครู’ ก็ประพฤติเปน ‘ลิงหลอกเจ้า’ อยู่เช่นนั้นเสมอ, และสำคัญเสียว่าพระเจ้าหลวงท่านไม่ทรงรู้เท่า; แต่ฉันเชื่อแน่ว่าพระเจ้าหลวงท่านทรงรู้เท่าดีทีเดียว, ความชอบจึ่งไม่ได้แก่กรมชุมพรสมปรารถนา. ต่อนั้นจึ่งกลายเปนช่าง, รับอาสาเขียนรูปภาพต่างๆ ติดผนังห้องเฝ้าในพระที่นั่งอัมพร, แต่ก็ไม่เห็นได้ทำอะไรเปนชิ้นเปนอันเหลือไว้เลย. นอกจากเปนช่างเขียนเกิดเปนนักดนตรี, มีน่าที่สำคัญคือกะวางลำสำหรับลคอนนฤมิตร์ของกรมนราธิป. กิจการอันท้ายนี้เปนเหตุให้กรมหลวงประจักษ์กับกรมนราธิปเกิดบาดหมางกันจนเปนเหตุใหญ่โต, ดังได้แสดงมาแล้ว ณ แห่งอื่น

การที่กรมชุมพรไม่ไปทำงานทางทหารเรือเลย แต่ก็คงได้รับเงินเดือนอยู่เต็มที่นั้น, นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับนายทหารผู้น้อยผู้ไร้สติ. ประการ 1 พวกศิษย์พากันเห็นไปเสียว่าครูของตนเปนคนสำคัญเหลือประมาณ, อย่างไรรัฐบาลก็ต้องง้อไว้ใช้. อีกประการ 1 ทำให้พวกหนุ่มตีราคาตนสูงเกินควรไป, คือพากันเฃ้าใจเสียว่าถ้าเปนผู้มีวิชาแล้วจะทำงานหรือมิทำก็ต้องเลี้ยง. ข้อที่ร้ายคือกรมชุมพรชอบพูดฟุ้งสร้านต่างๆ ให้พวกศิษย์ฟังอยู่เนืองๆ, ชอบนินทาผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปให้ผู้น้อยฟัง, จึ่งทำให้พวกหนุ่มพากันฟุ้งสร้านไปเปนอันมาก

ผลร้ายของการสอนไม่ดีของกรมชุมพรได้มากระทบหูฉัน, คือเมื่อวันที่ 3 เมษายน พระยาราชวังสัน, ซึ่งเวลานั้นเปนผู้บัญชาการเรือกลและป้อม, ได้เล่าให้ฉันฟังว่า ในการที่ฉันได้สั่งอนุญาตให้จ่ายเงินเพิ่มค่าเดิรทเล, ซึ่งได้คั่งค้างมาหลายปีแล้วนั้น, ได้มีนายทหารเรือผู้ 1 กล่าวว่า ฉันต้องสั่งอนุญาตเช่นนั้นเพราะกลัวว่า ถ้าไม่จ่ายพวกเขาจะ ‘เอาเรือไปลอยเสียที่ปากน้ำ’, ซึ่งตีความกันว่าพวกเขาจะ ‘สไตร๊ก’. พระยาราชวังสันว่าจะไปขออนุญาตทำโทษนายทหารผู้นั้นให้เปนตัวอย่าง. แต่ฉันรับสารภาพว่าในเวลานั้นฉันยังหวาดหวั่นอยู่ด้วยเรื่องข้าราชการกระทรวงยุติธรรมหยุดงาน, เกรงว่าถ้าทหารเรือหยุดงานบ้างจะทำความลำบากมากกว่าอีก

ความฟุ้งสร้านต่างๆ ของทหารเรือหนุ่มๆ มีอยู่เปนเอนกประการ, และปรากฏว่ากรมชุมพรแทนที่จะตักเตือนห้ามปราม, กลับพอใจส่งเสริมพวกหนุ่มอยู่เสมอ, ฉันจึ่งทำใจว่าต้องให้กรมชุมพรออกจากประจำการเสียคราว 1 เพื่อกำราบให้ละพยดลง, และจะได้เปนการรักษายุทธวินัยในกองทัพเรือได้ดีกว่าทางอื่น เสนาบดีทหารเรือนั้น, แม้ได้รู้เรื่องอวดดีฟุ้งสร้านต่างๆ ของพวกศิษย์กรมชุมพร และรู้ความบกพร่องของกรมชุมพรอยู่ดีก็จริง, แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรให้แตกหักลงไปได้เลย, เพราะเปนคนขี้วิตกและขี้เกรงใจ. ถ้าขืนทอดทิ้งช้าไว้ฉันเกรงอยู่ว่าความสำเร็จเด็ดฃาดและอำนาจในกองทัพเรือจะไปตกอยู่ในมือกรมชุมพร, ซึ่งในเวลานั้นยังคงชอบกับกรมหลวงประจักษ์, ซึ่งน่ากลัวอันตรายมาก

ครั้น ณ วันที่ 6 เมษายนได้มีประชุมเสนาบดีสภาตามธรรมดา, แล้วฉันจึ่งได้พบพูดเรื่องกรมชุมพรกับน้องชายเล็ก และกรมนครไชยศรี . ท่านทั้งสองนี้ก็ออกความเห็นว่าควรให้กรมชุมพรออกเป็นกองหนุนเสียคราว 1, เพื่อให้กรมชุมพรเองรู้สำนึกว่าจะนอนกินเงินเดือนอยู่เฉยๆ ไม่ได้, และให้พวกศิษย์รู้สึกว่าครูมิใช่คนสำคัญเท่าที่เขาทั้งหลายตีราคาไว้

ต่อมาวันที่ 8 เมษายนฉันจึ่งได้มีโอกาสให้หาเสนาบดีทหารเรือเข้าไปพูดจาเรื่องนั้น, และฉันได้ชี้แจงความเห็นของฉันให้ฟังโดยพิสดาร. ดูท่าทางบริพัตร์ออกจะวิตกอยู่, คือเกรงว่า ถ้าให้กรมชุมพรออกพวกนายทหารที่เปนศิษย์จะหัวเสียและอาจจะทำบ้าอะไรได้ต่างๆ มีลาออกพร้อมกันเปนต้น. แต่ลงปลายก็รับว่าผู้ที่ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว จะให้ทำราชการในตำแหน่งน่าที่สำคัญไม่ได้อยู่เอง, แล้วและเลยกล่าวขึ้นว่าเห็นควรให้วุฒิชัย เปนเจ้ากรมยุทธศึกษาแทน, ฉันก็ตกลงเห็นชอบด้วย

ครั้น ณ วันที่ 11 เมษายน ฉันได้รับจดหมายจากบริพัตร์แสดงความวิตกต่างๆ ในการที่จะให้กรมชุมพรออกจากราชการประจำ; แต่ความเห็นของฉันก็ยังมียืนอยู่ตามเดิมว่าต้องให้ออก, เพื่อรักษาอำนาจแห่งราชการ. ฉันได้ส่งจดหมายของบริพัตร์ไปให้น้องชายเล็กและกรมนครชัยศรีดู, ก็ได้รับตอบในวันรุ่งขึ้น ว่าไม่ควรรั้งรอไว้อีกต่อไป, ฉันจึ่งได้ตกลงตอบไปยังบริพัตร์ สั่งให้กรมชุมพรออกจากประจำการกรมทหารเรือ หนังสือต่างๆ เนื่องด้วยเรื่องนี้มีอยู่บริบูรณ, รักษาไว้ที่กรมราชเลขาธิการ ต่อมาอีกไม่ช้า, ใน พ.ศ. 2454 นั้นเอง, กรมชุมพรได้ขอเข้ารับราชการในกองทัพเรือตามเดิม ที่ฉันรับเอาเข้าทำราชการกรมมหาดเล็กนั้น เพราะต้องการควบคุมให้ได้สดวกประการ 1, กับอีกประการ 1 ฉันบังเกิดความรู้สึกกระดากขึ้นในใจว่าอาจจะได้ประพฤติต่อกรมชุมพรข้อนข้างแรงเกินไปสักหน่อย เมื่อคำนึงดูว่าทั้งผู้ที่เปนโจทก์ ทั้งผู้ที่ได้เปนที่ปรึกษาในเมื่อวินิจฉัยคดีนั้นเปนผู้ที่ไม่ชอบกับกรมชุมพรส่วนตัวอยู่. แต่กรมชุมพรก็มีความผิดจริงอยู่ด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วซึ่งจะละเลยเสียทีเดียวนั้นก็หาได้ไม่.”

ข้อความข้างต้นมาจาก “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2” ของผู้ใช้นามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ” และเจ้าของนามแฝงนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชบันทึกดังกล่าว ได้ทรงพระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) (https://www.silpa-mag.com/history/article_31726) และเป็นเหตุผลในการปลดกรมหลวงชุมพรฯจากฝ่ายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แต่ยังไม่พบเหตุผลในการไม่แต่งตั้งกรมพระนครสวรรค์ฯ หรือ “บริพัตร์” ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม