ความเหลื่อมล้ำของการมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทย
โดย...รองศาสตราจารย์.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
****************************
สังคมไทย เป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำปรากฏในหลายมิติ เช่น ด้านเศรษฐกิจ รายได้ การศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงในเรื่องกิจกรรมทางกาย (physical activity) ซึ่งประเด็นหลังนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครพูดถึง ทว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเราทุกคน และเป็น 1 ใน 5 เรื่อง ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การตายก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกเมื่อกล่าวถึง “ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมของการมีกิจกรรมทางกาย”
เรื่องดังกล่าวนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ประชาชนคนไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญ แต่ประชากรทั่วโลกต่างกำลังประสบและต้องหาทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน จากการเปิดเผยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า “ผู้ใหญ่ 1 ใน 4 และเด็กและวัยรุ่น 4 ใน 5 ขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ” “ผู้สูงอายุหรือผู้พิการขาดโอกาสการเข้าถึงการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม” “ผู้หญิงมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าผู้ชาย” และ “กลุ่มประเทศที่มีร่ำรวยขาดการมีกิจกรรมทางกายสูงกว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย”
แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) ข้อมูลจากการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกาย จะพบว่า ในภาพรวมคนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงขาดโอกาสในการเข้าถึงและได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่น้อย สถานการณ์ดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มช่องว่างของความเท่าเทียมสร้างความเหลื่อมล้ำในการมีกิจกรรมทางกายให้กว้างมากยิ่งขึ้น แม้จะจริงอยู่ที่ว่า ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กันทุกคน แต่ข้อมูลบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่เผชิญความเหลื่อมล้ำได้รับผลกระทบมากที่สุดและฟื้นตัวช้าที่สุด นับเป็นสัญญานเตือนให้พวกเราหันมาตระหนักและให้ความสำคัญที่จะช่วยกันผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้คนไทยทุกคนมีโอกาสอย่างเป็นธรรมในการได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างเท่าเทียม เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทั้งมิติด้านร่างกายและจิตใจที่ดีต่อไป
กิจกรรมทางกาย คือ อะไร สำคัญอย่างไร “กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วยการออกแรงจากการทำงาน การเดินเท้าและใช้จักรยานสัญจร รวมทั้งการออกกำลังกาย เล่นกีฬาและนันทนาการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ซึ่งหากเรามีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงดี กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ทำงานได้ดีด้วย ที่และสำคัญจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคอ้วนลงพุง และหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองส่งเสริมและสนับสนุนให้บุตรหลานมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอก็จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการและการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมให้ประชากรในประเทศมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจึงเป็นวาระที่สำคัญที่ควรถูกผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่ขาดโอกาสและเผชิญความเหลื่อมล้ำมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในสังคม
5 กลุ่มคนที่กำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำด้านการมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทย จากข้อมูลจากการวิเคราะห์ของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมด้านกิจกรรมทางกายของคนไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่ากังวลต่ออนาคตทางสุขภาพ โดยหากพิจารณาจากร้อยละของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอภาพรวมของคนไทยในปี 2564 ที่ร้อยละ 63.0 พบว่า มีประชากรหลายกลุ่มที่มีร้อยละของการมีกิจกรรมทางกายที่น้อยกว่าประชากรภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่กำลังประสบความเหลื่อมล้ำมากที่สุดอย่างน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน คนที่ไม่ได้เรียน คนที่ไม่มีอาชีพ และผู้มีรายได้น้อย
ซึ่งข้อมูลชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่ 1 “ผู้หญิงมีอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ” (น้อยกว่าภาพรวม ร้อยละ 3.0) เพราะไม่ว่าสถานการณ์ทางสังคมจะเป็นเช่นไร การมีกิจกรรมทางกายของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมาโดยตลอด ผู้หญิงยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเคลื่อนไหวและมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ กลุ่มที่ 2 “เด็กและเยาวชนเป็นช่วงวัยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอน้อยที่สุด” (น้อยกว่าภาพรวม ร้อยละ 33.8) โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี กิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำแบบคงที่ ในขณะที่วัยทำงานและผู้สูงอายุกลับมีเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ 3 “กลุ่มคนที่ไม่ได้เรียนและเรียนน้อยมีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด” (น้อยกว่าภาพรวม ร้อยละ 4.0) เพราะยังคงมุ่งเน้นการประกอบอาชีพและทำมาหาเลี้ยงชีพมากกว่าการให้ความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ
กลุ่มที่ 4 “ผู้ไม่มีงาน ไม่มีอาชีพ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่น” (น้อยกว่าภาพรวม ร้อยละ 16.5) โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การที่ต้องตกงาน ไม่มีอาชีพหรือไม่มีงานทำ ทำให้ขาดรายได้ที่เพียงพอต่อการแสวงหาช่องทางการเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกาย กลุ่มนี้จึงมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่ากลุ่มที่มีอาชีพอื่น ๆ และกลุ่มที่ 5 “กลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ” (น้อยกว่าภาพรวม ร้อยละ 7.6) เพราะรายได้ที่น้อยจึงทำให้มีข้อจำกัด อุปสรรคและขาดโอกาสการเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ ไปด้วยดังนั้น เพื่อการจัดการลดความเหลื่อมล้ำในประชากร
ทั้ง 5 กลุ่มข้างต้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอที่มากยิ่งขึ้นตามหลัก “เท่าเทียมและเป็นธรรม” โดยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลัก ๆ ต่อไปนี้ 1) การสื่อสารและรณรงค์ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายและสร้างการรับรู้ระดับสาธารณะ 2) การจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงสถานที่และพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัย และราคาไม่แพง เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและมีกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น และ 3) จัดให้มีกิจกรรมและบริการด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม หลากหลาย ครอบคลุมและสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน และได้รับความร่วมมือจากภาครัฐให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่
1) เสริมสร้างระบบสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายให้มีกลไกและงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายอย่างเท่าเทียม 2) ใช้นโยบายและกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย เล่นกีฬา และสร้างจูงใจให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายผ่านสถานที่ พื้นที่และบริการที่จัดเตรียมไว้ และ 3) สร้างความร่วมมือกันกับภาคส่วนต่าง ๆ เชิงระบบเพื่อสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น การจัดทำตัวแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีความเท่าเทียมและความเป็นธรรมที่ยั่งยืนและสามารถวัดผลได้ เป็นต้น
อ้างอิง
1. World Health Organization. (2021). Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people. Retrieved from https://www.who.int/publications/i/item/WHO-HEP-HPR-RUN-2021.1
2. Guthold R, et al. (2018). Worldwide trends in insufficient physical activity from 2001 to 2016: a pooled analysis of 358 population-based surveys with 1.9 million participants. The Lancet Global health.2018;6(10):e1077-e86
3. Guthold R, et al. (2020). Global trends in insufficient physical activity among adolescents: a pooled analysis of 298 population-based surveys with 1.6 million participants. The Lancet Child & adolescent health. 2020;4(1):23-35
4. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (TPAK) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียง งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล