posttoday

"ชลิตา"ฟ้องกลับ"ผู้กองปูเค็ม"หมิ่นประมาท กล่าวหามีแนวคิดกบฏ

01 พฤศจิกายน 2562

“อ.ชลิตา” ฟ้องกลับหมิ่นประมาท “ผู้กองปูเค็ม” กล่าวหามีแนวคิดกบฏ คดีศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ม.ค.ปีหน้า

“อ.ชลิตา” ฟ้องกลับหมิ่นประมาท “ผู้กองปูเค็ม” กล่าวหามีแนวคิดกบฏ คดีศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ม.ค.ปีหน้า

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ย. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินทางมาพร้อม นายพิสุทธิ์ อังจันทร์เพ็ญ ทนายความ ยื่นฟ้อง "ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล" หรือผู้กองปูเค็ม เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328

ทั้งนี้ นายพิสุทธิ์ ทนายความ ได้สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อโจทก์ 4 กรรม ครั้งที่ 1 วันที่ 2 ต.ค.62 จำเลยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กชื่อ ผู้กองปูเค็ม เชิญชวนให้คนไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 3 ต.ค.62 เวลา 10.00 น. เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์ ต่ออธิการบดี กล่าวหาว่าโจทก์กระทำการปลุกปั่น แบ่งแยกดินแดน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1

ครั้งที่ 2 ก็เมื่อวันที่ 3 ต.ค.62 จำเลยเฟซบุ๊กไลฟ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตร กล่าวหาว่าโจทก์มีแนวคิดเป็นกบฏ ครั้งที่ 3 วันที่ 3 ต.ค.62 หนังสือร้องเรียนของจำเลย กล่าวหาโจทก์ว่ามีแนวคิดกบฏ แบ่งแยกรัฐ แบ่งแยกดินแดน และครั้งที่ 4 วันที่ 31 ต.ค.62 จำเลยโพสต์ข้อความว่า “การแอบอ้างเสรีทางวิชาการเพื่อแบ่งแยกแผ่นดินนั้น ควรถูกตัดหัวเสียบประจานจริงไหมชลิตา”

ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้ง 4 ครั้ง ทำให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะโจทก์ไม่มีแนวคิดตามที่จำเลยกล่าวอ้าง โดยคดีศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์วันที่ 20 ม.ค.63 เวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ นายพิสุทธิ์ ทนายความ กล่าวอีกว่า สำหรับการไต่สวนมูลฟ้อง เราจะใช้ภาพการโพสต์ข้อความของผู้กองปูเค็ม เป็นพยานหลักฐานให้ศาลพิจารณา พร้อมนำ น.ส.ชลิตา ขึ้นเบิกความในฐานะพยานในการไต่สวนมูลฟ้องด้วย การฟ้องครั้งนี้เป็นเพราะการกระทำของผู้กองปูเค็ม ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของ น.ส.ชลิตา ที่เป็นอาจารย์มีลูกศิษย์มากมาย ต้องถูกใส่ความทำให้เสียหาย ทำให้ผู้คนทั่วไปหลงเชื่อ ดูหมิ่นเกลียดชัง มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าในราชการ และต้องการให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมาย

ด้าน น.ส.ชลิตา กล่าวว่า เจตนาของการอภิปรายในวันที่ 28 ก.ย.62 ที่ผ่านมา เป็นการพูดในเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนใต้กับรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ การเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร ต้องปรับอย่างไร แต่ไม่มีข้อเสนอหรือบทสรุปว่าต้องเป็นแบบไหน ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาของประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน แต่การนำคำพูดของตนไปตีความในลักษณะการเป็นกบฏ เป็นการตีความจนเลยเถิด สร้างความเกลียดชัง จึงฟ้องเพื่อปกป้องสิทธิ