posttoday

นายกฯ แจง เตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ

16 กันยายน 2564

นายกรัฐมนตรี แจง เตรียมแผนเผชิญเหตุ 10 มาตรการ รับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “เตรียมแผนเผชิญเหตุ รับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ”

เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ผมได้ลงพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะที่มาจากภาคเหนือ และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางของประเทศ รวมถึง กทม. ซึ่งผมได้รับข้อมูลว่าปัจจัยสำคัญของปริมาณน้ำในช่วงนี้มาจากพายุ 2 ลูก ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ส่งผลกระทบในบางพื้นที่ แต่ในภาพรวมปริมาณน้ำอยู่ในระดับ "ทรงตัว" แล้ว และจากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์น้ำในปีนี้ "ไม่น่าเป็นห่วง" เหมือนปี 2554 แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนหมดหน้าฝน โดยให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์จุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเต็มที่ ตามแผนเผชิญเหตุ โดยคำนึงเสมอว่านอกจากระบายน้ำลงทะเลเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังต้องคำนวณการเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งด้วย

ผมขอเรียนว่า รัฐบาลมีแผนการรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ ในแต่ละลุ่มน้ำ แต่ละภูมิภาค ในช่วงมรสุมของทุกๆ ปี ตั้งแต่ระบบติดตามระดับน้ำ พร้อมทั้งพยากรณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า ซึ่งจะกำหนดเกณฑ์ปลอดภัย เกณฑ์ตัดสินใจเพิ่มการระบายน้ำในแต่ละจุด แต่ละพื้นที่ โดยคำนวณผลกระทบล่วงหน้า การเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ มีหน่วยงาน/ผู้รับผิดชอบตามระดับผลกระทบ มีอนุกรรมการและคณะกรรมการกำกับดูแล มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งแผนเผชิญเหตุแยกเป็นพื้นที่และเป็นภาพรวม ระบบและช่องทางสื่อสารแจ้งเตือนภัย และการตระเตรียมพื้นที่อพยพและพื้นที่ปลอดภัย เป็นต้น (สำหรับปี 2564 นี้ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการตาม 10 มาตรการ ตามภาพประกอบ)

ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้างเขื่อน-ประตูน้ำ ขุดลอกคูคลองสาขา จัดระเบียบที่อยู่อาศัยชุมชนที่รุกล้ำลำคลองสาธารณะ และกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 19 จังหวัด ภาคกลางและตะวันออก รวมกำจัดผักตบชวากว่า 5 ล้านตัน

หลักการสำคัญที่รัฐบาลเน้นย้ำมาตลอดคือ การแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก การบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำนองและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ทั้งคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย (เพื่อรองรับน้ำท่วมที่รอบปี 50 ปี) และคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3 (เพื่อรองรับน้ำท่วมที่รอบปี 100 ปี) ทั้งนี้เป้าหมายหลัก นอกจากเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศด้วย

ผมขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการที่รัฐบาลได้วางแผนไว้แล้ว และขอความร่วมมือในการอุปโภคบริโภคอย่างสมดุล พื้นที่เพาะปลูกก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับทรัพยากรน้ำ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ด้วย ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำของประเทศครับ