posttoday

"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

06 กันยายน 2558

ผ่าปัญหาคอร์รัปชั่นเมืองไทย ผ่าน"พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ"

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด 

ในห้วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา "คอร์รัปชั่น" เป็นภัยคุกคามลำดับต้นๆ ที่ฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศไทย สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจและสังคมอย่างมิอาจประเมินค่าได้

เนื่องใน “วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ" 6 กันยายนนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้จัดสร้าง "พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ" ขึ้น เพื่อประณามและแฉกลวิธีในการคอร์รัปชั่นรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมถึงจารึกชื่อคนโกง เพื่อให้เป็นที่จดจำของคนรุ่นหลัง

ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยว่า พิพิธภัณท์กลโกงชาติ เป็นเเนวคิดหลักที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อตีแผ่ และประณามผู้กระทำผิดที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา องค์กรฯได้ติดตามคดีสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง คดีเหล่านี้นอกจากจะมีผลกระทบอันรุนเเรงทางด้านเศรษฐกิจเเล้ว ยังสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้ประชาชนได้มีความตระหนักรู้ถึงผลของการทุจริตคอรัปชั่นได้อีกด้วย

พิพิธภัณท์กลโกงชาติ บอกเล่าเรื่องราวความเลวร้ายของปัญหาคอร์รัปชั่นผ่านงานประติมากรรมหุ่นปั้นสำริด พร้อมนำเสนอวีดีทัศน์เเละเอกสารประกอบ โดยจัดเเสดงที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กทม. หลังจากนั้นทางองค์กรฯ จะเจรจากับทาง ปปช. เพื่อขอนำประติมากรรมทั้งหมดไปจัดเเสดงร่วมกับ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลกใกล้กับทำเนียบรัฐบาล ในลักษณะกึ่งถาวร  ขณะที่อนาคตมีความตั้งใจว่า จะเคลื่อนย้ายพิพิธภัณฑ์ไปจัดเเสดงในจุดที่ทางองค์กรฯ ไปทำกิจกรรมด้วย

10 คดีประวัติศาสตร์ "ไม่มีวันลืม"

คำจำกัดความที่เป็นสากลระบุว่า การคอรัปชั่นคือ “กระบวนการบิดเบือนอำนาจโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้”  โดยพิพิธภัณท์กลโกงชาติได้คัดเลือก 10 คดีสำคัญประวัติศาสตร์ ที่สร้างความเสียร้ายเเรงให้ประเทศชาติมานำเสนอดังนี้

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

1. คดีจำนำข้าว

การทุจริตครั้งมโหฬารที่ถูกระบุว่าเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งขั้นตอนการรับจำนำ ขั้นตอนการจัดเก็บข้าว และขั้นตอนการระบายข้าว โดยรัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าตลาด คือตันละ 15,000บาท ในขณะที่ราคาตลาดเฉลี่ย 8,000-9,000บาท และจ่ายเงินเพื่อรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาสูงถึงตันละ 20,000บาท ในขณะที่ราคาตลาดตกที่ 12,000-13,000บาท ท้ายที่สุดมีการประเมินว่า นโยบายดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่รัฐถึง 6 แสนล้านบาท

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

2. คดีทุจริตโรงพัก

ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง  โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 5,848 ล้านบาท ใช้ก่อสร้าง โรงพัก 396 แห่ง ทั่วประเทศ ใช้วิธีการประมูลคราวเดียวจากส่วนกลาง ได้ผู้รับเหมารายเดียว โดยไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ สตช. ไม่มีการสำรวจความต้องการที่แท้จริง ทั้งยังก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จ และผู้รับเหมาทิ้งงานในท้ายที่สุด

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

3. คดีนกน้อยในไร่ส้ม

ระหว่างปี 2547-2549 อสมท. ได้ทำสัญญากับบริษัท ไร่ส้ม แพร่ภาพออกอากาศรายการโทรทัศน์ “คุยคุ้ยข่าว” ทางช่อง  9 โดยกำหนดให้รายการดังกล่าวโฆษณาได้ครั้งละ 5 นาที ถ้าเกินต้องจ่ายให้ อสมท. นาทีละ 2๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการร่วมกันทุจริตโฆษณาเกินกว่าที่ตกลงเป็นเงิน 138 ล้านบาท ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและมีมติว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิด และให้บริษัทเอกชนนั้นชดใช้เงินส่วนที่ไม่จ่ายให้แก่ช่อง

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

4. คดีบางกอกฟิล์มเฟส

จากกิจกรรมการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพต่อเนื่องกันหลายปี ปรากฎว่า สองสามีภรรยาชาวอเมริกันผู้รับจ้างจัดงาน ถูกดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกา ฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ กว่า 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 56 ล้านบาท โดยจ่ายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เพื่อให้ได้สิทธิจัดงานเทศกาลภาพยนต์นานาชาติกรุงเทพฯ (the Bangkok International Film Festival) กับข้อตกลงอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 10ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 330 ล้านบาท  ทางการไทยทราบข่าวและเริ่มสอบสวน เอาผิดกับ นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่าการ ททท. และล่าสุดพบว่ามีความผิดจริง

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

5. คดีโกงลำไย

ในการดำเนินโครงการลำไยอบแห้ง ปี 2547-2548ได้มีการเลือกบริษัทเอกชนที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำลำไยอบแห้งมาดำเนินการรับลำไยสด จำนวน 312 ล้านตัน มูลค่า 3,434  ล้านบาท ไปอบแห้งกำหนดให้อบและส่งคืนแก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ในจำนวน 94 ล้านตัน แต่กลับส่งขาดไป 50 ล้านตัน และมีการนำลำไยเก่าเสื่อมคุณภาพมาสวม

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

6. คดีสนามฟุตซอลโรงเรียน

สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับงบประมาณจากการแปรญัตติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 698 ล้านบาท จัดสรรให้จำนวน 358 โรงเรียน ใน 17 จังหวัด โดยกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ (TOR) ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม นำมาสู่ความเสียหายทั้งในการก่อสร้างเเละการดำเนินงานในเกือบทุกพื้นที่

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

7. คดีคลองด่าน

มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ในปี 2538 ต่อมาในปี 2540 กรมควบคุมมลพิษ โดยนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับพวก ได้เสนอขอปรับงบประมาณเพิ่มจาก 12,800 ล้านบาทเป็น 22,900ล้านบาท เมื่อดำเนินโครงการมีการปรับเปลี่ยนที่ก่อสร้าง การซื้อขายที่ดินมีราคาสูงผิดปกติ และมีปัญหาที่ไม่สามารถออกโฉนดได้

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

8. คดีป้ายโฆษณาป้อมตำรวจ

บริษัทเอกชนทำความตกลงกับตำรวจติดตั้ง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ บนป้อมตำรวจ ป้ายโฆษณาถูกแจ้งว่าเป็นป้าย ประชาสัมพันธ์งานทางราชการตำรวจ แต่มี การแอบแฝงโฆษณา และมีการดัดแปลงเป็น จอ LED ขนาดใหญ่

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

9. คดีปลัดคมนาคม

เกิดเหตุขโมยบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดคมนาคม พบว่ามีเงินสดและทองคำเก็บไว้ในบ้านมูลค่าหลายล้านบาท ปปช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจากการที่ร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ โดย เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2557 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินรวม 19  รายการ มูลค่า 46,141,038 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนทรัพย์สินที่เหลือศาลพิจารณาว่านายสุพจน์ฯ สามารถพิสูจน์ได้บางส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ส่วนคดีอาญาพนักงานอัยการส่งฟ้องแล้ว

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง

10. คดีรถหรูนำเข้าเกรย์มาร์เก็ต

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2553 พบว่าการติดตั้งระบบแก๊สในรถหรูเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีและการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต่อมามีเหตุการณ์ไฟไหม้รถหรู 4 ใน 6 คัน บนรถเทรลเลอร์ ขณะขนส่งจากกรุงเทพฯ ไปยังศรีสะเกษ ที่มีมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท โดยสังคมเชื่อว่าเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ เปิดช่องให้มีการนำเข้า ชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้แก๊สเข้ามาประกอบเป็นคัน

Active Citizens ถึงเวลาที่ต้องตื่นตัว

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าสังคมไทยกำลังตื่นตัวมากขึ้นกับการไม่ยอมรับคนโกงหรือผู้ทุจริตคอร์รัปชั่น

ประมนต์ บอกว่า รอบปีที่ผ่านมามีหลากหลายคดีความที่เกี่ยวของกับการทุจริตเริ่มมีผลเเละถูกตัดสินออกมาให้สังคมรับทราบ โดยเฉพาะหลังการปฎิวัติรัฐประหาร รัฐบาลได้ดำเนินการหลายๆเรื่อง ที่ตอบรับกับสิ่งที่ทางองค์กรฯเรียกร้องมาโดยตลอด ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวเเละสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่คอรัปชั่นหรืออยู่ในวงจรของการทุจริตเองก็ตื่นตัว ที่จะต้องระวังตัวอย่างมากเพราะมีการตรวจสอบติดตามอย่างใกล้ชิด

"คนที่เคยกระทำความผิดไว้เเละคิดว่าจะรอดพ้น ถ้าเห็นสถานการณ์ตอนนี้ โดยเฉพาะคำตันสินในหลายๆ คดี ผมคิดว่า พวกเขาหวาดผวากันพอสมควร"

ประมนต์ บอกว่า เมื่อคอร์รัปชั่นนั้นอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน จึงไม่แปลกที่การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องใช้เวลา

"ต้องใช้เวลา พยายามชักจูงในคนลุกขึ้นมาต่อต้านการทุจริต โดยเฉพาะปีนี้ ที่เราใช้คำว่า พลังพลเมืองหรือ Active Citizens  ถ้าหากเราสามารถทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มคิดว่า ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องคอร์รัปชั่น การทุจริตในอนาคตก็จะยากขึ้น นี่คือเป้าหมายของเรา"

การคอรัปชั่นนั้นมีผลกระทบทั้งทางตรงเเละทางอ้อมกับทุกคน ทางตรงก็คือ ทำให้ผลประโยชน์ที่เราควรจะได้รับจากเงินภาษีนั้นหายไป ทางอ้อมก็คือทำให้เศรษฐกิจโลกเเละเศรษฐประเทศนั้นเเย่  ขณะเดียวกันหากคนของเรามีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นจนเป็นนิสัย  ต่างชาติก็ไม่เลือกที่จะมาทำธุรกรรมด้วย เหตุผลเหลานี้ถ้าทุกคนเห็นด้วยเมื่อไหร่ การมีส่วนร่วมในการต่อต้านก็จะเกิดขึ้น

ภาระหนี้สินของประเทศที่เกิดขึ้น พวกเด็กๆ ที่กำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั่นเเหละที่ต้องรับผิดชอบ เห็นอย่างนี้เเล้ว จะไม่บอกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวได้อย่างไร 

"ผมหวังว่าคนรุ่นใหม่จะคอร์รัปชั่นน้อยลง ถ้าเราไม่หวังว่าคนรุ่นใหม่จะดีกว่าคนรุ่นเก่า มันก็ไม่มีทางที่ประเทศชาติจะดีขึ้นหรอก  ขอให้คนรุ่นใหม่สำนึกในเรื่องนี้เเละคิดว่า การคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น"ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

\"พิพิธภัณท์กลโกงชาติ\" ย้อนรอยคดีคอร์รัปชั่นสะท้านเมือง ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่... ล้างบางคนโกง

ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประมนต์บอกว่า  รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีบทบัญญัติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น  ในอนาคตนักการเมืองที่ถูกตัดสินว่าทุจริต จะหมดสิทธิเล่นการเมืองตลอดชีวิต  ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในรอบต่อไปจะต้องเเสดงผลการเสียภาษีย้อนหลัง ของตัวเองถึง 3 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขามีที่มาที่ไปในเรื่องรายได้อย่างไร  นอกจากนั้นยังกำหนดให้มีการปรับปรุงองค์กรอิสระอย่าง ปปช. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะความรวดเร็วในการทำงานที่สังคมตั้งคำถาม

"เป็นไปได้ว่าเรามีความเห็นต่างเรื่องการเมือง  เราอาจจะมองซ้าย คุณมองขวา เเต่ถ้าเรื่องทุจริต ไม่ว่าคุณจะเป็นเสื้อสีใด ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกันเพราะว่าเราเสียประโยชน์ร่วมกัน คนโกงคุณ เท่ากับโกงเราทุกคน การเมืองเป็นอย่างไรก็ตาม เราต้องการเห็นบ้านเมืองที่ปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องนี้ต้องช่วยกัน" 

พิพิธภัณท์กลโกงชาติ เป็นอีกหนึ่งประติมากรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเลวร้ายของการคอร์รัปชั่น ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้อย่างแจ่มชัด

ชมรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์โกงชาติได้ที่นี่ www.museumofthaicorruption.com

ชมคลิป https://youtu.be/3dGyPoOq910