posttoday

"หนี้กยศ." ไม่จ่าย = ทำลายอนาคตคนอื่น

23 กันยายน 2558

ถึงเวลาที่กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการคนเบี้ยวหนี้

เรื่อง...วรรณโชค ไชยสะอาด

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ. เป็นนโยบายสำคัญที่ให้โอกาสทางการศึกษาและอนาคตการทำงานแก่คนหนุ่มสาววัยเรียนทั้งหลาย ทว่าพฤติกรรม "ชักดาบ" ไม่ยอมชดใช้หนี้ของคนจำนวนหนึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่หลังประสบปัญหาทางด้านการติดตามและจ่ายเงินคืน

ล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ร่วมกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการยึดทรัพย์ลูกหนี้ กยศ.แล้ว 1,020 ราย ขณะที่อีกกว่า 20,000 รายเตรียมเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสมทั้งสองฝ่าย

เป็นหนี้(กยศ.)ต้องชดใช้

ข้อมูลของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ระบุว่า ตลอด 19 ปีที่ผ่านมามีผู้กู้ยืมเงินกยศ.ทั้งหมดประมาณ 4.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ครบกำหนดชำระหนี้ทั้งสิ้น 3.1 ล้านราย ประกอบไปด้วยผู้กู้ทั่วไปซึ่งชำระบ้างไม่ชำระบ้าง 2.1 ล้านราย เข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้จำนวน 1.2 แสน และถูกดำเนินคดีไปแล้ว 8 แสนราย ทั้งนี้ ปีการศึกษา 2558 มีผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ทั้งหมดกว่า 750,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้กู้รายใหม่ ราว 200,000 ราย ซึ่งวัดจากภาพรวมพบว่าจำนวนผู้กู้รายใหม่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจาก กยศ.จำกัดจำนวนผู้กู้ไม่ให้เกิน 200,000 ราย อีกทั้งอัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง จึงทำให้นักเรียน นักศึกษาในสถาบันลดน้อยลงด้วย

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เผยว่า ปี 2558 มีผู้ชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน ประมาณ 2.2 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ชำระหนี้ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างบริษัทติดตามหนี้ โดย ได้คืนประมาณ 3,500 ล้านบาท ต่างจากปี 2557 ที่ได้เงินคืนมา 800 ล้านบาท ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการดำเนินงานของกยศ.เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

"เม็ดเงินในแต่ละปีของกยศ.มาจากงบประมาณแผ่นดินและเงินชำระหนี้ของลูกหนี้ในแต่ละปี หากไม่มีการชำระหนี้ก็เท่ากับตัดโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนในรุ่นต่อไป เป้าหมายใหญ่ของ กยศ. คือลดความเหลื่อมล้ำเเละสร้างความเท่าเทียมกันให้คนในสังคมผ่านการศึกษา ฉะนั้นขอให้เห็นคุณค่าของการได้รับโอกาสและคุณค่าของการส่งต่อโอกาสให้ผู้อื่น ยืมแล้วต้องชดใช้”ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าว

ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย

เมื่อปี 2556 สภาการศึกษา(สกศ.) ได้มีศึกษาสภาพและผลการกู้ยืมเงินกยศ.ในจังหวัดขอนแก่น พบว่า สาเหตุที่ลูกหนี้ไม่ชำระเงินคืน เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ บางคนเข้าใจว่าไม่ต้องใช้ก็ได้ เพราะมีการสอนกันมาระหว่างรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง สำหรับการติดตามและชำระหนี้เงินกู้ พบว่า นักศึกษา 80 % เห็นด้วยที่จะให้มีการบันทึกประวัติผู้กู้ในเครดิตบูโร โดยให้กรมสรรพากรเป็นผู้ติดตามหนี้ และหนี้เงินกู้มีลักษณะเสมือนหนี้ภาษีอากรค้างที่เจ้าหน้าที่สามารถบังคับหนี้ อายัด ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล

"ไม่ใช่ไม่อยากจ่าย เเต่งวดเเรกยังตั้งตัวไม่ทัน ทำงานได้ 2 ปีก็จริง แต่เงินเดือนยังถือว่าไม่มาก การจ่ายทันทีเกือบ 5,000 บาททำให้เสียสมดุลทางการเงินในเดือนนั้นอย่างเเน่นอน ยอมรับว่าเราไม่มีการเตรียมตัวหรือวางแผนการเงินที่ดี แต่ปีหน้าจะขอแก้ตัวใหม่เเละทำเรื่องผ่อนชำระเป็นรายเดือน ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับเเนวทางการใช้จ่ายของตัวเองมากกว่า ขอยืนยันไม่หนีเเน่นอน"

เป็นคำยืนยันของอดีตนักศึกษาเงินกู้กยศ.รายหนึ่งซึ่งยอมรับว่า ชีวิตยังไม่เข้าที่เข้าทางจนพร้อมที่จะชำระหนี้ได้

สุพัชรพร พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง บอกเหตุผลของการไม่ชำระหนี้สั้นๆว่า ยังไม่พร้อม

"เข้าใจว่าเงินไม่เยอะ แต่ภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวยังไม่เข้าที่เข้าทาง ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ จ่ายค่าบ้านและจิปาถะอื่นๆ ก็เลยยังไม่พร้อมสักที อีdอย่างดอกเบี้ยกยศ.ต่ำทำให้กลายเป็นยอดหนี้ลำดับสุดท้ายที่คิดถึง แต่ขอยืนยันว่าไม่เคยคิดหนีอย่างแน่นอน ยิ่งล่าสุดมีข่าวคราวการยึดทรัพย์ออกมาให้เห็น เรายิ่งรู้สึกว่าถึงอย่างไรก็ต้องจ่าย และหากถามว่ารู้สึกผิดต่อเด็กรุ่นใหม่ไหม ก็ขอตอบว่าใช่แน่นอน ทำไมจะไม่รู้สึก” ลูกหนี้กยศ.รายนี้กล่าวด้วยความรู้สึกสำนึกผิด

ไม่จ่าย=ทำลายอนาคตคนอื่น

ภูมิวสันต์ สุวรรณรัตน์ หนึ่งในลูกหนี้กยศ. มองว่า การชำระหนี้เป็นหน้าที่ที่ทุกคนพึงกระทำ แม้จะมีปัญหาในการบริหารจัดการเงินขนาดไหนก็ตาม

"การบริหารเงิน 15,000 บาทต่อเดือนในเมืองหลวงค่อนข้างลำบาก และน้อยครั้งที่จะมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือน ส่วนตัวเป็นหนี้กยศ.3 แสนบาท เนื่องจากกู้ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ มีระยะเวลาการชำระทั้งสิ้น 15 ปี  สามครั้งที่ผ่านมาเมื่อถึงกำหนดเวลา เราจ่ายแบบไม่ต้องคิดมาก แค่นึกถึงโอกาสที่ได้รับจากเงินตรงนี้ แค่นั้นภาพของคนที่ต้องการโอกาสทางการศึกษาเหมือนเราก็ผุดขึ้นมาแล้ว  ถ้าเราไม่จ่ายก็เหมือนทำลายอนาคตคนอื่นโดยตรง

ขณะที่ สุวรรณา พนักงานบริษัทเอกชน บอกว่า มียอดกู้ทั้งหมดประมาณ 2 แสนบาทและเลือกชำระเป็นรายปีติดต่อกันมา 5 งวดแล้ว

“ไม่เคยผิดนัดชำระ ยืมเขามาก็ต้องจ่าย เราจะกันเงินส่วนที่เป็นโบนัสในแต่ละปีไว้จัดการหนี้ในส่วนนี้ ยอมรับตรงๆว่าถ้าไม่มีเงินโบนัสอาจจะลำบาก”

เธอเล่าต่อว่า สมัยเรียน ทางบ้านลำบากและขัดสนมาก พี่ๆน้องๆศึกษาเล่าเรียนพร้อมกันหลายคน ต้องแบ่งเบาภาระพ่อแม่ด้วยการกู้ยืมเงินทุนเพื่อการศึกษา จดจำมาตลอดว่าเงินส่วนนี้เป็นเงินในอนาคตที่ตัวเองต้องชดใช้ การคิดแบบนี้ทำให้มีทัศนคติหรือความเข้าใจที่ดีในเรื่องเงิน

พิชามณชุ์ ลูกหนี้ชั้นดีอีกรายกยศ. เธอเลือกชำระเงินเป็นรายเดือนๆละ 1,000 บาท  โดยมียอดกู้ยืมทั้งสิ้นราว 4 แสนบาท

“1,000 บาทแต่ละเดือนไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนเลย ถ้าทราบรายจ่ายที่แน่ชัดของตัวเองแต่ละเดือนก็จะสามารถกันเงินส่วนที่ต้องชำระหนี้ไว้ได้ คิดฝังไว้ในหัวเลยว่าหนี้ กยศ.เป็นเงินที่ต้องเสีย หากเดือนนี้ไม่จ่ายหรือขัดสนจริงๆ เดือนหน้าก็จะทบไว้ คิดดูตอนเรียน เราไปขอเงินเขาเรียนด้วยข้อกำหนดที่ชัดเจน จบมาแล้วก็ควรทำตามสัญญา คำว่าไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายจะไม่เกิดขึ้นกับคนที่มีความรับผิดชอบอย่างตัวเองแน่นอน รู้สึกเสียดายความรู้ ความสามารถที่แต่ละคนร่ำเรียนมา มีปัญญาเอาเงินของรัฐมา แต่กลับไม่มีปัญญาใช้คืน"

\"หนี้กยศ.\" ไม่จ่าย = ทำลายอนาคตคนอื่น ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และ รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

ยึดทรัพย์...ไม้ตายจัดการลูกหนี้จอมเบี้ยว

หลังจากมีข่าวว่ากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ร่วมกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการยึดทรัพย์ลูกหนี้กยศ. หลังไม่ยอมชดใช้หนี้ตามสัญญา

ดร.ฑิตติมา บอกว่า  การยึดทรัพย์เป็นกระบวนการต่อเนื่องทางกฎหมาย ไม่ใช่นโยบายใหม่ของ กยศ. และนับเป็นขั้นตอนท้ายสุด เพราะก่อนหน้านี้ได้พยายามไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้อย่างถึงที่สุดแล้ว

“ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกันนาน 4 ปีขึ้นไปจะมีการบอกเลิกสัญญา และต้องชำระหนี้ หากไม่ชำระจะถูกฟ้องร้อง และเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้ แต่คุณไม่มีเงิน ขั้นตอนต่อไปก็คือการบังคับคดีเเละยึดทรัพย์ในที่สุด ทั้งหมดเป็นกระบวนการต่อเนื่องตามประมวลกฎหมายแพ่ง

ขวัญระพี จุฬาพิมพ์พันธุ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงมาตรการไกล่เกลี่ยกับนักศึกษาที่กู้เงินกยศ. ว่า กรมบังคับคดีได้ทำ MOU บันทึกข้อตกลงกับกยศ.ที่จะจัดไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี ให้กับกยศ.ในฐานะเจ้าหนี้และนักศึกษาในฐานะลูกหนี้

“ขณะนี้มีคดีที่กยศ. ฟ้องลูกหนี้แล้วศาลพิพากษาออกหมายบังคับคดี ตั้งแต่ปี 2548-2558 รวม 26,149 ราย คิดเป็นวงเงิน 3,250 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้มี 400 ราย เข้าไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีแล้ววงเงินรวม 46 ล้านบาท ซึ่งกรมบังคับคดีจะร่วมกับกยศ. จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามระเบียบกยศ.จะไม่ไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้รายที่เหลืออายุความน้อยกว่า 3 ปี”

สำหรับกรณีกยศ.ระบุฟ้องยึดทรัพย์ กรมบังคับคดีมีหน้าที่ดำเนินการตามคำสั่งศาล โดยลูกหนี้ กยศ.ที่กรมบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์แล้ว 1,020 ราย ทุนทรัพย์ 49 ล้านบาท โดยการยึดทรัพย์ กยศ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จะเป็นผู้นำสืบทรัพย์ของนักศึกษา หากไม่มีจะริบทรัพย์ของผู้ค้ำประกันหรือพ่อแม่และยึดทรัพย์ ได้แก่ที่ดิน บ้าน รถแล้วขายทอดตลาด หักจำนวนหนี้ ดอกเบี้ย และค่าดำเนินการขายทอดตลาด หากมีเงินเหลือจากยอดหนี้ จึงจะคืนเงินให้เจ้าของทรัพย์ ดังนั้นนักศึกษารายค้างชำระหนี้ขอให้ติดต่อ กยศ. หรือกรมบังคับคดี เพื่อเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยผ่อนชำระหนี้ ดีกว่าจะไปสู่การยึดทรัพย์ตามคำสั่งศาล

บทบาทการเข้ามาไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยมีวิธีการไกล่เกลี่ยคือ ลดค่าปรับ ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหรือแม้แต่ลดดอกเบี้ย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ยอมรับได้กับขั้นตอนดังกล่าว

พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา-เครดิตบูโร แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน?

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้กยศ.ไม่สามารถติดตามหนี้จากผู้ค้างชำระได้ มาจากความไม่รู้ว่าผู้กู้ยืมที่เรียนจบแล้วไปทำงานที่ไหน รวมทั้งไม่ทราบที่อยู่ปัจจุบัน เนื่องจากบางคนเปลี่ยนที่อยู่แต่ไม่มีการแจ้งกลับมายังกยศ.

เร็วๆนี้ นโยบายการติดตามหนี้และการแก้ไขปัญหาระยะยาวอาจจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ดร.ฑิตติมา ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาขึ้น โดยเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีความสำคัญมาก เพราะกำหนดให้หน่วยงานสามารถเปิดเผยข้อมูลบุคคลได้ รวมถึงผู้กู้ยืมก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้กยศ.สามารถไปขอข้อมูลบุคคลกับหน่วยงานใดก็ได้ ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา

นอกจากนี้ทางกยศ.จะหาโปรโมชั่นใหม่ๆเพื่อกระตุ้นการชำระหนี้คืนให้มากขึ้น และในปี 2561 จะนำรายชื่อผู้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโรด้วย

“เราจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นเอาจริงเอาจังมากขึ้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป หลักเกณฑ์การคัดกรองผู้กู้ยืม กยศ. ก็จะเข้มงวดมากขึ้นด้วย โดยผู้ที่จะมีสิทธิ์กู้ยืมนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้กู้รายเก่าหรือรายใหม่ ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 และทำกิจกรรมจิตอาสาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงต่อปี อีกทั้งต้องศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) สำหรับระดับปริญญาตรี นิสิต นักศึกษา ต้องเรียนในหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) รับทราบแล้ว จึงฝากเตือนไปยังนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่จะกู้ยืมเงินในปีการศึกษา 2559 ว่า ให้ทุกคนตั้งใจเรียน เพราะหากคุณสมบัติไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะหมดสิทธิ์กู้ยืม”ดร.ฑิตติมากล่าว

ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าของกยศ.ที่ดำเนินการกำราบลูกหนี้จอมเบี้ยวทั้งหลาย จะสำเร็จหรือไม่นั้นคงต้องติดตามกันต่อไป