posttoday

กระบวนการยุติธรรมผิดพลาด "เหยื่อแพะ" รับบาปยังไม่ลด

25 มกราคม 2559

พนักงานสอบสวนบางที่ทำคดีได้แค่ตัวผู้ต้องหาก็จบเลย แต่อาจไม่เคยไปสืบสวนเลยว่าเป็นผู้ต้องหาตัวจริงหรือไม่

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ช่วง เวลาแห่งความโหดร้ายผ่านไป แต่ความทุกข์ทรมานในใจยังคงเหลืออยู่

ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในความผิดที่ไม่ได้ก่อ ไม่อาจปฏิเสธ “กระบวนการยุติธรรม” ที่หยิบยื่นความไม่เป็นธรรมมาให้

หลายคดีมี “แพะ” ผู้บริสุทธิ์หลายรายต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวด เช่นเดียวกับชะตากรรมของ มนัสนันท์ ขานฤทธิ์ วัย 52 ปี มารดาของ กนกพรหม ขานฤทธิ์ อายุ 28 ปี ผู้เคราะห์ร้ายที่ตกเป็น “แพะ” รับบาปในคดีชิงทรัพย์และทำร้ายเจ้าทุกข์ เมื่อปี 2551

ขณะนั้นศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 23 ปี ต่อมาพบว่า “กนกพรหม” ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ ทำให้ครอบครัว “ขานฤทธิ์” ต้องลุกขึ้นต่อสู้ร้องขอความเป็นธรรมให้ลูกชาย แต่เธอก็มืดแปดด้าน ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจขอความเป็นธรรมกับกระทรวงยุติธรรม

ภายหลังยื่นเรื่องกับกระทรวงยุติธรรมและได้รับความคืบหน้า กระทั่งพบว่าลูกชายไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ “มนัสนันท์” กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า การลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งนี้เพื่อให้ลูกชายได้รับอิสรภาพ เพราะเขาไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ และหวังว่าการยื่นเรื่องร้องเรียนครั้งนี้จะช่วยให้ครอบครัวกลับมาอยู่อย่างพร้อมหน้ากัน

ช่วงแรกลูกชายเขียนจดหมายมาหาทุกวัน ระบายความรู้สึกว่าไม่ใช่ ผู้ก่อเหตุและยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงขอให้แม่ช่วยเหลือด้วย

“ขอฝากถึงกระบวนการยุติธรรมควรจะทำคดีให้รอบคอบกว่านี้ เพราะไม่อยากเห็นใครต่อใครต้องตกเป็นแพะรับบาป ทั้งที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิด เพราะนั่นจะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของแพะทุกคน” แม่ของเหยื่อซึ่งทุกข์ทรมานไม่แพ้บุตรชาย ระบุ

ข้อมูลจาก ศูนย์ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีอาญา (แพะ) พบว่า มีประชาชนผู้ตกเป็น “แพะ” เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน รับเรื่องแล้วกว่า 147 เรื่อง เช่น แพะเรื่องยาเสพติดการจับผิดตัว แพะลักทรัพย์ แพะยิงผิดตัว แพะฆ่ารัดคอ แพะบุกรุกที่ดิน แพะฉ้อโกง แพะน้ำมันเถื่อน แพะหายสาบสูญ แพะคดีพระทองคำ แพะคดีบางสะพาน แพะคดีฆาตกรรมแฟนตัวเอง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลศูนย์ช่วยเหลือผู้เสียหายฯ กล่าวว่า ผู้มาร้องเรียนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมและการต่อสู้ทางกฎหมาย การต่อสู้รื้อฟื้นทางคดีต้องดูว่าเรื่องจริงนั้นเป็นอย่างไร ต้องดูน้ำหนักของพนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวน ผู้กล่าวหา และองค์ประกอบการทำผิดกฎหมาย ต้องเข้าใจในตรงนี้จึงสามารถช่วยผู้ต้องหาคดี “แพะ” ได้

“พนักงานสอบสวนบางที่ทำคดีได้แค่ตัวผู้ต้องหาก็จบเลย แต่อาจไม่เคยไปสืบสวนเลยว่าเป็นผู้ต้องหาตัวจริงหรือไม่ แค่ได้ปิดคดีมันก็จบแล้ว โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์เมื่อเกิดขึ้น 1 คดี จับได้แล้วรายงานผลก็ถือว่าจบ ทั้งนี้เรื่องของตำรวจที่เร่งทำคดี พอจบเสร็จก็ไม่ได้สนใจเรื่องของผลคดีว่าผิดถูกอย่างไร พอหลงประเด็นตั้งแต่แรกการทำคดีก็จบหมด” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฉายภาพต้นเหตุผู้เป็นแพะ

พ.ต.อ.ดุษฎี ระบุว่า ส่วนทางผู้พิพากษาเราโทษเขาไม่ได้ และเชื่อว่าศาลก็ต้องดูน้ำหนักคดีแล้วว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอัยการทำหน้าที่หลังตำรวจ ส่วนสำคัญคือทนายความ ชาวบ้านเองที่ไม่เข้าใจ รวมถึงตำรวจที่ทำคดีด้วย ดังนั้นการรื้อฟื้นทำคดีก็จะใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจสอบในการหาผู้กระทำความผิดด้วย อย่างคดี “ปุ๊ วอร์มอัพ” จ.เชียงใหม่ ตรงนั้นเราได้การตรวจดีเอ็นเอและสามารถจับผู้กระทำความผิดตัวจริงได้

“ผู้ตกเป็นแพะส่วนใหญ่ที่ร้องขอความเป็นธรรมมีทุกเรื่อง เช่น เรื่องที่ดินทำกิน การจับผิดตัว การทำร้ายร่างกาย การพยายามฆาตกรรม ฯลฯ ทุกวันนี้มีคนร้องเรียนขอความเป็นธรรมจำนวนมาก แต่บางรายก็ร้องเรียนเพื่อแก้เกี้ยวก็มี เราต้องตรวจสอบให้รอบด้าน การทำงานจะประสานผู้เกี่ยวข้องทางคดีและลดปัญหาระหว่างหน่วยงานราชการด้วย” รองปลัดฯ ระบุ

สุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ บอกว่า ปัญหาบ้านเราต้องยอมรับว่าตำรวจมีอำนาจมากเกินไป ที่ผ่านมาประชาชนร้องเรียนตำรวจเข้ามามากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและการทำคดีที่ไม่เป็นธรรม กระบวนการสอบสวนเกิดความบกพร่องจนทำให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็น “แพะ” รับบาป จึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

“บ้านเรามีแพะอยู่มากกว่าที่คิด คนที่ถูกจำคุกจำนวนไม่น้อยเป็นแพะในคดีต่างๆ ทั้งเป็นแพะโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นแพะโดยสมยอมก็มี เช่น คนนี้ทำผิดแต่ให้คนอื่นมารับโทษแทน แพะ คือเกิดจากความผิดพลาดของตำรวจทั้งนั้นเลยดังนั้นควรมีการแยกงานสอบสวนออกจากงานสืบสวนเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกัน และสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้” สุรพงษ์ ระบุ

สุรพงษ์ เสนอว่า ตำรวจต้องมีการกระจายอำนาจ อาจมีตำรวจบ้าน หรือตำรวจชุมชน เพราะตำรวจในพื้นที่จะทราบดีเมื่อเกิดเหตุหรือคดีความ และชุมชนยังช่วยกันตรวจสอบได้อีกทางหนึ่งด้วย และอัยการหรือศาลเองควรมีกระบวนการลงพื้นที่หาข้อมูลเองในแต่ละคดีด้วย เพราะศาลจะเชื่อมั่นในหลักฐานของตำรวจที่รวบรวมมา และอาจชี้นำไปในทางใดทางหนึ่ง