posttoday

"ล้างบางอูเบอร์"...ถูกกฎหมายแต่ไม่ถูกใจประชาชน?

08 มีนาคม 2560

ข่าวการจับกุมอูเบอร์ข้อหาวิ่งรถผิดกฎหมาย แต่ทำไมกลับได้รับเสียงต่อว่าจากประชาชน

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

หลังจากกรมการขนส่งทางบกไล่จับกุมรถบริการอูเบอร์ (UBER) ในพื้นที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ ข้อหาวิ่งรถผิดกฎหมายไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ สร้างกระแสไม่พอใจให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างยิ่ง

บ้างบอกว่าแท็กซี่อูเบอร์เป็นทางเลือกใหม่ของผู้ใช้บริการในวันที่แท็กซี่มิเตอร์ส่วนใหญ่พึ่งพาไม่ได้ บ้างมองว่ากฎหมายไทยล้าหลัง ปรับตัวและวิ่งไม่ทันการพัฒนาของโลกยุคใหม่  

ผิดกฎหมาย ทำลายระบบขนส่ง

ณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การให้บริการของอูเบอร์นั้นนอกจากผิดกฎหมายโดยตรงแล้ว ยังทำลายรูปเเบบขนส่งสาธารณะในระบบ ขณะเดียวกันยังเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบอาชีพสุจริตด้วย

“ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้พูดคุยกับทางผู้บริหารอูเบอร์แล้วว่าทำอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมายเมืองไทย แต่เขาขอให้เราแก้ไขให้ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการคือ ให้รถส่วนบุคคลสามารถใช้งานในรูปแบบสาธารณะได้ ซึ่งเราชี้แจงว่ากฎหมายไทยแยกชัดเจน ปะปนกันไม่ได้ เพราะระบบควบคุมดูแลต่างกัน แต่เขาก็ไม่ยอม มองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นจุดแข็งของเขาและมีกลุ่มคนที่สนับสนุนอยู่”

ณันทพงศ์ บอกว่า ได้พยายามจัดทำแนวทางแก้ไขพัฒนาระบบแท็กซี่ที่มีอยู่ในกทม. เพื่อปิดช่องว่างที่ประชาชนติติงเข้ามา เช่น ปัญหาการปฎิเสธผู้โดยสาร คุณภาพอันย่ำแย่ของตัวรถ หรือแม้แต่พฤติกรรมของโชเฟอร์ ทุกอย่างกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มมาตรฐาน ขณะเดียวกันยังได้ร่างกฎกระทรวงเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว โดยจะเพิ่มการให้บริการแท็กซี่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า แท็กซี่วีไอพี เพื่อรองรับผู้โดยสารที่ต้องการคุณภาพอีกระดับ 

“ทุกอย่างกำลังพัฒนา กรมการขนส่งทางบกกำลังส่งเสริมให้แท็กซี่เข้าสู่ระบบแอพพลิเคชั่นอย่างทั่วถึง ซึ่งหลายคันก็เริ่มเข้ามาแล้ว เช่น Grab taxi Allthai taxi ฉะนั้นต่อไปนี้พี่น้องประชาชนจะสามารถเรียกรับบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้นเหมือนกับที่อูเบอร์ทำ และการปฎิเสธก็จะลดลง"

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก บอกว่า ภาครัฐพยายามทำความเข้าใจต่อประชาชนเรื่อยมาว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและอะไรคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย หากใช้บริการแบบผิดกฎหมาย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ อันตราย หรือคดีความขึ้นมา ความคุ้มครองที่จะได้รับก็จะลดน้อยลงหรือไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร  

"รัฐไม่นิ่งนอนใจในการปราบปรามผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตามคงไม่ถึงขนาดใช้ยาแรงอย่างม.44 ตามที่ปรากฎเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด"

 

\"ล้างบางอูเบอร์\"...ถูกกฎหมายแต่ไม่ถูกใจประชาชน?

บริการดีที่กฎหมายวิ่งตามไม่ทัน

นิตยสารฟอร์บส ไทยแลนด์รายงานว่า อูเบอร์เป็นกิจการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจ้างพนักงานมากถึง 9,000 คน มีคนขับในเครือข่ายทั่วโลกถึง 1.5 ล้านคน แต่ละเดือนมีคนมากกว่า 40 ล้านคนทั่วโลกใช้บริการอูเบอร์ 

อย่างไรก็ตามอูเบอร์มักเผชิญกับปัญหาด้านกฎเกณฑ์ของทางการและการต่อต้านจากคนขับแท็กซี่ใน 450 เมืองของ 73 ประเทศ

กีรติ ดุกสุขแก้ว หนุ่มออฟฟิศวัย 26 ปี เล่าประสบการณ์ในฐานะคนขับอูเบอร์ให้ฟังว่า สัมผัสได้ชัดเจน ผู้โดยสารนั้นให้เกียรติ ไว้ใจ และรู้สึกดีต่อคนขับอูเบอร์มากกว่ารถแท็กซี่ปกติ

“ผมขับอูเบอร์มาประมาณ 1 ปีแล้ว เริ่มจากใช้บริการก่อนแล้วรู้สึกประทับใจ เห็นเป็นโอกาสสร้างรายได้ที่ดี คิดว่าความโปร่งใสในการให้บริการเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จ ทั้งคนขับและคนนั่ง พวกเขามีความไว้ใจซึ่งกันและกัน สามารถเช็กข้อมูลได้ทั้งหมด เราเป็นใครคุณเป็นใคร ติดตามได้ตลอดเส้นทางว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน” 

กีรติแนะนำว่า แท็กซี่ปกติควรเอาจุดด้อยหรือสิ่งที่ตัวเองกำลังต่อต้านไปเร่งพัฒนาปรับปรุงคุณภาพบริการของตัวเองดีกว่า เพราะการแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนา ขณะที่กฎหมายไทยเองก็ถึงเวลาแก้ไขรองรับกับความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปของสังคม 

“เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือก สุดท้ายใครดีกว่าก็จะอยู่รอด ถ้าคุณทำดีเขาก็เลือกคุณ”

ภาณุวัฒน์ หลาวเพ็ชร์ ผู้ให้บริการอูเบอร์ บอกว่า ความสะดวกและปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนเลือกใช้บริการอูเบอร์ 

“เรียกง่าย โปรโมชั่นดี คิดราคาตามจริง ไม่มีการปัดเศษ ไม่มีการพูดว่าผมไม่มีเงินทอนนะครับ คนที่จะขับได้ก็ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ทุกอย่างมันสะดวก ชัดเจนโปร่งใส คนเลยชอบ ผมเคยขึ้นแท็กซี่กับเพื่อน 5 คน โดนโชเฟอร์บ่นว่า 'จริงๆ 5 คนนี่ขึ้นไม่ได้นะครับ ถ้าไม่ติดไฟเขียวนี่พี่ไล่ลงแล้วนะ' เขาบ่นเราทั้งๆที่ใบหน้าเขายังไม่ตรงกับบัตรประจำตัวที่วางไว้หน้ารถเลย กลายเป็นคนทำผิดกฎหมายมาสอนผู้โดยสารเสียอีก” 

กฤษณะ ยันตรปกรณ์ หนุ่มวัย 35 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับการบริการซึ่งเลือกขับอูเบอร์เป็นอาชีพเสริม บอกว่า ผู้โดยสารพยายามหาทางเลือกที่ดีที่สุดต่อตัวเองอยู่แล้ว 

“ไม่มีปฎิเสธผู้โดยสาร ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกพาไปอ้อมที่ไหน เพราะมีรายละเอียดบน Google Map บอกอยู่แล้ว”

กฤษณะ บอกว่าผู้บริหารอูเบอร์ควรจะพูดคุยกับรัฐบาลไทย ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในข้อกฎหมายหรือทำให้เป้าหมายเดินไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

 

\"ล้างบางอูเบอร์\"...ถูกกฎหมายแต่ไม่ถูกใจประชาชน?

หมือนเอาเด็กมาแข่งกับผู้ใหญ่ 

วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่  บอกว่า เข้าใจว่าประชาชนย่อมอยากเลือกในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีกว่า แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้ชัดเจนก็คือ ภาครัฐจะเอาอย่างไรกับการให้บริการที่ผิดกฎหมาย 

“กลุ่มแท็กซี่ต้องการความชัดเจนจากทางราชการหรือรัฐบาลจะเอาอย่างไรกับเรื่องพวกนี้ รถยนต์ไม่ต้องถูกกฎหมายแต่บริการดีกว่า แบบนี้ใช้ได้ไหม ถ้าได้ พวกผมแท็กซี่กว่าแสนคัน จะได้เลิกจดทะเบียนรถสาธารณะแล้วไปเป็นแท็กซี่ป้ายดำ ใช้รถส่วนบุคคลมาวิ่งกันบ้าง” 

ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ บอกว่า ปัจจุบันต้นทุนการให้บริการของรถแท็กซี่มิเตอร์ทั่วไปนั้นสูงกว่า เพราะราคาถูกกำหนดจากทางราชการ ขณะที่คู่แข่งนั้นทุกอย่างเปิดกว้าง สามารถกำหนดราคาเองได้ จึงเป็นความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันและบริการ

“อีกคนมีกรอบให้แข่ง อีกคนไม่มี ยังไงก็สู้กันไม่ได้ เขาประชาสัมพันธ์ได้ทุกรูปแบบ แต่ของเราไปเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ เปรียบเทียบง่ายๆเหมือนเอาเด็กมัธยมไปลงแข่งสนามเดียวกันกับทีมชาติ” วิฑูรย์ระบุ

 

\"ล้างบางอูเบอร์\"...ถูกกฎหมายแต่ไม่ถูกใจประชาชน?


สะดวกใจที่จะใช้ สบายใจที่จะขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีประชาชนบางกลุ่มเต็มใจที่จะใช้บริการอูเบอร์ แม้กฎหมายไทยจะไม่ยอมรับก็ตาม

ปณาลี ลีฬหะสุวรรณ พนักงานออฟฟิศสาวผู้ใช้บริการอูเบอร์และแกร็บแท็กซี่เป็นประจำ เล่าว่า ได้รับประสบการณ์ในแง่บวกเสมอเมื่อเลือกใช้บริการขนส่งทั้งสองรูปแบบ

เธอไม่เข้าใจว่าเมื่อบริการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เหตุใดกฎหมายถึงไม่ดำเนินการปรับปรุงเพื่อรองรับเสียที

“เราต้องการโอกาสในการเลือกรับบริการ Grab taxiคิดราคาในลักษณะเหมาจ่ายจากจุด A ไปยังจุด B เรารู้ได้ทันทีว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ขณะที่อูเบอร์เป็นการประมาณการณ์ ขึ้นอยู่กับระยะทางและเวลา สำหรับผู้บริโภคในยุคนี้ การมีตัวเลือกทำให้เราประเมินได้ว่า ช่วงเวลานั้นๆเราควรเลือกใช้บริการใด”

ปณาลี ย้อนความให้ฟังว่า ครั้งแรกที่เลือกใช้บริการอูเบอร์มาจากโปรโมชั่นที่น่าดึงดูดและการบริการที่แสนสะดวกสบาย

“แทนที่เราจะนั่งแท็กซี่ธรรมดา จ่ายราคาเต็ม เราเลือกอันที่มีส่วนลดดีกว่าไหม ไม่อยากอารมณ์เสียต้องไปยืนข้างถนนแล้วโบกรถคันแล้วคันเล่า บางที 20 นาทียังไม่ได้ขึ้นเลย เทียบกับอูเบอร์แล้ว เรารู้เวลาที่ชัดเจน ถ้าไม่มีรถก็ไม่ต้องออกไปรอ ทุกอย่างมันวางแผนได้ ถ้าพูดถึงความปลอดภัย เวลากลับบ้านดึก ถ้าไปแท็กซี่เราต้องนั่งคุยโทรศัพท์ตลอดเส้นทาง เพราะผู้ใหญ่ไม่ไว้ใจ แต่ถ้าเป็นอูเบอร์ เขาสามารถติดตามเราได้ตลอดเส้นทางจากจีพีเอสที่เราแชร์ อยู่ตรงไหน ออกนอกเส้นทางหรือเปล่า มันทำให้คนที่บ้านรู้สึกสบายใจ”

มนุษย์เงินเดือนรายนี้ชี้ว่า หากภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพแท็กซี่มิเตอร์ อูเบอร์ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าตลอดไป

“เคยลองเรียกแท็กซี่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เชื่อไหม เราจดเลขทะเบียนได้เป็น 10 คันที่บอกปฎิเสธ แล้วก็โทรไปแจ้งกรมการขนส่งทางบก แต่ถามว่ามันใช่หน้าที่ของเราไหมที่ต้องเสียเวลามาคอยรายงานความผิดมันซะทุกครั้ง เสียเวลาและสู้ไปจ่ายเงินให้กับความแน่นอนดีกว่าปะ” 

\"ล้างบางอูเบอร์\"...ถูกกฎหมายแต่ไม่ถูกใจประชาชน?

ธนกฤต อมาตยกุล นักเดินทางหนุ่ม ระบายว่า การปฎิเสธผู้โดยสารกลายเป็นภาพจำแท็กซี่ในเมืองไทยไปแล้ว ทำให้วันนี้หลายคนอยากได้บริการอื่นที่ดีกว่า 

“แท็กซี่เรียกยาก ชอบปฎิเสธ ในเมื่อคุณไม่รับลูกค้า ลูกค้าเขาก็เปลี่ยนไปที่อื่น คุณอยากปฎิเสธเอง คุณทำตัวเอง แต่กฎหมายล้าหลัง แทนที่จะยอมรับและล้อไปกับสิ่งที่ทำให้ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้น”

ณัฐพร อร่ามกุลชัย ผู้โดยสารอีกราย บอกว่า แท็กซี่มิเตอร์และภาครัฐควรจะเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและเหตุผลที่คนเลือกใช้บริการอูเบอร์มากกว่าการปิดกันและไม่ปรับปรุงกฎหมายให้วิ่งตามทัน

“สะดวก บริการดี คนขับมารยาทเยี่ยม มีใจที่อยากจะบริการจริงๆ รถที่ใช้ก็สะอาดสะอ้าน ได้รับความปลอดภัย เพราะเรามีเบอร์ มีข้อมูลเบื้องต้นชัดเจน ทั้งหมดทำให้เราประทับใจมากกว่าแท็กซี่ปกติ”
 
ทั้งหมดนี้คือหลากหลายความคิดเห็นต่อบริการขนส่งสารธารณะในเมืองไทย ที่ภาครัฐหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับฟัง