"กม.ห้ามนั่งท้ายกระบะไม่เป็นธรรมกับคนทำมาหากิน"เสียงครวญของชนชั้นปิกอัพ
หลากหลายเสียงต่อต้านของอาชีพที่จำเป็นต้องนั่งท้ายกระบะ ต่อกฎหมายจราจราที่ห้ามโดยสารท้ายกระบะ-แคป
เรื่อง...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์
วันแรกของการประกาศใช้มาตรา 44 "ห้ามผู้โดยสารนั่งแคป-นั่งท้ายกระบะ" เกิดกระแสคัดค้านตามมาเป็นวงกว้าง
ประชาชนกว่า 90 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อคนทำมาหากิน โดยเฉพาะอาชีพที่มีความจำเป็นต้องใช้กระบะหลังบรรทุกคน บรรทุกสิ่งของ เช่น รับเหมาก่อสร้าง ส่งน้ำแข็ง รับจ้างจัดสวนตัดต้นไม้ พ่อค้าแม่ค้า บ้างมองว่าบังคับกฎหมายปุบปับรวดเร็วเกินไป บ้างว่าไม่เป็นธรรมกับคนยากคนจน อีกหลายคนเชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
จิตรกร เล็งสาห์ พ่อค้าขายหมูตลาดคลองเตย บอกเสียงหนักแน่นว่า ไม่เห็นด้วย พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ซื้อรถกระบะคันละเกือบล้านเพื่อใช้งานบรรทุกของ บรรทุกคน แต่กลับถูกกฎหมายห้าม สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
"อย่างงานรับเหมาก่อสร้าง เขาก็ต้องขนลูกน้องขึ้นรถจากที่นึงไปทำงานอีกที่นึง ถ้าออกกฎหมายมาแบบนี้ จะซื้อรถกระบะมาทำไม หรือเวลามีงานสำคัญ ไปเที่ยวไหน เขาก็สามารถพาพี่น้องไปด้วยได้ บางคนออกรถมา 7 – 8 แสน พอครอบครัวญาติพี่น้องออกไปด้วยไม่ได้ แล้วจะออกรถมาเพื่ออะไร มีแต่เสียกับเสีย ไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย รถกระบะมันมีประโยชน์ บางคนออกรถมาเพื่อขนสินค้าและขนคน สาเหตุที่เลือกซื้อรถกระบะมีแคปเพราะราคาถูกกว่า ขนของไปขายได้หลายที่ พอไปขายของ ลูกน้องก็นั่งท้ายกระบะไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะให้ไปนั่งตรงไหน เพราะพ่อค้าแม่ค้าไม่ใช้รถเก๋งกันอยู่แล้ว มันทำให้คนค้าขายเดือดร้อน"
เรนู ปานประสิทธิ์ แม่ค้าคนขายขนม มองว่า การห้ามไม่ให้นั่งท้ายกระบะ ข้อดีคือไม่อันตราย หากเกิดอุบัติเหตุคนจะไม่กระเด็นออกนอกตัวรถ แต่ข้อเสียคือ เวลาจะเดินทางไปไหนทั้งครอบครัว หรือมีลูกน้อง ก็จะโดยสารไม่ได้ ทั้งที่สามารถช่วยประหยัดเรื่องเวลา จำนวนคน จำนวนสิ่งของ
"ห้ามนั่งท้ายกระบะข้างนอกพอเข้าใจได้ว่าห้ามทำไม แต่ห้ามนั่งแคปที่อยู่ข้างในนี่ไม่เข้าใจจริงๆ ถ้ามันกลายเป็นรถผิดประเภทแล้วจะทำรถแบบนี้ออกมาทำไม าจะให้ไปซื้อรถประเภทอื่น เช่น รถตู้ที่สามารถโดยสารได้เยอะๆก็ไม่มีเงินขนาดนั้น ถ้ามี 5 คน แต่รถโดยสารไปได้แค่ 4 คน แล้วอีก 1 คนจะทำอย่างไร ให้นั่งแท็กซี่ตามไปเหรอ นี่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุดไป อยากเสนอให้อนุโลมให้นั่งแคปได้ อย่างน้อยก็ยังอันตรายน้อยกว่านั่งท้ายกระบะ"
ด้าน พรทิพย์ นุย์นลำ แม่ค้าขายปลา เล่าว่า สาเหตุที่จำเป็นต้องให้มีคนนั่งท้ายกระบะ เพื่อเฝ้าของไม่ให้ถูกลักขโมย หรือตกหล่น
"จะให้ย้ายมานั่งข้างหน้ากันหมดคงไม่ไหว ไม่มีคนคอยเฝ้าว่าของเราจะหายไหม คิดว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาจากอุบัติเหตุจากจราจรได้ไ อุบัติเหตุมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด ขับรถคนเดียวยังเกิดอุบัติเหตุได้เลย ไม่ต้องเฉพาะเทศกาลหรอก การออกกฎหมายมาก็เป็นเรื่องดี แต่มันปุบปับไป ควรไปเข้มงวดที่ตัวคนขับจะดีกว่า ขับรถมีวินัย ปลอดภัย แก้ปัญหาให้มันถูกจุดดีกว่า"
ขณะที่ ทวีทรัพย์ พงศ์พรทรัพย์ ผู้ประกอบการร้านน้ำแข็ง บอกว่า สำหรับตัวเองแล้ว การห้ามนั่งท้ายกระบะกระทบกับการทำงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในเเง่ความสะดวก ซึ่งพอปรับปรุงได้ คนงานไม่จำเป็นต้องยืนท้ายกระบะ เนื่องจากในการขนส่งน้ำเเข็งมีอุปกรณ์สายรัดดูเเลการเคลื่อนย้ายอยู่เเล้ว
"ห้ามนั่งแคปนั้นเป็นปัญหาเเน่นอน เพราะบรรทุกคนงานได้น้อยลงกฎหมายตัวนี้มีปัญหาในเชิงปฎิบัติมาก โดยเฉพาะหากมองในภาพรวมของผู้ประกอบการธุรกิจลักษณะขนส่งสินค้าในภาพรวมหากเปรียบเทียบการนั่งท้ายกระบะกับรถสองเเถว ความอันตรายเเทบไม่ต่างกันเลย หรือเเม้เเต่รถเมล์ ก็ไม่มีเข็มขัดนิรภัย อันตรายพอกัน ยิ่งบอกไม่ให้นั่งเเคป คำถามคือแล้วคุณจะผลิตออกมาทำไม ไม่ต้องผลิตเเคปออกมาเลยดีกว่าไหม ผมว่าตำรวจควรไปดูเเลเรื่องการขับขี่ผิดกฎหมาย เช่น ย้อนศร เล่นโทรศัพท์ขณะขับ เมาเเล้วขับ จะเข้าท่ากว่า"
สุดท้าย ธราดล ทันด่วน หมอต้นไม้ชื่อดัง ผู้ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องใช้ท้ายกระบะในการขนคนและอุปกรณ์ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายแบบปุบปับกะทันหันย่อมผลกระทบต่อสังคมวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยคนชนชั้นล่างที่เรียกว่า "ชนชั้นปิกอัพ"
"คนพวกนี้เป็นคนทำมาหากิน เป็นคนระดับล่างซึ่งไม่มีปากเสียง เมื่อโดนกวดขันเข้า ก็ต้องยอมจ่ายเงินเพื่อให้จบๆ ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ผ่านมามันไม่ได้บังคับใช้เพื่อผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนของตำรวจ แล้วจู่ๆจะมาบังคับใช้ ผมว่ามีปัญหาแน่ ผมทำงานเกี่ยวกับต้นไม้ รถที่ใช้ก็ต้องขนทั้งอุปกรณ์และคนงาน อาชีพผมคงไม่เดือดร้อนอะไรมาก ก็ไปคิดราคาเพิ่มกับลูกค้าแทน แต่ถ้าบังคับใช้จริงจังมันส่งผลกระทบกันหมด เช่น ผู้รับเหมาทำรถไฟฟ้า รับเหมาสร้างคอนโด ต้องตระเวนไปดูจุดต่างๆ เขาก็ใช้รถกระบะเพื่อขนคนและวัสดุทั้งนั้น แต่กลัวว่าจะทำไม่จริง ตอดเล็กตอดน้อย รีดไถเป็นระยะๆ ผมไม่เชื่อว่าจะทำจริงๆจังๆ แต่บังคับใช้ได้แค่คนชั้นล่างระดับบนเท่านั้น นั่นคือ ชนชั้นปิกอัพ"
ธราดลบอกว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีเริ่มทดลองกับกับรถราชการก่อน แล้วค่อยมาใช้กับรถของประชาชน
"ถ้าเป็นผม ผมจะยังไม่บังคับใช้กับคนทั่วไป เพราะรถของคนทั่วไปมีมากกว่ารถของราชการหลายเท่าตัว อยากให้นายกรัฐมนตรีทดลองทำกับรถราชการทุกคันก่อน โดยเฉพาะข้าราชการที่ขับรถส่วนตัว ควรไปกวดขันให้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกข้อเป็นตัวอย่างให้ได้ก่อนแล้วคนทั่วไปจะทำตาม"
นี่คือหลากหลายเสียงสะท้อนที่กลั่นมาจากความเดือดร้อนของประชาชนที่ยังจำเป็นต้องบรรทุกคน บรรทุกของไว้ท้ายกระบะ