บางระกำ-หัวไผ่ ชุมชนอยู่ร่วมกับน้ำ
เปิดโมเดล2ชุมชนบางระกำ-หัวไผ่ ปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำท่วมนานนับเดือน
เปิดโมเดล2ชุมชนบางระกำ-หัวไผ่ ปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำท่วมนานนับเดือน
หลายที่ต้องประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วม เช่นเดียวกับตำบลหัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และตำบลบางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงราวหนึ่งเมตรครึ่งถึงสองเมตร ยาวนานติดต่อกันหลายเดือน ดังนั้นการดำรงชีวิตอยู่กับน้ำของประชาชนกว่า 5,000 คน จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทางเลือกเดียวที่จะมีชีวิตอยู่รอดและปลอดภัยมากที่สุด คือการรู้จักปรับตัวและต่อสู้กับน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลและความช่วยเหลือกันของเครือข่ายตำบลสุขภาวะภาคกลาง โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ก็ทำให้การเตรียมการเป็นไปอย่างรัดกุมและผ่อนหนักเป็นเบาลงได้ ทำให้ชาวบ้านที่นี่สามารถดำเนินชีวิตต่อสู้อยู่ท่ามกลางน้ำที่ท่วมสูงได้อย่างไม่ยากนัก
ทวีป จูมั่น นายกอบต. หัวไผ่ กล่าวว่าอย่างแรกที่ต้องทำในการอยู่กับน้ำท่วมให้ไม่รู้สึกเครียด ต้องทำให้ทุกคนรู้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่ของใคร มันเป็นปัญหาของเราที่ไม่สามารถท้อถอยได้ ถ้ามัวแต่รอคนอื่นมาช่วยเหลือก็อาจจะแย่ ฉะนั้นเวลาเกิดอะไรขึ้นต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน และทำให้พี่น้องชาวบ้านมั่นใจว่าเราสามารถเป็นที่พึ่งของเขาได้
“การอยู่กับน้ำเป็นเดือนๆ ได้นั้น อันดับแรก คือ เราต้องสร้างความมั่นใจให้เขาก่อน ต้องทำให้เขาเชื่อใจและมั่นใจ รู้ว่าเราไม่ทิ้งเขา เขาสามารถร้องทุกข์กับเราได้ตลอดเวลา ต้องจัดการระบบเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และทำให้อบต. เปรียบเหมือนบ้านของเขา สนับสนุนและดูแลเขาให้เขาช่วยตัวเองให้มากที่สุด อันนี้จะเป็นจุดสร้างคนให้เกิดพลังที่จะต่อสู้อยู่กับน้ำและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
นอกจากนี้ทางอบต.และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเตรียมการวางแผน โดยแบ่งภารกิจกันในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ทุกหมู่บ้านมีศูนย์ของแจกและกระจายการดูแลช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงกัน
“ตรงนี้มันเป็นเรื่องปกติที่เราทำอยู่แล้ว อย่างมีคนเข้าไปแจกข้าวของ ชาวบ้านบางคนก็หวั่นวิตกว่า ของแจกเวียนกันครบทุกหมู่บ้านหรือเปล่า แต่พอเราลงไปแล้วทำให้ดู เขาก็พอใจ เราจัดให้แต่ละหมู่บ้านมีผู้ดูแลรับผิดชอบ 5 คน คือผู้ใหญ่และผู้ช่วยรับผิดชอบหมู่บ้าน ซึ่งจะแบ่งกันเป็นหลังคาเรือน หนึ่งหมู่บ้านมีกี่หลังก็ต้องแบ่งกันรับผิดชอบดูแลปัญหาทั้งหมดให้ทั่วถึง ส่วน อบต.ก็จะดูแลเรื่องน้ำดื่ม ข้าวสารไว้พร้อมที่จะช่วยเหลือ”
ทั้งนี้ทางอบต.ยังได้มีการดูแลคุณภาพชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีรถพยาบาลอยู่ประจำในขณะที่น้ำท่วม รถพยาบาลต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับส่งผู้ป่วยตรงท่าเรือที่ทางอบต.กำหนดไว้ ส่วนผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านก็เช่นกันต้องไม่ปิดโทรศัพท์ เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะประสานงานกันได้อย่างทันท่วงที
“หากทำได้อย่างนี้ประชาชนจึงมีความมั่นใจว่าถ้าเขาเจ็บไข้ เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสองเขาก็สามารถรับบริการได้ทันเวลา เราจึงเน้นหนักจุดสำคัญคือตอนน้ำท่วมเขาจะต่อสายตรงกับเราได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเป็นปัจจัยหลักในการเข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น”
ทั้งนี้ นายก อบต. ทวีป ยังกล่าวต่อว่า แม้ที่นี่น้ำจะท่วมสูงแต่คนส่วนใหญ่เขาก็อาศัยอยู่ที่บ้านชั้นสองกัน จึงสามารถอยู่ได้ เพราะไม่ได้ห่วงเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากชาวบ้านเขาสามารถประกอบอาหารกันกินเอง วัตถุดิบต่างๆเขาก็ออกไปซื้อหาที่ตลาดในเมืองได้ เพราะเราได้จัดให้มีเรือคอยรับส่ง เข้า-ออก ทั่วทุกหมู่บ้าน
“เราจะให้เรือประจำอยู่ทุกหมู่ มีเรือเดินทางให้ เป็นเรือใหญ่หมู่บ้านละ 1 ลำ วิ่งบริการทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงหกโมงเย็น เมื่อออกไปพ้นน้ำท่วมก็จะสามารถต่อรถเข้าไปซื้อหาอาหารในตลาดได้”
อย่างไรก็ตาม นายกอบต. ได้กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ที่นี่แม้จะซื้อกับข้าวกันกิน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะหาปลากินกัน เพราะปลาเยอะ บ้างก็ตกเบ็ดจับปลา ยิ่งตอนนี้ก็จะมีปูนิ่ม ชาวบ้านจึงจับมากินบ้าง ขายบ้าง เราอยู่ด้วยกัน เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันไปเพราะตอนนี้ทุกคนก็ลำบากด้วยกันทั้งนั้น
จากภาวะน้ำท่วมขังมาเป็นเวลานาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมการฟื้นฟูเบื้องต้นไว้ ซึ่งตอนนี้ทางตำบลหัวไผ่ได้จัดการบางส่วนเบื้องต้นแล้ว เพราะบางพื้นที่น้ำค่อยๆ ลดลง ซึ่งการเตรียมการดังกล่าวประกอบด้วย 3 เรื่อง ด้วยกัน
ประการแรก คือเรื่องของอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำประจำของชาวบ้าน จึงต้องประสานกับกรมชลประทานว่าจะสามารถทำนาได้เดือนไหน เพื่อจะได้ชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับทราบ เพราะคนมีอาชีพทำนาก็หวังจะได้ทำนากันเหมือนเช่นเคย
ประการที่ 2 คือการเตรียมในเรื่องของพันธุ์ผักเอาไว้ปลูก โดยทางอบต.บอกกับพี่น้องประชาชนว่าอย่าเพิ่งปลูกขาย เพราะต้องปลูกเอาไว้กินกันในครอบครัวก่อน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกบ้านปลูกไว้
ประการที่ 3 เมื่อ อบต.ลงพื้นที่แล้วเห็นว่าช่วงน้ำท่วมมีปลาเป็นจำนวนมาก จึงให้พี่น้องประชาชนทำเครื่องปลาร้า หรือหมักดองกันไว้มากๆ แล้วทาง อบต.จะเป็นคนรับซื้อไปให้เครือข่ายที่เข้ามาช่วยเหลือและเพื่อสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนอีกทาง
ด้าน ณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาน นายก อบต.บางระกำ ก็ให้ความเห็นเช่นกันว่า การเตรียมการไว้ล่วงหน้า หรือคาดการสิ่งต่างๆ ไว้จะสามารถทำปัญหาที่ใหญ่กลายเป็นสิ่งที่เล็ก และสารมารถแก้ไขหรือหาทางออกได้ เช่นเดียวกับการวางแผนด้านสุขภาพของคนในชุมชนของตนก่อนน้ำจะท่วม
“เรื่องสุขภาพ ก่อนที่น้ำจะท่วมเราเตรียมแผนเรื่องยากับทางสถานีตำบล ยาที่ใช้กันประจำ เราก็เอาไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างเช่น ยาเบาหวาน หรือยาที่กินเป็นประจำ เราก็จะมีการจัดไว้ให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาเรื่องน้ำกัดเท้าเราคงหนีไม่พ้น แต่ก็มียาแจกจ่ายให้เช่นกัน”
แม้ว่าตำบลบางระกำจะมีประชากรจำนวนมาก แต่ณัฐวัฒน์ ก็เชื่อว่าสามารถดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัยก็มีการเตรียมศูนย์อพยพไว้ให้สำหรับบ้านที่มีชั้นเดียวและน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ทางตำบลก็มีโครงการส่งอาหารช่วยเหลือชาวบ้านเบื้องต้นด้วย
“คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะประกอบอาหารกันเองในบ้าน แต่เราก็มีโครงการครัวเพื่อผู้ประสบภัย ซึ่งจะมีอาหารมือเย็นหนึ่งมื้อแจกฟรีทุกวันให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัยในพื้นที่ เรามีแม่บ้านช่วยกันทำเองแจกกินกันเองทั้งตำบล ถ้าบ้านไกลผู้นำชุมชนก็จะนำไปแจก ถ้าบ้านใกล้ๆ ก็มารับเอาเอง”
“แม้ตอนนี้จะมีหน่วยงานต่างๆ ส่งถุงยังชีพและน้ำเข้ามาให้ แต่เราก็คิดแล้วว่าการช่วยเหลืออีกไม่นานก็คงจะน้อยลง ที่นี้เราก็ต้องวางแผนแล้วว่า เราจะช่วยเหลือตนเองอย่างไร ถ้าไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ เราจะช่วยเหลือตัวเอง โดยการนำเงินในส่วนต่างๆ ที่พอมีจากโครงการอื่น ปรับโครงการที่ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน มาทำในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานชุมชนให้ดีก่อน”
เมื่อถามถึงการเดินทางไปไหนมาไหนของคนที่นี่ ณัฐวัฒน์ ตอบทันทีว่า เรืออย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นการเดินทางของคนในหมู่บ้านก็จะใช้เรือ ไม่ว่าจะไปซื้อหาอาหารหรือเดินทางไปข้างนอก แม้ระยะทางจะไกลมากและใช้เวลากันหลายชั่วโมง ดังนั้นอาชีพเรือรับจ้างขับเรือจึงเป็นอาชีพที่คนในหมู่บ้านจะทำกันเพื่อเป็นรายได้ในยามทุกข์ยาก และถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่งเพราะราคาค่าเรือจะไม่มีการเอาเปรียบคนทุกข์ยากเหมือนกัน
ซึ่งตอนนี้อาชีพที่พอทำได้นอกจากเรือรับจ้างแล้ว ก็จะมีรายได้จากการปลูกผักบุ้งตามริมแม่น้ำ ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดี เพราะผักบุ้งตอนนี้ขายดี ชาวบ้านที่ปลูกก็จะลงเรือไปส่งตามที่ท่าเรือแล้วจะมีรถรับส่งไปขายที่ตลาดในเมืองต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกอบต.หัวไผ่และบางระกำต่างมีความเชื่อเช่นเดียวกันว่า ชุมชนของตนสามารถปรับตัวได้ เพราะว่าวันนี้เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร และเราจะช่วยเหลือเขาได้ยังไง แม้เราจะเห็นชาวบ้านพึ่งพาตัวเอง หาปลา หากินตามสิ่งที่พอมีตามวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่อาจเปลี่ยนอาชีพกันบ้าง ดังนั้นผู้นำต้องเป็นที่พึ่งสำหรับเขาทั้งหลาย ทาง อบต.จะทำทุกอย่างให้เขาลำบากน้อยที่สุด และทำยังไงให้เขาสามารถต่อสู้ต่อไปได้ ต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้เขา ต้องมีแผนให้เขาเห็นและมั่นใจว่าสามารถช่วยเหลือเขาได้
“ถ้าวันนี้ไม่มีใครช่วยเราก็ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้” เมื่อผู้นำชุมชนทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในการหาหนทางช่วยเหลือประชาชน และประชาชนทุกคนก็พึ่งพาตัวเองเท่าที่ทำได้ เชื่อว่าทุกชุมชนต้องอยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปได้