จ้างงานเพิ่ม-ว่างงานลด ข่าวดีหลอกๆของลุงแซม
นับเป็นข่าวดีท่ามกลางข่าวชวนปวดหัวมากมายในขณะนี้ สำหรับรายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐ
นับเป็นข่าวดีท่ามกลางข่าวชวนปวดหัวมากมายในขณะนี้ สำหรับรายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐ
โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา
นับเป็นข่าวดีท่ามกลางข่าวชวนปวดหัวมากมายในขณะนี้ สำหรับรายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ที่แสดงให้เห็นตัวเลขการจ้างงานในเดือน ม.ค.ที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมๆ กับอัตราการว่างงานในสหรัฐที่ลดลง
เรียกได้ว่าเป็นความคืบหน้าในทางบวกที่ส่งผลดีถึงขั้นที่ตลาดหุ้นในสหรัฐ ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ. มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่ดัชนีแนสแด็กปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 11 เดือน สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2543 โดยอานิสงส์ดังกล่าวยังส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วเอเชียเปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.พ. ปรับตัวเป็นบวกตามไปด้วย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ตัวเลขการจ้างงานภายในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นถึง 2.43 แสนตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงจาก 8.5% ในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 8.3% ในเดือน ม.ค. หรือต่ำที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีนี้ ดูจะเป็นหลักฐานรูปธรรมชัดเจนที่ช่วยยืนยันว่า เศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเดินหน้าฟื้นตัว หลังจากที่เผชิญกับภาวะซบเซาต่อเนื่องมานานหลายปี
เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่ประชาชนชาวอเมริกันซึ่งเป็นรากฐานพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐมีงานทำ ย่อมหมายถึงโอกาสของตลาดที่จะกลับมาคึกคักสดใสอีกครั้ง
เพราะการมีงานทำก็เท่ากับการมีหลักประกันทางการเงิน หรือก็คือทำให้คนมีความมั่นใจที่จะใช้เงินดันธุรกิจให้มีการเติบโต จนบรรดาเจ้าของกิจการต้องเล็งหาหนทางขยับขยาย และนำไปสู่การจ้างงานเพิ่มเติมในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการว่างงานที่ลดลงจะเป็นสัญญาณที่ดีไม่น้อย ยืนยันได้จากการต้อนรับอย่างอบอุ่นของตลาดทุนทั่วโลก แต่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งก็อดมองไม่ได้ว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะด่วนดีใจตัดสินว่า เศรษฐกิจของสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
เจมส์ พอลเซน หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของเวลส์ แคปิตอล แมนเนจเมนต์ ระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบันยังคงมีความเปราะบางอยู่มาก
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า เศรษฐกิจของสหรัฐในขณะนี้ก็เหมือนกับเด็กหัดตั้งไข่ ที่เสี่ยงจะลืมครืนได้โดยง่ายหากมีอะไรมากระทบหรือแม้กระทั่งสะกิดเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ ความเปราะบางแรกสุดอยู่ที่ภาคการผลิตที่ไม่ได้แข็งแกร่งจริงอย่างที่เห็น โดยแม้จะทำสถิติจ้างงานมากที่สุดถึง 5 หมื่นตำแหน่งในช่วงเดือน ม.ค. แต่ความต้องการสินค้าของสหรัฐในตลาดปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ไม่แน่นอน โดยตำแหน่งงานเกือบทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐโดยรวมในไตรมาส 4 ของปี 2554 เพิ่มขึ้นเพียง 2.8% ซึ่งลดลงถึง 6% เมื่อเทียบกับปี 2553 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดมีน้อยเพียงใด ท่ามกลางวิกฤตยุโรปที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงสรุปแบบไม่ต้องคาดเดาให้ยุ่งยากว่าการจ้างงานที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการจ้างแบบถาวร
ความเห็นดังกล่าว ยืนยันได้เมื่อพลิกดูข้อมูลการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยจะพบว่าการจ้างงานที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพียงงานชั่วคราวทั้งสิ้น
หมายความว่า ความเสี่ยงของการตกงานในอนาคตข้างหน้าอันใกล้สำหรับชาวอเมริกันยังคงมีอยู่ และความเสี่ยงที่รู้สึกได้นี้เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า จะทำให้ประชาชนในแดนลุงแซมเลือกที่จะประหยัดอดออมมากกว่าออกมาใช้จ่ายอย่างที่รัฐบาลสหรัฐหวังไว้
นอกจากนี้ อเล็กซ์ โควีย์ นักวิเคราะห์ประจำมันนี่ มอร์นิง ออสเตรเลีย ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานและการว่างงานที่รัฐบาลสหรัฐนำเสนอนั้น ไม่ได้นับรวมจำนวนคนที่กำลังมองหางานทำที่มีมากกว่า 1.2 ล้านคนเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นจำนวนที่หากนับรวมเข้าไปแล้วจะทำให้ตัวเลขคนอเมริกันที่ว่างงานเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ โควีย์ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพตกงานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป และเหน็ดเหนื่อยกับการวิ่งหางานประจำทำ ซึ่งถ้ากระทรวงแรงงานสหรัฐนับรวมคนกลุ่มนี้เข้าไปด้วย โควีย์คำนวณว่าตัวเลขคนว่างงานของสหรัฐควรจะสูงถึง 15.1%
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงปี 2551-2552 สหรัฐสูญตำแหน่งงานจากวิกฤตเศรษฐกิจไปมากกว่า 8 ล้านตำแหน่ง โดย 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐสร้างงานได้แค่ 3.2 ล้านตำแหน่ง
เท่ากับว่าหากต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นฟูได้อย่างแข็งแกร่งในขั้นระยะปลอดภัย สหรัฐต้องสร้างงานเพิ่มอีก 4.8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเมื่อคำนวณจากอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน สหรัฐต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 เดือนเพื่อให้คนเหล่านั้นมีงานทำทั้งหมด
แต่แม้จะสหรัฐจะสร้างงานได้ตามตัวเลขที่ตั้งไว้ วิธีดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอเมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่า ในทุกๆ ปีนั้น สหรัฐมีแรงงานเกิดใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานราว 3 ล้านคน
เหตุผลทั้งหมด ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ตัวเลขที่รัฐบาลสหรัฐนำเสนอไม่ต่างอะไรกับของขวัญชั่วคราวที่ทำให้นักลงทุนในตลาดตื่นเต้นตื่นตัว
และทำให้อดคิดกันไม่ได้ว่า ข่าวดีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมการเมืองในสหรัฐเท่านั้น