ตั้งลำผู้นำแดงฟื้นกำลังรุกใหญ่รธน.
การเลือกตั้งประธาน นปช.คนใหม่ที่กำหนดเลือกในวันที่ 15 ก.พ. ดูจะไม่ส่งผลอะไรกับในองค์กร นปช.แดงทั้งแผ่นดิน
การเลือกตั้งประธาน นปช.คนใหม่ที่กำหนดเลือกในวันที่ 15 ก.พ. ดูจะไม่ส่งผลอะไรกับในองค์กร นปช.แดงทั้งแผ่นดิน
โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
การเลือกตั้งประธาน นปช.คนใหม่ที่กำหนดเลือกในวันที่ 15 ก.พ. ดูจะไม่ส่งผลอะไรกับในองค์กร นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เมื่อแกนนำส่วนใหญ่ต่างสนับสนุน ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ให้กลับมาเป็นประธาน นปช.อีกครั้ง
เหตุผลที่ทำพิธีกรรมหา “หัวขบวน” กันใหม่ เพราะสถานะของ “ธิดา” ยังไม่ใช่ตัวจริง เป็นเพียงรักษาการประธาน นปช. จึงจำเป็นต้องลงมติเลือกให้สมบูรณ์เพื่อเริ่มภารกิจครั้งใหญ่ในปีนี้ คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อได้ธิดาเป็นผู้นำ นปช.ตัวจริง ก็เข้าสู่โปรแกรมจัดอุ่นเครื่องมวลชนคนเสื้อแดงครั้งแรกนับแต่เป็นรัฐบาล คือ ชุมนุมใหญ่ในรูปแบบฟังคอนเสิร์ตที่โบนันซ่า จ.นครราชสีมา ในวันที่ 25 ก.พ. คาดว่าจะรวมพลังให้ได้ 5 หมื่นคน ปลุกคนเสื้อแดงซักซ้อมสู่การขับเคลื่อนที่จะมีขึ้น
แม้ก่อนหน้านี้แกนนำ นปช.จะเผชิญวิกฤตภายในกับปัญหาความขัดแย้งที่แกนนำอีกปีกไม่พอใจธิดา และเรียกร้องให้เลือกตั้งประธานคนใหม่ แต่สถานการณ์ได้คลี่คลายลง เพราะภารกิจเสื้อแดงไม่ได้เข้มข้น และต่างคนก็เปลี่ยนสถานะเป็นรัฐมนตรี สส.พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีกันหมด
เหตุผลที่ธิดาได้แรงหนุนเพราะเป็นกำลังหลักนอกคุกหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2553 ซึ่งองค์กร นปช.กำลังระส่ำระสาย แกนนำติดคดีก่อการร้าย ถูกขังจำคุก และหลบหนีต่างประเทศ
ช่วงที่แกนนำอยู่ในเรือนจำได้ลงมติตั้งให้ธิดานั่งเก้าอี้รักษาการประธาน นปช.ไปพลางเพื่อคอยประสานงานและรักษาขบวน นปช.ไว้
ธิดาเป็นฝ่ายซ้ายเก่า เคยเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ฉายา “สหายปูน” เข้าป่าหลังเหตุการณ์เดือนตุลา และแต่งงานกับ นพ.เหวง โตจิราการ หลังออกจากป่ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และย้ายมาสอนประจำที่มหาวิทยาลัยมหิดล
ในองค์กรเสื้อแดง ธิดาจึงเป็นผู้นำ นปช.คนที่ 3 นับจาก วีระ มุสิกพงศ์ ที่ได้เลือกเป็นประธานเมื่อปี 2552 ที่ จ.กาญจนบุรี ต่อจาก มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ประธาน นปก.คนแรก จากมติของแนวร่วมสนามหลวงเมื่อครั้งก่อตั้งเสื้อแดงใหม่ๆ ในปี 2550
อย่างไรก็ตาม หลังจากแกนนำ นปช.ได้รับการประกันตัวในช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ต้องการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง เดินหน้าสู่การปรองดอง พร้อมกับแกนนำส่วนหนึ่งที่หลบหนียอมกลับมามอบตัว และต่อมาลงสมัคร สส.พรรคเพื่อไทย เหล่า นปช.นี้มีส่วนสร้างความสำเร็จให้กับพรรคเพื่อไทยที่ช่วยระดมหาเสียงและขยายมวลชนจนโตผิดหูผิดตา
ตลอด 5 ปีของ นปช. ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์หลักให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อสู้กับฝ่ายรัฐประหาร ทั้งบนดิน ใต้ดิน บนอากาศ กระทั่งปัจจุบันได้ตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงในหลายพื้นที่ เป็นขบวนภาคประชาชนที่แตกเผ่าพันธุ์ จากวาทกรรม “สองมาตรฐาน” เรียกความเห็นใจจากคนชั้นล่างที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชื่นชอบในนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย จนสื่อต่างชาติหันมาจับตาเพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย
แต่หลังได้ “อำนาจรัฐ” มา นปช.ก็เกิดความขัดแย้งเป็นสนิมเนื้อใน ขณะที่ความแรงและความฮึกเหิมในมวลชน ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำเพื่อไทยแอบหวั่นใจลึกๆ ว่า นปช.จะใหญ่เกินตัว จนสร้างปัญหาชิงอำนาจในพรรค
ปัญหาความแตกแยกในขบวน นปช. ส่วนหนึ่งเพราะต่างคนต่างมีมวลชนของตัวเอง และถือว่าเป็นสายตรง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่จำเป็นต้องตกอยู่ใต้แกนนำด้วยกัน กรณีนี้ทำให้ ขวัญชัย ไพรพนา แกนนำชมรมคนรักอุดร ที่ปักหลักคุมเมืองหลวงเสื้อแดงในภาคอีสาน แยกไปตั้งกลุ่มตัวเองในนาม “แดงอีสาน 21 จังหวัด” ไม่ขอขึ้นตรงกับ นปช. และไม่เข้าร่วมคัดเลือกประธาน นปช. วันที่ 15 ก.พ.
ขณะที่ขบวนนำ นปช. ก็เกิดปัญหาในช่วงที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเป็นรัฐบาล เมื่อแกนนำกลุ่มหนึ่งนำโดย ชินวัฒน์ หาบุญพาด ประธานชมรมคนแท็กซี่ และพวก 10 คน อาทิ ประแสง มงคลศิริ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ พายัพ ปั้นเกตุ อาศัยช่วงสุญญากาศของ นปช.สะสางปัญหาในองค์กร ขับไล่ธิดาพ้นตำแหน่ง โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมเผด็จการ ไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น ก่อนพาดพิงไปยัง นพ.เหวง สามีที่เป็น สส.พรรคเพื่อไทยว่า ทั้ง “ธิดานพ.เหวง” เป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้ว่าอาจไม่เหมาะสมเพราะสามีเป็น สส.เพื่อไทย ส่วนภรรยาก็เป็นประธาน นปช.
แต่ความขัดแย้งก็สร่างซาไปเมื่อ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อจตุพร พรหมพันธุ์” เป็นกาวใจยุติปัญหา และขอให้ นปช.เลิกรบกันเอง หันมาเป็นกำลังใจให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์
เมื่อเป็นรัฐบาล ความเคลื่อนไหวใน นปช.ไม่คึกคัก แกนนำ นปช.รายหนึ่งบอกว่า เหตุที่ นปช.ดูฝ่อลงเพราะ 1.ถือว่าได้เป็นรัฐบาลแล้ว 2.ไม่มีสถานการณ์ใดที่ต้องออกมา 3.นปช.ไม่มีกิจกรรมหรือมุมอื่นให้เล่น ต่างจากเมื่อก่อนที่ขับไล่อำมาตย์ 4.ถ้าจะชุมนุมก็เกรงใจรัฐบาล เพราะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเดินแนวทางปรองดองกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้ว่าแกนนำเสื้อแดงหลายคนจะหวานอมขมกลืนก็ตาม 5.แนวร่วมบางคนหมดเนื้อหมดตัวจากการเคลื่อนไหว จึงหันไปทำอาชีพอื่น
อีกเหตุสำคัญเพราะแกนนำ นปช.เป็นส่วนประกอบของรัฐบาลอย่างแนบแน่น ทุกคนได้รับการปูนบำเหน็จมีตำแหน่งในรัฐบาลทุกระดับไม่ว่า 1.รัฐมนตรี 2.สส.พรรคเพื่อไทย 3.ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี รองโฆษกรัฐบาล 4.ข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมแล้วร่วมๆ 30 คน
จึงต้องประคับประคองรัฐบาลสกัดทุกเงื่อนไขไม่ให้เกิดความรุนแรง มิฉะนั้นจะกระทบรัฐบาลเอง
แต่ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หลังผลักดันจ่ายค่าเยียวยาคนเสื้อแดงศพละ 7.75 ล้านบาท สำเร็จและเดินหน้าคดี 91 ศพ ส่งฟ้องตามกระบวนการยุติธรรม นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะคึกคักตลอดทั้งปี ส่วนเป้าหมายระยะยาวหลังได้รัฐธรรมนูญแล้ว คือ สร้างประชาธิปไตยเป็นของมวลมหาประชาชน
การเลือกตั้งประธาน นปช.คนใหม่จึงแค่กระชับหัวขบวน สร้างความเชื่อมั่นให้กับมวลชนเพื่อรุกใหญ่รัฐธรรมนูญ แต่นโยบายใหญ่บรรทัดสุดท้ายอยู่ที่ดูไบเหมือนเดิม