หายนะภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่โลกต้องไม่มองข้าม
อัตราการตายจากเหตุภัยพิบัติทั่วโลกขณะนี้มีสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากหลายๆ ประเทศ
โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา
“อัตราการตายจากเหตุภัยพิบัติทั่วโลกขณะนี้มีสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากหลายๆ ประเทศมีระบบการเตือนภัยและเตรียมตัวรับมือได้ดีมากขึ้น แต่ทว่า มูลค่าความเสียหายของภัยพิบัติกลับเริ่มเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสถานะทางเศรษฐกิจของนานาประเทศ” มาร์กาเรตตา วอห์ลสตอร์ม ทูตพิเศษด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวในงานแถลงข่าวครบรอบ 1 ปีธรณีพิบัติภัยและสึนามิของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา
คำพูดดังกล่าวเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่รายงานของยูเอ็นต้องการนำเสนอ ที่ว่าเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลายปีให้หลังมานี้กำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวใหม่ของเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก
เอาเฉพาะแค่ปี 2554 เพียงปีเดียว ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็สร้างความเสียหายผลาญเงินไปแล้วถึง 3.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 11.4 ล้านล้านบาท) โดยมีแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นนำมาเป็นอันดับหนึ่งที่สร้างความเสียหายสูงสุดถึง 2.35 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตามติดด้วยแผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ น้ำท่วมครั้งใหญ่ในไทย ภัยแล้งในแอฟริกาตะวันออก และตบด้วยพายุหลายลูกในสหรัฐ
มูลค่าดังกล่าวนับได้ว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 2.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็น 2 เท่าตัว
แถมยูเอ็นยังไม่วายตอกย้ำให้สั่นสะท้าน เล่นว่าตัวเลขความเสียหายทั้งหมดที่ประเมินออกมาแล้วบอกว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมานี้ ยังเป็นเพียงแค่มูลค่าขั้นต่ำที่คำนวณออกมาได้
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า ยังมีโอกาสที่ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่มีใครตอบได้ว่าการฟื้นฟูและฟื้นตัวจะกินระยะเวลานานเท่าใด และในระหว่างนั้นจะมีอุปสรรคใดๆ แทรกเข้ามาอีก รวมถึงความเป็นจริงที่ว่า ความเป็นไปได้ของเหตุหายนะยังมีอยู่ แถมโอกาสในการเกิดยังมีแนวโน้มที่ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียและดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจบนเวทีโลกอย่างจีน มีอันต้องเสียศูนย์เมื่อเผชิญกับสภาพอากาศแสนเลวร้าย โดยมีทั้งร้อนแบบสุดๆ จนแล้งจัด และพายุกระหน่ำจนน้ำท่วมหนัก
เรียกได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในรอบศตวรรษ เฉพาะภัยแล้งเพียงอย่างเดียวก็มีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นแล้วราว 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 105 แสนล้านบาท) โดยส่วนที่ได้รับแรงกระทบมากที่สุดก็คือ ภาคการเกษตรและพลังงาน
เมื่อเพาะปลูกไม่ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการขาดแคลนอาหารในตลาด ส่งให้ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เช่น เนื้อหมูกิโลกรัมละเกือบ 1,000 บาท ดันอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้พุ่งขึ้น จนรัฐบาลจีนต้องขึ้นดอกเบี้ยและชะลอการลงทุนเพื่อเบรกภาวะเงินเฟ้ออย่างเร่งด่วน
ขณะที่ในปีเดียวกัน จีนก็ต้องประสบกับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ โดยทำลายพื้นที่ทางการเกษตรที่ยังไม่ฟื้นดีจากภัยแล้งถึง 13.5 ล้านเฮกเตอร์ หรือคิดเป็นความเสียหายมูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.23 ล้านล้านบาท)
ยิ่งไปกว่านั้น ถัดมาในปี 2554 จีนก็ต้องเผชิญภัยแล้งซ้ำซากอีกระลอก คราวนี้รุนแรงหนักเพราะกระเทือนถึงการส่งออกข้าวสาลี จนกลายเป็นวิกฤตอาหารโลกเนื่องจากหลายฝ่ายหวาดผวาว่าจะมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภค ที่สุดก็ทำให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกพุ่งขึ้นแบบรั้งไม่ได้ฉุดไม่อยู่
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คำนวณคร่าวๆ แล้วพบว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนต้องใช้งบประมาณประเทศเฉลี่ยปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท ในการจัดการกับทั้งภัยแล้งและภัยน้ำที่มาเยือนซ้ำซาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย
ข้ามฟากมาที่มหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ ที่ต้องเผชิญกับพายุทั้งเฮอริเคน ทั้งทอร์นาโดทุกปีจนเป็นกิจวัตร
ทว่า นักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกต่างตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า พายุเหล่านั้นเกิดถี่ขึ้น มาเร็วกว่าปกติ และรุนแรงมากขึ้น โดยเหตุการณ์ที่สาหัสที่สุดย่อมหนีไม่พ้นพายุเฮอริเคน แคทรินา ที่เข้าถล่มรัฐนิวออร์ลีนส์ สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.56 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.68 ล้านล้านบาท) ทำลายอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันของประเทศย่อยยับ ขณะที่ 60% ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่อยู่ในสภาพไม่เหลือชิ้นดี
แม้ว่า ในขณะนั้นจะเป็นช่วงก่อนที่สหรัฐจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่าพายุแคทรินาที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก นับตั้งแต่ปี 2508 ที่เริ่มต้นบันทึกความเสียหายจากภัยธรรมชาติ มีส่วนสำคัญที่ทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องนำเงินไปใช้เยียวยาความเสียหาย และจนถึงทุกวันนี้สภาพพื้นที่โดยรวมส่วนใหญ่ก็ยังฟื้นได้ไม่เต็มที่
ยิ่งไปกว่านั้น ข่าวร้ายยิ่งกว่าก็คือ ในปีถัดๆ มา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐก็ยังคงปวดหัวกับงบประมาณเฉลี่ยปีละหลายล้านเหรียญสหรัฐไปกับการฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อเหตุการณ์พายุเฮอริเคนและทอร์นาโด
สำหรับอีกหนึ่งตัวอย่างประเทศที่ได้รับผลกระทบซ้ำซากจากภัยธรรมชาติย่อมหนีไม่พ้นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก อย่างประเทศญี่ปุ่นกับเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยและสึนามิถล่มพร้อมวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อปีที่แล้ว
ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 205% ต่อจีดีพี ภาคการผลิตของประเทศหยุดชะงัก เกิดวิกฤตพลังงานเพราะการผลิตพลังงานในประเทศกว่า 30% ต้องพึ่งพานิวเคลียร์เป็นหลัก
เลวร้ายหนักกว่านั้นก็คือ ในปีเดียวกันช่วงปลายปี ขณะที่ญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นจากภัยพิบัติร้ายแรงดังกล่าวก็ต้องเซจวนทรุดด้วยเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในไทย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรงเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งของทั้งบริษัทญี่ปุ่นและผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานญี่ปุ่นทั้งใหญ่และเล็ก ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า โซนี่ หรือพานาโซนิค จนทำให้ภาคการผลิตจมยาว
เรียกได้ว่า คิดเป็นความเสียหายด้านการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยยังไม่รวมข้อเท็จจริงอีกข้อว่าเหตุน้ำท่วมไทยยังกระเทือนต่ออุตสาหกรรมไอทีโลกด้วย ปัญหาการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิต
แน่นอนว่า เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องสุดวิสัยเหนือการคาดเดาของมนุษย์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่ครั้งแรกอีกเช่นกันที่โลกต้องเผชิญหน้ากับหายนะภัยร้ายแรงจนกระเทือนต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประชาคมโลก
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า นานาประเทศเคยประสบกับภัยร้ายแรงจนสร้างความเสียหายย่อยยับให้กับเศรษฐกิจมาแล้ว โดยที่หลายประเทศในปัจจุบันก็ยังอยู่ในอาการช้ำในจากฤทธิ์หมัดของภัยธรรมชาติไม่สร้างซา
ดังนั้น สมควรแล้วหรือยังที่โลกจะต้องเรียนรู้และจดจำ เพื่อจำกัดภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากน้ำมือธรรมชาติอย่างจริงจัง