posttoday

เรือไม้โบราณรูปราชสีห์โบราณวัตถุที่กรมเจ้าท่า

07 มีนาคม 2553

ตามปกติผมชอบโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา เพราะชอบความรวดเร็ว จราจรไม่ติดขัด ไปไหนมาไหนสะดวก แถมยังได้บรรยากาศแปลกออกไป พบเห็นมนุษย์นานาชาติเดินทางร่วมยานพาหนะลำเดียวกัน โดยไม่เกี่ยงเรื่องเชื้อชาติศาสนา หรือฐานะทางสังคม แม้ว่าจุดหมายปลายทางจะต่างกันก็ตาม

เมื่อนาวาฝ่ากระแสน้ำรับส่งผู้โดยสารตามท่าน้ำต่างๆ นั้น ไอเย็นจากกระแสน้ำช่วยดับความร้อนอบอ้าวในช่วงนี้เป็นอย่างดี ขณะที่ทิวทัศน์ 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดูเมื่อไรก็ไม่รู้สึกเบื่อ เมื่อดูด้วยตาอยู่ห่างๆ ไม่สะใจ อยากขึ้นฝั่งไปดูให้ใกล้ชิดก็เลือกขึ้นตามท่าต่างๆ ที่ต้องการทั้งฝั่งซ้ายและขวา สำหรับผมเลือกขึ้นที่ท่าเรือกรมเจ้าท่า แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ขึ้นไปไม่ผิดหวัง ได้เห็นเรือไม้โบราณรูปราชสีห์ ที่กรมเจ้าท่านำมาตั้งไว้บนหินแกรนิต ภายใต้ศาลาที่ให้ร่มเงาอย่างดี ติดกับท่าน้ำ

เมื่อพินิจพิจารณา เก็บความประทับใจและถ่ายรูปแล้ว ก็หาข้อมูลประกอบ

หนังสือ 150 ปี แห่งการสถาปนากรมเจ้าท่าที่พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2552 (กรมเจ้าท่าสถาปนา 5 ส.ค. 2402) ให้รายละเอียดเรื่องเรือรูปราชสีห์ ดังนี้

กว่า 150 ปี แห่งการสถาปนากรมเจ้าท่า หรือการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีปัจจุบัน บรรพบุรุษและบรรพชนในอดีตได้ใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมขององค์กรไว้มากมายเฉกเช่นเรือไม้โบราณรูปราชสีห์ ซึ่งเป็นเรือที่สร้างจำลองมาจากเรือรูปราชสีห์หรือเรือสิงห์ ที่เป็นเรือในกระบวนพระราชพิธี ที่ได้ตกทอดเป็นโบราณวัตถุชิ้นเอก (ของกรมเจ้าท่า) หรือทรัพย์แผ่นดินมาถึงทุกวันนี้

ผู้ชำนาญการกรมศิลปากร ระบุว่าเรือไม้โบราณรูปราชสีห์ จำลองมาจากเรือรูปราชสีห์ หรือเรือสิงห์ในกระบวนเรือพระราชพิธี โดยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในอดีตได้สร้างและมอบให้เป็นที่ระลึก หรือใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำกรมท่า หรือกรมเจ้าท่าในอดีต

โดยลักษณะเรือนี้ไม่ได้สร้างเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานจริง แต่ใช้เพียงเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือที่ 5

ปัจจุบันเรือไม้โบราณรูปราชสีห์ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่ หัวเรือเป็นรูปราชสีห์แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตัวลำเรือทำด้วยไม้ตะเคียนขุดยาวตลอดท้องเรือกว้างสุดประมาณ 24 นิ้ว หัวและท้ายเรือกว้างประมาณ 12 นิ้ว ตลอดลำเรือ หัวถึงท้าย (เรือ) ยาวประมาณ 8 เมตร

ตัวลำเรือภายนอกเป็นลักษณะงานเขียนลายรดน้ำทั้งลำ ตั้งวางอยู่บนแท่นหินแกรนิต ซึ่งได้สร้างแทนแท่นตั้งที่เป็นไม้ หนังสือที่ระลึก 150 ปี ระบุว่าเมื่อพบเรือลำนี้ครั้งแรก สภาพทั่วไปชำรุดและบางชิ้นส่วนหลุดหายไป กระหนกไหล่หลุดหายไป 2 ด้าน มาลัยคอเรือชำรุดเป็นบางส่วน ตัวลำเรือแตกแยกเป็นแนวทางยาวตลอดตามรอยต่อไม้

ส่วนภายในท้องเรือ กระทงหลุดหายไป 3 กระทง ไม้ทับกระทงหักหายตลอดทั้งลำเรือ ลักษณะของหาง (ท้าย) เรือที่ติดอยู่เป็นลายกนกซึ่งรูปแบบที่ผิดเพี้ยนไปจากลักษณะของหัวเรือที่เป็นรูปสัตว์หิมพานต์ คาดว่าของเดิมคงชำรุดหาย จึงนำเอาบางส่วนของหาง (ท้าย) เรือลำอื่นมาต่อให้ครบสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นของเรือใหญ่กว่าเรือลำนี้ ส่วนมาลัยหางเรือชำรุดหักหายเป็นบางส่วน

การบูรณะเริ่มเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2547 โดยดำริของนายวันชัย ศารทูลทัต อดีตอธิบดี ที่ได้เห็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม จิตรกรรม โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ที่ใช้วิธีการบูรณะ ซ่อมแซมแบบโบราณ เพื่ออนุรักษ์ลักษณะเรือ โดยการสร้างส่วนโครงสร้างแกะสลักลวดลายประกอบเทียน ปิดทองประดับกระจก และเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น

วันที่ 5 ส.ค. 2548 เรือไม้โบราณรูปราชสีห์ บูรณะซ่อมเสร็จ ได้นำมาประดิษฐานบนแท่นฐานในศาลาริมน้ำเจ้าพระยาและได้รับการสักการบูชาในฐานะเป็นทรัพย์แผ่นดินชิ้นเอก ควรค่าแก่การอนุรักษ์อยู่คู่กับเจ้าท่า หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ให้นานเท่านาน รักษ์เรือโบราณไว้เป็นศรีสง่า รักษ์นาวารูปราชสีห์ไว้เป็นเกียรติภูมิ

lประวัติกรมเจ้าท่า

กรมเจ้าท่ามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หน่วยงานนี้มีชื่อเรียกว่า กรมท่าหรือ กรมเจ้าท่าอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพระคลังสินค้า ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นหน่วยงานหลวงเพื่อผูกขาดสินค้าบางอย่างเป็นสินค้าต้องห้าม ไม่ให้พ่อค้าประชาชนซื้อขายโดยตรง

นอกจากผูกขาดซื้อขายสินค้าแล้ว พระคลังสินค้ายังมีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าต่างชาติ ค่าภาษีสินค้าและค่าธรรมเนียมเข้าออก

lกัปตันบุชเป็นเจ้าท่าคนแรก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทางราชการได้ทำสัญญาจ้างกัปตัน จอห์น บุช (John Buch) ชาวอังกฤษ มาเป็นผู้ริเริ่มงานฝ่ายเจ้าท่า มีการลงนามในสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ วันศุกร์ที่ 5 ส.ค. ปี พ.ศ. 2402

กรมเจ้าท่าจึงถือเอาวันที่ 5 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา และต่อมากรมเจ้าท่า ซึ่งแต่เดิมสังกัดในกรมพระคลัง ได้ย้ายสังกัดไปอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อปี พ.ศ. 2432 ได้ย้ายไปอยู่กับกระทรวงโยธาธิการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการของกรมที่ตึกเจ้าสัวเส็งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างตลาดน้อย ตรงข้ามปากคลองสาน อันเป็นที่ตั้งของกรมเจ้าท่าในปัจจุบันนั่นเอง

พ.ศ. 2444 ได้ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่าไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล และในปี พ.ศ. 2448 กรมเจ้าท่าได้ยกฐานะเป็นกรมชั้นอธิบดี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้ตราพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) และในปีนี้เอง ทรงเริ่มปรับปรุงกิจกรรมกรมเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยยกเอางานบางส่วนจากกรมคลองเดิมมารวมกับกรมเจ้าท่า

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ยกกระทรวงนครบาลซึ่งกรมเจ้าท่าสังกัด ไปรวมกับกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2484 กรมเจ้าท่าจึงได้ย้ายสังกัดมาขึ้นกับกระทรวงคมนาคม

lเปลี่ยนชื่อไปใช้ชื่อเดิม

พ.ศ. 2545 เมื่อมีการปฏิรูปราชการ ได้รวมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี มาเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมเจ้าท่า แล้วเปลี่ยนชื่อกรมเจ้าท่า เป็นกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี ให้มีการเชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่นๆ

แต่แล้วชื่อใหม่นั้นก็หมดความขลัง ขัดกับความรู้สึก และกฎหมายบางฉบับ เมื่อปี พ.ศ. 2552 กระทรวงคมนาคมจึงทำเรื่องขอเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิม ตามที่ ครม. มีมติดังนี้

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเป็น กรมเจ้าท่าพ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ กรมการขนส่งทางอากาศเป็น กรมการบินพลเรือนพ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1.ขอเปลี่ยนชื่อ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเป็น กรมเจ้าท่าตามเดิม ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.1 กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี มีประวัติการก่อตั้งมายาวนานถึง 149 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในชื่อเดิมว่า กรมท่าโดยมีตำแหน่งเจ้ากรมว่า เจ้าท่าต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหน่วยงานว่า กรมเจ้าท่าสังกัดกระทรวงโยธาธิการ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการปฏิรูประบบราชการในปี 2545 จึงได้ยุบรวม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีกับ กรมเจ้าท่าจึงเป็น กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีโดยการปรับชื่อหน่วยงานด้านการขนส่งทั้งหมดให้เหมือนกันทั้งทางบก น้ำ และอากาศ และเพื่อให้ทราบว่ามีการรวมหน่วยงานด้านพาณิชยนาวีจึงได้ระบุชื่อเป็นพาณิชยนาวีต่อท้ายด้วย จึงมีการเปลี่ยนชื่อกรมและชื่ออธิบดีตามกฎหมาย ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจ หน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 แต่ภารกิจตามกฎหมายยังคงเป็นภารกิจ เจ้าท่า

1.2 ตั้งแต่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ปรากฏในทางปฏิบัติในการประชุมและประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ว่าไม่สอดคล้องกับภารกิจของกรมตามกฎหมายหลายๆ ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 ซึ่งกำหนดการใช้อำนาจของอธิบดีและในการมอบหมายงานในสำนักงานสาขาในต่างจังหวัดเป็นอำนาจ เจ้าท่าซึ่งเป็นคำเฉพาะที่สามารถเข้าใจได้ดีทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่คุ้นเคยกับชื่อกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีที่เป็นชื่อใหม่ แม้ว่าจะใช้มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม

1.3 กรมการขนส่งทางน้ำได้ทำการสอบถามข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ 87% เห็นด้วยที่จะให้ใช้ชื่อ กรมเจ้าท่าที่เหลือเห็นควรให้เป็นชื่ออื่น (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี มีเพียง 7.3% และกรมเจ้าท่าและการขนส่งทางน้ำ/กรมการขนส่งทางน้ำ/กรมเจ้าท่าและพาณิชยนาวี/กรมเจ้าท่าและการเดินเรือ/กรมพาณิชยนาวี มีเพียง 5.69%)

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามชื่อพระราชทานเดิม และภารกิจหลักของกรมตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นควรเปลี่ยนชื่อ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเป็น กรมเจ้าท่าตามชื่อที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้แต่เดิม และได้กลับมาใช้ชื่อเดิม เมื่อ พ.ย. 2552

ตลอดเวลา 150 ปี กรมเจ้าท่ามีอธิบดีบังคับบัญชามาแล้ว 33 ท่าน ท่านแรกคือกัปตัน จอห์น บุช พ.ศ. 24022434 ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ อธิบดีท่านปัจจุบันคือ นายชลอ คชรัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ง