ย้อนดูคำพิพากษาคดี"อากงSMS"
ย้อนคำพิพากษาศาลอาญาในคดีพนักงานอัยการฟ้อง "อากง" อำพล ตั้งนพกุล ข้อหาส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นเบื้องสูง
โดย...ทีมข่าวการเมือง
หมายเหตุ : คำพิพากษาศาลอาญา ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 4726/2554 ระหว่างพนักงานอัยการ (โจทก์) กับนายอำพล ตั้งนพกุล (จำเลย) เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ลงวันที่ 23 พ.ย. 2554 มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
***************************
โจทก์ฟ้องว่า อำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ได้ส่งข้อความสั้นจำนวน 4 ข้อความ ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของ สมเกียรติ ครองวัฒนาสุข เลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยข้อความสั้นจะถูกนำเข้าไปที่Short Message Service Centre จากนั้นก็นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยทุกข้อความเป็นการหมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์พระราชินี และรัชทายาท
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนำสืบพบว่า โทรศัพท์ที่ส่งข้อความมามีหมายเลขประจำเครื่องหรือหมายเลขอีมี หมายเลข 3589060000230110 เมื่อตรวจสอบ พบว่าเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าว ได้ติดต่อไปยังหมายเลขของ ปรวรรณ ตั้งนพกุล ปิยะมาศ ตั้งนพกุล บุตรสาว อำพล และได้สอบปากคำพบว่าเครื่องดังกล่าวที่โทร.ออก เป็นโทรศัพท์ของ อำพล จริง
อำพล
อย่างไรก็ตาม ฝ่าย อำพล นำสืบว่า เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมายเลข 08-1349-3615 ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด ทั้งนี้ ช่วงเดือน เม.ย. 2553 จำเลยเคยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปซ่อม แต่ไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ส่วนการแก้ไขหมายเลขประจำเครื่องสามารถทำได้ โดยหมายเลขประจำเครื่อง 10% ไม่เป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันจำเลยรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
พยานโจทก์สืบสวนโดยตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้กับซิมการ์ดดังกล่าวไปยังบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ทำให้ทราบว่าโทรศัพท์หมายเลข 08-1349-3615 เป็นระบบเติมเงินไม่จดทะเบียน ใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์หมายเลขประจำเครื่องซึ่งเป็นหมายเลขเดียวกับโทรศัพท์ อำพล และใช้อยู่กับซิมการ์ดหมายเลข 08-5838-4627 ของ อำพล เช่นกัน ซึ่งเป็นระบบเติมเงินไม่จดทะเบียนในเครือข่ายของบริษัท ทรู มูฟ ทั้งนี้พยานโจทก์ให้ข้อมูลว่าหมายเลขประจำเครื่องไม่สามารถซ้ำกันได้
เจ้าหน้าที่ทั้งสองบริษัท เบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ออกมาจากระบบจัดเก็บข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของบริษัท นอกจากนี้ข้อมูลทั้งหมดเป็นจราจรทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทำให้ข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์มีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมั่นคง ขณะเดียวกันพยานโจทก์ทั้งหมดระบุว่าหมายเลขประจำเครื่องทั้งหมดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ส่วนประเด็นที่จำเลยอ้างว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้นั้น เมื่อพิจารณาสถานที่และเวลา พบว่าหมายเลข 08-5838-4627 กับหมายเลข 08-1349-3615 ถูกส่งสัญญาณโดยสถานีย่อยบริเวณซอยวัดด่านสำโรง 12 ซึ่งเป็นย่านเดียวกับที่จำเลยพัก โดยมีการสับเปลี่ยนระหว่าง 2 หมายเลข รวม 12 ครั้ง เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวผู้เดียว จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นจะนำโทรศัพท์ไปส่งข้อความได้ และเวลาการใช้งานใกล้เคียงกันกับเวลาที่มีการส่งข้อความทั้ง 4 ครั้ง โดยแต่ละหมายเลขมีระยะเวลาห่างกัน 10 นาที ซึ่งนานพอที่จะเปลี่ยนซิมการ์ดใส่โทรศัพท์เพื่อกระทำผิดในคดีนี้
ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวชำรุดและนำไปซ่อม ทำให้สงสัยได้ว่ามีผู้นำโทรศัพท์ของจำเลยไปใช้ในช่วงเวลาที่ซ่อมหรือร้านซ่อมโทรศัพท์อาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือขโมยหมายเลขประจำเครื่อง แต่จากคำเบิกความของตำรวจว่าจำเลยไม่สามารถจดจำร้านซ่อมโทรศัพท์ได้ ทั้งนี้หากจำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปซ่อมจริงตามที่เบิกความ น่าจะจำร้านซ่อมโทรศัพท์ได้ มิฉะนั้นคงจะไปรับโทรศัพท์คืนไม่ได้
สำหรับประเด็นจำเลยนำสืบอ้างว่า 10% ของหมายเลขประจำเครื่องไม่เป็นการเฉพาะหรือซ้ำกัน ศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวมาจากระบบการสืบค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีผู้รับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว จึงไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องได้ว่าข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งความเห็นดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไปในหมู่ของนักวิชาการของวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักให้น่ารับฟัง
ในประเด็นที่จำเลยนำสืบอ้างว่าส่งข้อความไม่เป็นและไม่ทราบว่าหมายเลขโทรศัพท์ของ สมเกียรติ เป็นของใคร และไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์ของตน เป็นเพียงข้ออ้างที่จำเลยรู้เห็นเพียงคนเดียว ทั้งยังมีเอกสารระบุว่ามีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขของจำเลยมีการส่งข้อความเป็นส่วนใหญ่ ทั้งมีการส่งข้อความจำนวนมาก พยานหลักฐานที่นำสืบมาจึงไม่น่าเชื่อถือ
แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08-1349-3615 ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ สมเกียรติ โดยตรง แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงย่อมจะต้องปกปิดการกระทำ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานแวดล้อม ซึ่งจากพยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดโดยไม่มีข้อพิรุธ จึงมีน้ำหนักว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย
ทั้งนี้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2), (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี กับความผิดฐานนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี