posttoday

ธีระชน แจงกมธ.ยันต่อสัญญาBTSโปร่งใส

22 พฤษภาคม 2555

ธีระชน แจง ​กมธ.คมนาคม วุฒิฯ​ ยันขยายสัญญา บีทีเอสซี ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า คุมราคาเริ่มต้น 15 บาท

ธีระชน แจง ​กมธ.คมนาคม วุฒิฯ​ ยันขยายสัญญา บีทีเอสซี ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า คุมราคาเริ่มต้น 15 บาท 

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เข้าชี้แจงกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภากรณีกทม.มอบหมายให้ บริษัทกรุงเทพธนาคม ต่อสัญญากับบริษัท บีทีเอสซี​ โดยยืนยันว่า การทำสัญญา 30 ปีดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการขยายสัมปทานการเดินรถให้กับบริษัทบีทีเอสซี แต่เป็นการทำสัญญาจ้างอีกฉบับเพื่อให้บริษัทบีทีเอสซี เข้ามาดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งกทม. เป็นผู้ดูแล ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร, โครงการรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ส่วนต่อขยายสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-เพชรเกษม ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร โดยระยะเวลาทำสัญญาคือ 30 ปี โดยสัญญาจะสิ้นสุดประมาณปี 2585 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ธีระชน แจงกมธ.ยันต่อสัญญาBTSโปร่งใส ธีระชน

นายธีระชน กล่าวว่า  กทม.ได้ใช้หลักคิดที่ว่าหากมีการแยกทำสัญญากับโครงการส่วนต่อขยาย จะเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.2หมื่นล้านบาท และเกิดความไม่คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งภาระทางการเงิน กว่า 1.2หมื่นล้านจะตกมาอยู่ที่กทม. เพราะกทม. ต้องนำเงินงบประมาณไปอุดหนุนในส่วนความไม่คุ้มทุนและขาดทุนที่เกิดขึ้น ดังนั้นทางกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้หาวิธีแก้ปัญหา โดยใช้เวลาศึกษากว่า 1 ปีเพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงกลายเป็นการรวมสัญญาแบบบูรณาการ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ประหยัด และสะดวกกับการบริหารจัดการ​

นายธีระชน ได้ตอบคำถามของกรรมาธิการที่ถามว่าทำไมถึงต้องเร่งทำสัญญาในช่วงนี้ ว่า เพราะทางกทม. เล็งเหตุถึงความคุ้มค่าต่อการบริหารจัดการการเดินรถ รวมถึงการทำสัญญาเป็นระยะเวลา 30 ปีจะสร้างความคุ้มค่าการลงทุน และประหยัดภาษีของคนกรุงเทพ มากถึง 6,000 ล้านบาท และจะสามารถดูแลราคาค่าโดยสาร อยู่ที่เริ่มต้น 15 บาทได้ แต่หากรอเวลาให้สัญญาหมดอายุในอีกหลายปีข้างหน้า อาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการขาดช่วงการบริหารได้ ทั้งนี้การทำสัญญาระยะยาว 30 ปี จะทำให้เกิดความมั่นใจกับคู่สัญญา และจะส่งผลดีต่อการดูแลรักษาตัวรถไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงช่วงที่ต้องมอบทรัยพ์สินให้กับกทม. ภายหลังจากที่หมดสัญญาสัมปทาน

“ผมยืนยันว่าการทำสัญญาดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นการปิดประตูตายที่ไม่ให้รัฐบาลเข้ามายึดการดำเนินงานส่วนดังกล่าว แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมต่อการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนของกทม.ในอนาคต และเพื่อรับประกันว่าราคาค่าโดยสารเริ่มต้นจะไม่แพงกว่า 15 บาท ทั้งนี้ตามกฎหมายของกทม. ให้สิทธิ์ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามากำหนดราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมได้ ดังนั้นการทำสัญญาจึงเป็นผลดีเพื่อสร้างเสถียรภาพการบริการ” นายธีระชนกล่าว

ทั้งนี้  ทางกรรมาธิการได้นัดหมายกับกทม. ว่าในวันที่ 7 มิถุนายน จะเข้าไปดูงานการบริหารระบบรถไฟฟ้าของกทม. พร้อมขอลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการเดินรถในส่วนต่างๆ ที่กทม.รับผิดชอบ อีกทั้งจะขอรับทราบนโยบายต่อการเชื่อมต่อโครงข่ายเดินรถมวลชน เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถบีอาร์ที ตามที่เคยได้ระบุว่าจะใช้ระบบการเดินทางแบบตั๋วร่วม