จี้เข้มงวดบุญบั้งไฟขายเหล้าเกลื่อน
"เครือข่ายงดเหล้า"จี้จัดระเบียบงานบุญบั้งไฟร้อยเอ็ดเผยร้านเหล้าแห่ขาย-ดื่มในงานอย่างเสรีทุกปี วอนเจ้าหน้าที่เข้มงวดเอาผิด
"เครือข่ายงดเหล้า"จี้จัดระเบียบงานบุญบั้งไฟร้อยเอ็ดเผยร้านเหล้าแห่ขาย-ดื่มในงานอย่างเสรีทุกปี วอนเจ้าหน้าที่เข้มงวดเอาผิด
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงการจัดงานบุญบั้งไฟที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในอำเภอสุวรรณภูมิวันที่ 30 พ.ค.-3 มิ.ย.55 และอำเภอพนมไพรวันที่ 4-5 มิ.ย.55 ว่า ก่อนหน้านี้ สคล. ได้ทำจดหมายเปิดผนึก 3 ฉบับ เพื่อร้องเรียนการกระทำที่อาจเข้าข่ายละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไปยังนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่ที่ใช้จัดงานบุญบั้งไฟ มีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ให้การสนับสนุนหลักทุกครั้ง และทุกปีจะมีการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามจำหน่าย โดยเฉพาะวัดและโรงเรียน ซึ่งผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
ที่สำคัญยังมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีด้วย ส่งผลให้เกิดการทะเลาะวิวาทในกลุ่มผู้มาเที่ยวงานโดยเฉพาะวัยรุ่น และอาจจะเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับได้ รวมทั้งได้มีการลักลอบเล่นพนันบั้งไฟที่มีวงเงินการเล่นตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน
นายธีระ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าร่าง กม.ทั้ง 3 ฉบับ ที่มีเนื้อหาห้ามขายบนทางสาธารณะหรือบนรถยนต์ยังไมได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเอาผิดกับผู้ขายในพื้นที่ดังกล่าวได้ตามกฎหมายเดิมที่ได้กำหนดไว้ และเป็นที่น่าเศร้าใจไปยิ่งกว่านี้เมื่อ ในปีนี้ อำเภอสุวรรณภูมิประกาศรับเงินสนับสนุนจากบริษัทเครื่องแอลกอฮอล์รายใหญ่ ด้วยความเห็นชอบจากนักการเมืองท้องถิ่น
ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในเทศกาลงานบุญบั้งไฟนั้น ต้องดูว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายหรือไม่ เช่น การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่ห้ามขาย ขายเกินเวลา และมีการจำหน่ายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงต้องดูว่าเข้าข่ายโฆษณาด้วย จึงจะสามารถเอาผิดได้ ซึ่งหากมีการกระทำผิดกฎหมายเดิมอยู่แล้วก็จะดำเนินการทันที แต่หากเป็นการกระทำผิดโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายจะต้องดูว่ามีกฎหมายอื่นที่สามารถเอาผิดได้หรือไม่ ส่วนเรื่องที่อยู่นอกเหนือกฎหมายต้องทำในลักษณะของการรณรงค์ขอความร่วมมือ โดยต้องดูเป็นกรณีไป