ทบ.โชว์สิ่งประดิษฐ์ภูมิปัญญานักรบไทย
ปืนใครใหญ่ เสียงคนนั้นย่อมดังกว่า... หลักการนี้คือปัจจัยพื้นฐานอำนาจการต่อรองระหว่างประเทศ
โดย...วิทยา ปะระมะ
ปืนใครใหญ่ เสียงคนนั้นย่อมดังกว่า...
หลักการนี้คือปัจจัยพื้นฐานอำนาจการต่อรองระหว่างประเทศ ฉะนั้นการเพิ่มศักยภาพกองทัพจึงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาตลอดเวลา เพื่อรักษาเสียงของประเทศให้ “ดัง” อยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ด้วยพลังทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของไทยยังอยู่ในระดับประเทศกำลังพัฒนา เขี้ยวเล็บทางทหารจึงจำเป็นต้องซื้อจากประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าด้วยเงินมหาศาล ขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาตัวเอง พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อลดงบประมาณจัดซื้ออาวุธต่างประเทศเช่นกัน
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก จึงได้จัดงานวันภูมิปัญญานักรบไทย โดยนำสิ่งประดิษฐ์ด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ได้รับรางวัลดีเด่นมาจัดแสดง โชว์ศักยภาพกองทัพว่าคนไทยก็ทำได้
ทั้งนี้ สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดไม่ใช่อาวุธ แต่เป็นยุทโธปกรณ์สนับสนุนการรบ ประกอบด้วย อุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงในเหตุการณ์ชนิดพกพา พัฒนาโดย พ.อ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ และ พ.อ.พีระพล ปกป้อง จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก อุปกรณ์ดังกล่าวมีประโยชน์ในการเฝ้าระวังและติดตาม เรียกดูภาพและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ต ติดตั้งบนรถพยาบาลและรถทหารสะดวก ทำงานได้แม้ขณะขับขี่ที่ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.
สิ่งประดิษฐ์ต่อมาคือ รถวางลวดหนามเร่งด่วนต่อพ่วงกับรถยนต์ ประดิษฐ์โดย พ.ท.วีรพจน์ สุภธีระ และ ร.อ.นิคม ธรรมนารถสกุล จากกองพันทหารช่างที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นโครงเหล็กบรรจุลวดหีบเพลง ใช้ต่อพ่วงกับรถยนต์ทางทหาร วางลวดได้ 75 เมตร และเก็บได้ภายในเวลาไม่เกิน 4 นาที ใช้สำหรับป้องกันขัดขวางบุคคลไม่ให้เข้าพื้นที่รักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีชุดแจ้งเตือนและเฝ้าระวังพื้นที่อิเล็กทรอนิกส์เฉพาะบริเวณ พัฒนาโดย พ.อ.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ และ พ.อ.พณิชพล ไร่นากิจ จากกรมทหารราบที่ 17 กองพลทหารราบที่ 7 ประกอบด้วยอุปกรณ์ภาครับ 1 ตัว และภาคส่ง 4 ตัว ทำงานโดยการวางภาครับและภาคส่งห่างกันไม่เกิน 200 ม. เมื่อเชือกสะดุดจะดึงสวิตช์ภาคส่งให้หลุด แล้วส่งสัญญาณให้อุปกรณ์ภาครับ เมื่อวางชุดแจ้งเตือนในพื้นที่ปฏิบัติการ หากมีผู้บุกรุกระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนพร้อมแจ้งตำแหน่งผู้บุกรุก
สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลต่อมาคือ อุปกรณ์เก็บปลอกกระสุน ประดิษฐ์โดย พ.อ.ศักดา ศิริรัตน์ และ พ.อ.ธวัชชัย ปารีย์ จากกรมสรรพาวุธทหารบก เป็นกระเป๋าผ้าติดกับช่องคัดกระสุน ใช้เพื่อแก้ปัญหาการเก็บปลอกกระสุนระหว่างการฝึกในภูมิประเทศ เมื่อยิงปืนออกไป ปลอกกระสุนจะถูกดีดเข้ากระเป๋าเก็บปลอกเพื่อนำไปใช้งานซ้ำต่อไป
สิ่งประดิษฐ์สุดท้ายคือ โซลาร์เซลล์แบบพกพา ประดิษฐ์โดย พ.ท.ชัยรัฐ หุ่นวิไล และ พ.ท.มานะ สิงโต จากกองพันทหารสื่อสารซ่อมบำรุงเขตหลัง เป็นอุปกรณ์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จ่ายไฟให้แบตเตอรี่วิทยุสื่อสาร น้ำหนักเพียง 1.4 กก. สามารถเคลื่อนย้ายไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ได้สะดวก
นอกจากสิ่งประดิษฐ์ด้านยุทโธปกรณ์แล้ว ยังมีสิ่งประดิษฐ์ด้านหลักการที่ได้รับรางวัลด้วย เช่น นายเตือนภัย เป็นเครื่องแต่งกายสีฉูดฉาดใส่ทับเครื่องแบบทหาร เป็นมาสคอตในการให้ความรู้เรื่องโรคและวิธีการป้องกัน คิดโดยโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ใช้สอนเรื่องลิพิดและการวิเคราะห์องค์ประกอบของลิพิดโดย Spot Test Kit
หลักการลาดตระเวนโดยใช้กระจกตรวจการณ์ทางยุทธวิธีเพื่อค้นหาและทำลายระเบิดแสวงเครื่องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดโดยโรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ แนวความคิดการจัดเตรียมกำลังและการใช้กำลังของกองทัพบก โดยกองบัญชาการช่วยรบที่ 4 และคู่มือการฝึก ว่าด้วยแบบฝึกผู้บังคับสุนัขทหาร 7 หน้าที่ โดยโรงเรียนสุนัขทหาร ศูนย์การสุนัขทหาร
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กองทัพพยายามพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ แลกเปลี่ยนความร่วมมือกับสถาบันภายนอกในการวิจัยยุทโธปกรณ์ที่ต้องการ แม้แต่การจัดซื้ออาวุธต่างประเทศก็ต้องมีเงื่อนไขถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิจัยร่วมกัน จุดประสงค์ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายและพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก
ผบ.ทบ. กล่าวอีกว่า มีสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่สามารถนำไปใช้ใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้ ฉะนั้นให้เร่งผลิตและจัดส่งโดยด่วน นอกจากนี้แล้วในอนาคตอยากให้มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เน้นไปที่อุปกรณ์ป้องกันระเบิดเพื่อคุ้มครองหน่วยย่อยที่ทำงานในพื้นที่ เพราะสิ่งที่ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนคือความปลอดภัยในชีวิตกำลังพล จากนั้นจึงค่อยพัฒนาอุปกรณ์ที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่น เครื่องตัดสัญญาณต่างๆ
“วันนี้เรามีผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานได้คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งกองทัพบกพร้อมส่งเสริมและสนับสนุน ผมได้ให้นโยบายว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ให้นำไปสู่การผลิตโดยเร็วและรีบนำไปใช้ การวิจัยและพัฒนาหลายอย่างในครั้งนี้สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้ได้”
“ถึงแม้ว่าจะมีความปลอดภัยไม่ถึง 100% ก็ตาม แต่ก็สามารถป้องกันได้ นอกจากยุทโธปกรณ์แล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้กำลังพลปลอดภัย คือ ความรู้ การฝึกทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงเครื่องมือที่จะช่วยเสริมให้สามารถทำการรบได้อย่างปลอดภัย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว