posttoday

ข่าวกรอง ข่าวกลวง

10 พฤศจิกายน 2555

ฉากแรก หนุ่มเหน้านายหนึ่งหน้าตาร่ำรวยและไฮโซมาก กำลังขะมักเขม้นกับเกมบนมือถืออย่างเอาเป็นเอาตาย พลันร้องยูเรก้าขึ้นมาว่า

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ฉากแรก หนุ่มเหน้านายหนึ่งหน้าตาร่ำรวยและไฮโซมาก กำลังขะมักเขม้นกับเกมบนมือถืออย่างเอาเป็นเอาตาย พลันร้องยูเรก้าขึ้นมาว่า นี่ไงอาวุธทำลายล้าง จึงรีบหยิบไอโฟน 5 รุ่นใหม่โทรหาสื่อรับจ้างคู่กาย ให้เร่งประดิษฐ์เรื่องราวลงบนเฟซบุ๊กในฉับพลัน “ลูกห่วงพ่อถูกฆ่า”

ฉากต่อมา นักการเมืองอาวุโสกับก๊วนไวน์สรวลเสกันอย่างเมามาย จุกไวน์เรียงรายเป็นค่ายกลต่างๆ สมมติเป็นตัวคน คนโน้นคนนี่ นี่มิตร นี่ศัตรู ทาสสีกากีนายหนึ่งบรรยายอย่างออกรส “จับขนอาวุธ จับไทยใหญ่กับอาร์พีจี จับ...จับแพะชนแกะ นายชอบเลี้ยงแกะ”

รุ่งเช้าสื่อทุกสื่อทั้งที่ซื้อได้และซื้อไม่ได้ (รวมถึงบางสื่อที่แบแบะให้ซื้อ) พากันประโคมข่าวอย่างดุเดือด นักการเมืองรายเดิมเดินเข้าหาสื่ออย่างคุ้นเคย “การข่าวของผมยืนยัน นี่มันแผนการลอบสังหารชัดๆ ภูธรห้าและตอชอดอให้ข้อมูลตรงกัน เว้นแต่ทหารไทยและทางการพม่ายังไม่รู้เรื่อง ฮ่าๆ” สายหน่อย ผู้อำนวยการความมั่นคงบุญหล่นทับพูดด้วยประโยคเดิมข้างต้น ตลอดทั้งวันเฟซบุ๊กรับจ้างเมนต์กันอย่างหลั่งไหล อันหนึ่งน่ารักมากบอกว่า “อาโอ๋ โอ่ โอ๊ เอ่ เอ๊”

ที่สภา สมุนผู้ทรงเกียรติเดินไปที่ห้องสื่อมวลชนชั้นล่าง 2 คน ที่เป็นแกนนำนั่งลงแล้วดึงไมค์มาวางให้พอดีปาก ที่เหลืออีกราวสองโหลยืนเป็นวอลเปเปอร์อยู่ข้างหลัง “ทีวีพร้อมนะน้อง” แล้วเกาไมค์แกรกๆ 3 ที “คนที่ลงขันกันเป็นพ่อค้าเหล้า ชื่อย่อ ส เสือ และ น หนู รวมเงินหกพันล้าน...(คนนั่งข้างๆ กระซิบ)... เอ้อ... มีอีกสองพัน อ้า แปดพันล้าน โอ๊ย กะเอาให้ตาย”

ทั้ง 4 ย่อหน้าข้างต้นนี้ คือ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไม่เกรงใจทั้งโอบามาและสีจิ้นผิง ผู้นำสองมหาอำนาจที่กำลังเข้าสู่ตำแหน่ง อ่านดูแล้วไม่น่าจะมีสาระอะไรที่น่าสนใจ แต่ที่เขียนให้อ่านขำๆ นี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์อยู่อย่างเดียวก็คือ อยากระบายความอึดอัดว่า บ้านเมืองของเราทุกวันนี้เขาปกครองกันด้วย “ข่าวกลวง” แล้วละหรือ

ข่าวกรอง ข่าวกลวง

 

ข่าวกลวงก็หมายถึง ข่าวที่สร้างและตกแต่งขึ้นด้วยเล่ห์กล เพื่อหลอกและลวงให้คนเชื่อถือ ทั้งที่จริงๆ แล้วไร้สาระหรือ “กลวง” คือไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง ซึ่งตรงข้ามกับ “ข่าวกรอง” ที่หมายถึงข่าวที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลหลักฐานอย่างละเอียดรอบด้าน แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ด้วยผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ จากนั้นจึงนำไปใช้ประโยชน์อย่างรอบคอบ เช่น การเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หรือเก็บไว้ใช้เป็นอาวุธในด้านความมั่นคง

ผู้เขียนรับราชการครั้งแรกที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ชื่อเดิมก็คือ กรมประมวลข่าวกลาง ที่มีคำภาษาอังกฤษเขียนกำกับไว้ว่า Central Intelligence Department แน่นอนว่าฟังดูเหมือน Central Intelligence Agency หรือ CIA ของสหรัฐ เพราะประเทศไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จำยอมรับเอาระบบบริหารราชการของมหาอำนาจประเทศนี้เข้ามา เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ก่อนกรมประมวลข่าวกลางนี้ค่อนข้างจะไฮโซมาก น้องๆ กระทรวงการต่างประเทศ คือมีลูกท่านหลานเธอเข้ามาทำงานเต็มไปหมด แต่ส่วนมากจะมาฟูมฟักเพื่อไต่เต้าไปรุ่งเรืองในที่อื่นๆ อย่างเช่น พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ท่านองคมนตรี ก็เริ่มต้นชีวิตราชการที่นี่ ก่อนที่จะไปเติบโตในสภาความมั่นคงจนถึงตำแหน่งเลขาธิการ แล้วเกษียณราชการออกมาเป็นนักการเมืองกับพรรคกิจสังคม จนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและหัวหน้าพรรคกิจสังคม หรือคุณพงส์ สารสิน ที่หลายคนรู้จักตระกูลนี้ในชื่อว่า “เคนเนดีเมืองไทย” เพราะมีอิทธิพลระดับสูงอยู่ในหลายๆ ด้าน หลังจากที่จบการศึกษาจากต่างประเทศก็มาเริ่มต้นทำงานที่นี่ก่อน ตำแหน่งสุดท้ายในทางการเมืองของท่านก็คือ เลขาธิการพรรคกิจสังคมและรองนายกรัฐมนตรี

ผู้เขียนมาทำงานที่สำนักข่าวกรองแห่งชาตินี้ด้วยแรงเชียร์ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังจากที่ท่านลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคมในตอนปลายปี 2528 ท่านก็กล่าวกับผู้เขียนที่กินเงินเดือนในตำแหน่งเลขานุการของหัวหน้าพรรคว่า “เอ็งตกงานแล้ว คนอย่างเอ็งนี้ต้องไปรับราชการสถานเดียวจึงจะรุ่งเรือง” บังเอิญสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำลังเปิดสอบรับคนเข้าไปเป็น “นักการข่าว” อยู่พอดี เริ่มต้นก็ไปสอบความรู้ทั่วไปของ ก.พ. พร้อมด้วยภาษาอังกฤษนั้นให้ผ่านเสียก่อน จากนั้นก็เรียกตัวมาสอบสัมภาษณ์ที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

การสอบสัมภาษณ์เข้มข้นและตึงเครียดมาก มีอยู่ 2 คำถามที่ผู้เขียนจำได้ คือ ข้อแรกถูกถามว่า จังหวัดชายแดนของไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีกี่จังหวัด อะไรบ้าง จึงต้องอาศัยวิชาระลึกชาติเอาตัวรอดมาได้ เพราะเคยช่วยโรงเรียนซ่อมแผนที่ประเทศไทยแผ่นใหญ่กลางโถงตึกกลางของโรงเรียนที่จบมาแล้ว 11 ปี จากนั้นก็ถูกถามว่า ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศพันธมิตร และประเทศมหาอำนาจ ประเทศในกลุ่มใดมีความสำคัญต่อประเทศไทยมากที่สุด เพราะเหตุใด ซึ่งได้ตอบไปว่า ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะอยู่ชิดติดกัน มีประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมสัมพันธ์กัน อะไรที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านจึงส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ไกลออกไปก็จะส่งผลเบาบางลงไป จากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ไปสัมภาษณ์ญาติพี่น้องและคนที่รู้จักเราจำนวนหนึ่งด้วย

วันที่ 1 ม.ค. 2529 คือวันเริ่มรับราชการ ได้เงินเดือนเดือนละ 2,240 บาท และในเดือน ม.ค.ปีนั้นมีดาวหางฮัลเลย์ปรากฏบนขอบฟ้าอยู่หลายวัน พวกเรากว่า 40 คนที่เป็นนักการข่าวในรุ่นนั้นจึงเรียกกันว่า “รุ่นฮัลเลย์” แถม 9 ก.ย.ปีนั้นก็มีกบฏเกิดขึ้นกลางพระนคร มีนักข่าวต่างประเทศตาย 1 คน เพราะอยากไปดูรถถังที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พอดีกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติก็อยู่ที่วังปารุสกวันติดกัน จึงฮือฮาว่ามีคนมาตายที่หน้าวังที่พวกเราทำงานนี้

งานหลักๆ ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติจะแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ การหาข่าวหรือจัดทำข่าวกรองเพื่อใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศด้านหนึ่ง และการต่อต้านข่าวกรองหรือป้องกันไม่ให้ใครมาหาข่าวหรือทำร้ายประเทศไทยในเรื่องของความมั่นคงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนถูกจัดให้ไปอยู่ในงานด้านที่สองนี้ โดยไปอยู่ในงานที่กำลังฮิตฮอตอย่างยิ่งในยุคนั้น คือ งานต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีผู้ร้ายสำคัญ คือ กลุ่มองค์กรการก่อการร้ายในประเทศอาหรับ ที่ดังมากๆ ก็คือ กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ (อัลกออิดะห์ของบินลาเดนยังไม่เกิดใน พ.ศ.นั้น) กลุ่มญี่ปุ่นแดง (Japan Red Army -JRA) และพวกซิกข์หัวรุนแรงที่ฆ่านางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดียในยุคนั้น

ผู้เขียนมีหน้าที่หลักในการรวบรวมข่าวสารด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เหล่านี้ (รวมกับพี่ๆ เพื่อนๆ ในที่ทำงานอีกจำนวนหนึ่ง) ซึ่งจะมีหน่วยพันธมิตรข่าวกรองทั่วโลกส่งมาให้ จัดเป็นแฟ้ม (สมัยนั้นการจัดเก็บด้วยคอมพิวเตอร์ยังแพงมาก) และเป็นรายงานใช้ประโยชน์ไปตามลำดับขั้น หรือที่ภาษานักการข่าวเรียกว่า “Need to Know” คือให้รู้เท่าที่จำเป็นของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละระดับชั้น ที่มีอยู่ 3 ระดับชั้น คือ ลับ ลับมาก และลับที่สุด

นักการข่าวไม่ใช่งานนั่งโต๊ะเพียงอย่างเดียว บางคนต้องไปอยู่ตามสนามบินและด่านชายแดนต่างๆ รวมถึงโรงแรมและสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อติดตามบุคคล (ผู้ก่อการร้าย) ที่เป็นเป้าหมาย ส่วนผู้เขียนที่เป็นเด็กใหม่ก็ออกไปทำแผนที่ในพื้นที่เป้าหมาย (ที่คาดว่าจะเป็นจุดก่อการร้าย) หัดสะกดรอยติดตาม (Surveillance) หัดพรางตัวหาข่าว (Covered) เป็นคนอาชีพต่างๆ ให้กลมกลืน บางงานก็ต้องไปเทรนหรือฝึกอบรมกันที่ต่างประเทศ เช่น ที่อิสราเอล สหรัฐ เยอรมนี และอังกฤษ ที่เชี่ยวชาญด้านการข่าวกรองประเภทพิเศษนั้น งานการข่าวนี้เป็นงานปิดทองหลังพระ แม้จะมีคนรู้ว่าเราทำงานที่นี้ ก็บอกรายละเอียดไม่ได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

ข่าวที่ได้มาจากวงไวน์หรือการเล่นเกมคอมพิวเตอร์จึงไม่ใช่ข่าวกรองครับผม