posttoday

ปริมาณน้ำในเขื่อนกฟผ.น้อยกว่าปีก่อน 19%

03 มกราคม 2556

กฟผ. เผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนลดลง 19% แต่สามารถส่งน้ำป้อน 2โครงการชลประทานขนาดใหญ่ เพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ตามแผน

กฟผ. เผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนลดลง 19% แต่สามารถส่งน้ำป้อน 2โครงการชลประทานขนาดใหญ่ เพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ตามแผน

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ในช่วงต้นปี 2556 ณ วันที่ 2 มกราคม 2555 เวลา 24.00 น. ว่า มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ทั้งหมด 43,545 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของความจุ  น้อยกว่าปีที่แล้ว 19%  หรือ 9,982 ล้าน ลบ.ม.  มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ 20,501 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555   ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นการระบายน้ำฤดูแล้ง 3,324 ล้าน ลบ.ม.  โดยอ่างเก็บน้ำทุกแห่งที่มีพื้นที่ชลประทานท้ายน้ำ มีการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนจัดสรรน้ำ     ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ลดลงตามลำดับ และมีช่องว่างในอ่างฯ สำหรับรับน้ำในช่วงฤดูฝนต่อไป

สำหรับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีแผนการระบายน้ำเพื่อโครงการชลประทานเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2555/56 จำนวน 6,800 ล้าน ลบ.ม.  โดยปัจจุบันระบายน้ำไปแล้ว  2,709 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% ของแผนทั้งหมด  ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 4,091 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนทั้งสองยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 6,776 ล้าน ลบ.ม.  ซึ่งเพียงพอที่จะระบายตลอดฤดูแล้งนี้

ปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 57%  มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 3,921 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 2,149 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 60% มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,855 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 1,942 ล้าน ลบ.ม. หลังสิ้นสุดการระบายน้ำฤดูแล้ง คาดว่าเขื่อนทั้งสองจะมีปริมาณน้ำใช้งานได้ในอ่างฯ ประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการอุปโภคและบริโภคในช่วงต้นฤดูฝนที่มักจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง