posttoday

รับไม้ลุย นิรโทษ กันชนรัฐบาล

13 กุมภาพันธ์ 2556

ความพยายามรอบใหม่กับการเดินหน้าผลักดันกฎหมาย “นิรโทษกรรม”

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ความพยายามรอบใหม่กับการเดินหน้าผลักดันกฎหมาย “นิรโทษกรรม” จุดประกายขึ้นอีกรอบ ภายใต้การนำของ “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กำลังออกตัวแบบไม่รีบไม่ร้อน

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “นิรโทษกรรม” เป็นเป้าใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการลุยต่อให้ถึงฝั่งฝัน ด้านหนึ่งเพราะต้องการเอาใจ “เสื้อแดง” นั่งร้านสำคัญที่ทำให้ “เพื่อไทย” ก้าวฝ่าอุปสรรคนานัปการมาจนถึงวันนี้

แต่หลังบริหารงานผ่านมาปีกว่าเสื้อแดง ส่วนหนึ่งยังไม่อาจหลุดพ้นคดีความ หลายรายยังไร้การเหลียวแล จนมีสถานะไม่ต่างจาก “ตัวประกัน” ที่จะหวังอานิสงส์เผื่อให้ “แกนนำ” และ “นายใหญ่” ได้รับการฟอกความผิดไปด้วย

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กระบวนการ “นิรโทษกรรม” ที่อุตส่าห์ฝ่าแรงเสียดทานเดินหน้ามาต้องสะดุดหยุดลงกลางทางค้างคาอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภา แบบไม่อาจฝืนเดินหน้าต่อไป และไม่อาจตัดใจถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ ออกไปเช่นกัน

สุดท้ายทำได้เพียงแค่เล่นเกมยื้อ ดึงเกมยาว ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียด ซื้อเวลาออกไปก่อน ในช่วงที่รัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับมรสุมรุมเร้า ทั้งเรื่องความล้มเหลวในการบริหารนโยบายตลอดปีกว่าที่ผ่านมา

รวมทั้งอาจกระทบไปถึงศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นเดิมพันสำคัญของ 2 พรรคใหญ่ จนไม่อาจผลีผลามทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับการเสียคะแนนเสียงของคนกรุง

แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ “เสื้อแดง” เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจเรื่องนิรโทษกรรม คู่ขนานไปกับข้อเสนอจากฝั่งคณะนิติราษฎร์ และข้อเสนอจาก “อุกฤษ มงคลนาวิน” ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่เป้าหมายต้องการให้เดินหน้านิรโทษกรรม แต่แตกต่างกันในเนื้อหารายละเอียด

สุดท้ายแรงกดดันทั้งหมดจึงถูกโยนกลับมาที่สภาอีกครั้ง ทว่าเปลี่ยนตัวละครจาก “ขุนค้อน-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ที่เคยรับหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟันครั้งที่แล้วมาเป็นรองฯ เจริญ ในรอบนี้

สาเหตุ ประการแรก ที่ต้องให้สภารับเป็นแม่งานครั้งนี้ เนื่องจากต้องการ “ตัดตอน” ความรับผิดชอบทั้งหมดไม่ให้กระทบกระเทือนไปถึง “รัฐบาล” โดยเฉพาะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตีกรรเชียงลอยตัวไม่เข้ามาร่วมแบกรับแรงเสียดทานตั้งแต่ต้น

ประการต่อมา ที่ต้องโยน “เผือกร้อน” ให้รองฯ เจริญ เป็นเพราะ “ขุนค้อน” ซึ่งยังไม่หายจากอาการบอบช้ำในรอบที่แล้ว เริ่มออกอาการฝ่อ ไม่อยากเปลืองตัวซ้ำสอง ยิ่งในภาวะที่ยังมีคดีถูก สส.ประชาธิปัตย์ 127 คนเข้าชื่อยื่นถอดถอน ค้างคาอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผลพวงจากลุยผลักดันเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองครั้งก่อน

สะท้อนผ่านสัญญาณล่าสุดที่ “ขุนค้อน” รีบออกตัวว่า “ผมยังมีบารมีไม่พอ ...แต่ผมเชื่อมั่นว่าในอดีตที่ผ่านมาอะไรที่ควรผมก็ทำมาดีแล้ว และอยากขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาคุยกัน”

ออกตัวต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว “เจริญ” เชิญตัวแทนจากเสื้อเหลือง เสื้อแดง หารือสัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ ก่อแก้ว พิกุลทอง วรชัย เหมะ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ รวมทั้ง วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ มาร่วมหารือสู่การเดินหน้านิรโทษกรรมรอบใหม่ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนคืบหน้า

ต่อเนื่องด้วยแผนที่จะคุยกับ 2 พรรคใหญ่ เกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ให้แต่ละฝ่ายเสนอเงื่อนไขขึ้นมา เริ่มจากที่ “เจริญ” เดินทางไปถึงกระทรวงมหาดไทย พูดคุยกับ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

แต่ใช่ว่าเส้นทางนี้จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อแนวคิดเบื้องต้น เตรียมเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเป็น 2 รูปแบบ คือ ส่วนแรก เฉพาะประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งสามารถทำได้ทันที ส่วนที่สอง ส่วนของแกนนำ ที่จะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาว่ากรณีไหนเข้าข่ายอย่างไร ซึ่งส่วนนี้อาจจะต้องกินเวลาบ้าง โดยจะเสนอขึ้นเป็น พ.ร.บ. 2 ฉบับ เข้ามาพร้อมกัน

ในส่วนแรก การนิรโทษกรรมประชาชนทั่วไป ตรงนี้หากเป็นความผิดเฉพาะการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้นก็คงไม่มีปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเฉพาะในส่วนนี้ แต่ไม่รวมไปถึงความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เผาบ้านเผาเมือง และฆ่าคนตาย

ส่วนที่สอง จะเป็นปัญหา คือ ส่วนของแกนนำ ซึ่งอาจพ่วงไปถึง “คนแดนไกล” แน่นอนว่าย่อมถูกต่อต้านจากประชาธิปัตย์และฝ่ายอื่นๆ

แม้ทาง “เจริญ” จะระบุว่า ได้ประสานกับประชาธิปัตย์เบื้องต้นผ่านไป “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” แต่ในขณะที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ยังปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องนี้

ที่สำคัญทางวิปฝ่ายค้านยังออกมาตั้งแง่ว่าการจะดำเนินการใดๆ ต้องเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคมก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นชนวนนำไปสู่ความแตกแยก ขัดแย้ง พร้อมทวงถามถึงความคืบหน้า “สุนทรีเสวนา” ก่อนที่จะดำเนินการ และเรียกร้องให้ถอน พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ ที่ค้างอยู่ในสภาออกไปก่อน

การเคลื่อนไหวนิรโทษกรรมระลอกใหม่นี้จึงจัดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นอีกทางเลือกใหม่ของรัฐบาลในเวลานี้