posttoday

ประดิษฐปิดช่องเจรจาม็อบ ยันล้ม P4P ไม่ได้

24 เมษายน 2556

รมว.สาธารณสุขยันเดินหน้าจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน เชื่อเป็นประโยชน์ ยันมีช่องพร้อมให้หมอชนบทร้องเรียนถูกต้อง

รมว.สาธารณสุขยันเดินหน้าจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน เชื่อเป็นประโยชน์ ยันมีช่องพร้อมให้หมอชนบทร้องเรียนถูกต้อง

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรมว.สธ. จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลัง ชมรมแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กลุ่มคนรักษ์หลักประกันสุขภาพ จัดชุมนุมขับไล่ออกจากตำแหน่งรมว.สาธารณสุข

ทั้งนี้ นพ.ประดิษฐ เปิดเผยว่า ได้เชิญตัวแทนผู้ชุมนุมจากองค์กรต่างๆ เข้าร่วมหารือ และพร้อมชี้แจงในทุกประเด็นแล้ว แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ได้ยื่นเงื่อนไข 2 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งให้เริ่มใช้ค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P)  และ 2. ให้กลับไปใช้ระเบียบสธ. ฉบับที่ 4 และ 5 ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายสำหรับโรงพยาบาลชุมชนนั้น ซึ่งยืนยันว่าไม่สามารถลัมหลักการใหญ่ตามข้อเสนอของผู้ชุมนุมได้ เพราะถือเป็นกรอบนโยบายใหญ่ที่สธ.วางไว้ ให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สธ.พร้อมที่จะเจรจา และตกลงกันในระดับพื้นที่ หากเห็นว่าปริมาณเงินยังไม่เหมาะสม หรือต้องการให้ปรับเกณฑ์การจ่ายเงิน ปรับเกณฑ์อายุ หรือปรับระดับพื้นที่ก็ยินดี ซึ่งทางผู้ตรวจราชการ และผู้บริหารสธ.พร้อมรับฟัง แต่หากยังใช้จินตนาการ และความกลัวคาดการณ์ล่วงหน้า ก็จะทำให้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ 2-3 เดือนที่ผ่านมา สธ.จมปลักอยู่กับเรื่องนี้มานาน อยากให้เดินหน้าต่อในเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์มกกว่า อย่างไรก็ตาม เสียใจที่วันนี้ ไม่ได้มานั่งทำความเข้าใจและชี้แจงกันให้ชัดเจน

ส่วนประเด็นการจัดซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ยืนยันว่า สธ.ได้ชะลอการจัดซื้อไว้แล้ว และจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป และการยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบความผิดปกติของอภ. ก็เป็นไปตามขั้นตอนปกติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ขณะที่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องการคิดคะแนนที่กลุ่มแพทย์ชนบทแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น สธ.พยายามรับฟังความคิดเห็น โดยมีคณะกรรมการระดับเขตคอยวินิจฉัยเป็นรายเขต ขณะที่การเพิ่มวงงบประมาณสำหรับจ่าย P4P จาก 1%  เป็น 2% ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน และไม่เป็นไปอย่างที่กลุ่มแพทย์ชนบทกังวล นอกจากนี้ นโยบายของสธ. ในการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการแชร์ทรัพยากรในระบบเขตสุขภาพ หรือการจัดซื้อยาร่วมกันภายในเขต ก็จะทำให้แพทย์ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างที่กังวล

อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 13.15 กลุ่มผู้ชุมนุมหน้าสธ. ได้สลายตัว เพื่อเตรียมเดินทางไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และยื่นหนังสือให้ตรวจสอบระเบียบ P4P ของสธ. รวมถึงตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด ต่อไป