เกมถล่ม "ศาลรธน." แผนคุ้มกัน "ยิ่งลักษณ์"
ในที่สุด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต้องกลับมาเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมืองอีกครั้ง
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
ในที่สุด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต้องกลับมาเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่แสดงออกถึงการต่อต้านศาลอย่างชัดเจน อย่างน้อยก็แสดงออกให้เห็นถึง 4 เหตุการณ์
1.การประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและ สว.บางส่วน เพื่อต่อต้านจากกรณีที่ศาลรับคำร้องตามมาตรา 68 ว่าด้วยการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา
2.พรรคเพื่อไทยเดินหน้ารวบรวมรายชื่อ สส.และ สว. เพื่อถอดถอนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง
3.ความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เตรียมชุมนุมต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 12 พ.ค. โดยใช้พื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีมวลชนบางส่วนได้ไปปักหลักบริเวณหน้าอาคารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้ว
4.การแสดงความคิดเห็นของ “อุกฤษ มงคลนาวิน” ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอแนวคิดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ 9 ปี
ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏขึ้นมาขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความพยายาม เพื่อสร้างแรงกดดันไปยังตุลาการทั้ง 9 คนโดยตรง ซึ่งสอดรับกับจังหวะที่ศาลกำลังจะมีคิวพิจารณาเรื่องร้อนที่สะเทือนถึงรัฐบาลในเร็วๆ นี้ 2 เรื่อง
เรื่องที่ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ถูกร้องทั้ง 312 คน ซึ่งเป็น สส.และ สว.ที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขทำคำชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 26 เม.ย.
เรื่องที่ 2 ร่าง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แม้ว่าจะยังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ทันทีที่ผ่านวุฒิสภา แน่นอนว่าฝ่ายค้านและกลุ่ม 40 สว.เตรียมส่งให้ศาลมีคำวินิจฉัยก่อนที่กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะมีผลบังคับใช้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากได้ตรากฎหมาย เพื่อจัดสรรงบประมาณนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด
แม้ว่าวันนี้รัฐบาลยังเป็นรัฐบาลอยู่ได้ เพราะทั้งสองกรณีศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยออกมา แต่หากในอนาคตศาลเกิดมีคำวินิจฉัยไม่เป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยเมื่อไหร่ ย่อมหมายความว่า เสถียรภาพของรัฐบาลย่อมถูกสั่นคลอนไปด้วย
โดยขอให้ดูโมเดลของ “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นตัวอย่าง
กล่าวคือ เมื่อปี 2551 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไทยและกัมพูชาที่นพดลไปลงนามขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ปรากฏว่าได้ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนชี้มูลความผิดและส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ประเมินภายใต้สมมติฐานที่ว่า ถ้าคดีหนึ่งคดีใดหรือทั้งสองคดีมีความผิดฐานมีบทบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญหมายความว่า จะมีการฟ้องคดีไปยัง ป.ป.ช. เพื่อขยายผลให้ดำเนินคดีเพื่อเอาผิดทางอาญาเท่ากับว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ต้องตกกระไดพลอยโจนไปด้วย
“ยิ่งลักษณ์” มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นหนึ่งคณะรัฐมนตรีที่เสนอร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และร่วมลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญนั้นถึงนายกฯ ปู จะไม่ใช่ผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไข แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกฟ้องร้องเพิ่มเติม
ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่าการเสนอกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่มีความผิดอาญาก็ถือว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ฟาดเคราะห์และสามารถอยู่บนเก้าอี้ผู้นำประเทศได้อย่างมั่นใจต่อไป แต่หากถูกชี้มูลความผิดจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
กรณีเหล่านี้เป็นความหวาดผวาของพรรคเพื่อไทยที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ การหาตัวนายกฯ คนใหม่ไม่ง่ายอย่างที่คิดนอกเหนือไปจากการกลัวอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงการเมือง
ถึงมี “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” เข้ามาเป็นสส. เพื่อสืบทอดอำนาจต่อทันที แต่ในทางปฏิบัติ “เจ๊แดง” ก็ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของบางกลุ่มในพรรค ส่งผลให้จะเป็นการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมากกว่า
จึงกลายเป็นปัจจัยให้เสื้อแดงต้องเร่งเดินหน้าเขียนภาพศาลรัฐธรรมนูญให้สังคมเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ในทางการเมือง หวังสร้างแรงกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญนำบริบททางรัฐศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีด้วย ไม่ใช่ยึดเฉพาะหลักนิติศาสตร์ เพื่อวินิจฉัยปัญหาเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งได้
เกมนี้ นปช.และพรรคเพื่อไทยพร้อมทุ่มเต็มที่แบบ “แพ้ไม่ได้” โดยมีอนาคตและความมั่นของรัฐบาลพร้อมด้วยยิ่งลักษณ์เป็นเดิมพันท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังไม่เข้าใครออกใคร