posttoday

สงคราม CO2

05 พฤษภาคม 2556

กลุ่มประชาคมยุโรป ประกอบไปด้วย ประเทศสมาชิก 27 ประเทศ เป็นกลุ่มสมาชิกที่มีอิทธิพลและกำหนดกติกาต่างๆ ออกมาบังคับใช้กับมวลสมาชิกอื่นๆ บนโลกนี้อยู่เสมอๆ

กลุ่มประชาคมยุโรป ประกอบไปด้วย ประเทศสมาชิก 27 ประเทศ เป็นกลุ่มสมาชิกที่มีอิทธิพลและกำหนดกติกาต่างๆ ออกมาบังคับใช้กับมวลสมาชิกอื่นๆ บนโลกนี้อยู่เสมอๆ กลุ่มประชาคมยุโรปหรืออียู มองเห็นปัญหาของโลกด้วยความวิตกกังวล โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ในปี พ.ศ. 2548 กลุ่มอียูได้ออกกฎขึ้นมาเรียกว่า ETS กฎนี้ออกมาเพื่อบังคับให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในกลุ่มอียู ลดการปล่อย CO2 เพื่อให้โลกใบนี้เดินทางไปสู่จุดจบช้าลง หลังจากใช้กฎนี้ไปสักระยะหนึ่ง ปรากฏว่าได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจ อียูก็ชักติดใจเลยออกมาตรการเพิ่มขึ้นมาอีก โดยมาตรการที่เพิ่มขึ้นมานี้เล่นเอาลือลั่นสนั่นโลกเลยทีเดียว นั่นก็คือกลุ่มอียูใช้กฎนี้กับธุรกิจการบินด้วย เพราะธุรกิจการบินในปัจจุบันปล่อย CO2 รวมกันประมาณ 3% ของ CO2 ที่ปล่อยกันอยู่ทั่วโลก

มาตรการนี้ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2555 ทำให้สายการบินต่างๆ เร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ เพราะถ้าไม่จ่ายค่า CO2 ให้กลุ่มอียู สายการบินนั้นก็จะถูกห้ามบินเข้าออกกลุ่มนี้ทันที ดังนั้น ทุกสายการบินจะต้องจ่ายค่า CO2 ที่นำมาปล่อยในกลุ่มอียูในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มอียูคิด 15% ของการปล่อย CO2 ทั้งหมด และจะขึ้นเป็น 18% ในปี พ.ศ. 2556 กระทั่งมีการคำนวณกันว่า 15% ที่สายการบินต้องจ่ายเป็นค่า CO2 ให้แก่อียูนั้นคิดเป็นเงินเท่าใด

นักการเงินที่เชี่ยวชาญเรื่องสายการบินบอกว่า อียูรับเงินจากงานนี้ในปี พ.ศ. 2555 ประมาณ 256 ล้านยูโร หรือราวหมื่นกว่าล้านบาท การบินไทยของบ้านเราเจอไปเบาะๆ ประมาณ 800 ล้านบาท ถ้าประเทศบนโลกนี้เป็นเด็กดีเหมือนประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเดินหน้าเก็บเงินของกลุ่มอียูก็คงจะฉลุย แต่เผอิญบนโลกนี้มีประเทศจีนตั้งอยู่ด้วย งานนี้อียูเลยติดคอครับ

จีนเป็นประเทศแรกที่ออกมาตอบโต้มาตรการนี้ โดยบอกว่าด้วยมาตรการในลักษณะนี้จะทำให้เกิดสงครามทางการค้าขึ้นทั่วโลก และเป็นการก้าวล่วงสิทธิการบินของจีน ทั้งนี้ จีนบอกว่าถ้ายอมให้กลุ่มอียูในปี พ.ศ. 2555 จีนต้องจ่ายให้อียูคิดเป็นเงินประมาณ 125 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท และในอีก 8 ปีข้างหน้า จีนจะต้องจ่ายเงินประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยมาตรการนี้กลุ่มอียูไม่ต้องทำอะไรเลยในระยะ 8 ปี ก็จะเก็บเงินจากสายการบินต่างๆ รวมเป็นเงิน 2.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สุดท้ายจีนประกาศว่าสายการบินของจีน 3 สายการบินจะไม่จ่ายค่า CO2 ให้กับอียูแม้แต่สตางค์แดงเดียว

เดือดร้อนสิครับงานนี้ พอจีนบอกว่าไม่จ่าย อินเดียก็ประกาศว่าไม่จ่ายเช่นกัน ตามมาด้วยรัสเซีย อเมริกา และอีกหลายประเทศ นั่นทำให้อียูนั่งไม่ติดเก้าอี้ พร้อมออกมาแถลงว่า หากสายการบินใดไม่จ่ายค่า CO2 ก็จะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราสูงมากเลยทีเดียว และสุดท้ายก็อาจจะพิจารณากักเครื่องบินของสายการบินที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของอียู เมื่อการแถลงข่าวแข็งกร้าวเช่นนี้ จีนก็นั่งไม่ติดเหมือนกันครับ

เว่ยจิ้งจง เลขาธิการสมาคมการขนส่งทางอากาศของจีน ออกมายืนยันว่าจะไม่จ่ายและจะต่อต้านกฎนี้อย่างถึงที่สุด

เขาบอกว่า “เราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสงครามทางการค้า เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องเงินหรอก แต่มันเกี่ยวกับอธิปไตยของจีน” เขายังสรุปด้วยว่าจีนไม่อยากเห็นภาพที่อียูกักเครื่องบินของประเทศที่ไม่จ่ายค่า CO2 เพราะจีนก็จะกักเครื่องบินของประเทศในกลุ่มอียูเป็นการตอบโต้ และไม่อยากตอบโต้ที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญจีนยังบอกด้วยว่า ถ้าสายการบินของกลุ่มอียูบินผ่านประเทศจีนก็ย่อมที่จะปล่อย CO2 ในประเทศจีนด้วยเช่นกัน จีนก็จะต้องขอเก็บค่า CO2 ด้วย

จีนประกาศให้อียูยกเลิกกฎนี้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดสงครามทางการค้า เว่ยจิ้งจง ออกมาแถลงตอบโต้กลุ่มอียูได้ไม่กี่วัน ทางรัฐบาลจีนก็ออกมาเล่นบทที่กลุ่มอียูสะดุ้งไปตามๆ กัน จีนสั่งชะลอการผลิตเครื่องบินแอร์บัส A380 ของกลุ่มอียูออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งมูลค่าเครื่องบินแอร์บัสที่จีนสั่งชะลอคิดเป็นเงินราว 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พอจีนเล่นบทแข็งขึ้นมา อินเดียก็ประกาศไม่เอาด้วยกับมาตรการนี้ ตามมาด้วยรัสเซียและสหรัฐอเมริกา สุดท้ายมี 26 ประเทศต่อต้านกฎข้อนี้ รวมทั้งการบินไทยของเราก็ออกมาต่อต้านด้วยเช่นกัน

โทนี่ ไทเลอร์ อธิบดีสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกมาแถลงข่าวว่า การตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ระหว่างกลุ่มอียูกับรัฐบาลจีนและหลายประเทศนั้นได้ผลักดันให้ธุรกิจสายการบินทั้งหมดอยู่ในสภาพชะงักงัน และด้วยเหตุการณ์นี้จะทำให้ธุรกิจการบิน ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวจากการซบเซาของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้วจะยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก ทุกฝ่ายควรหันหน้ามาเจรจา

ผู้เชี่ยวชาญด้านอียูออกมาให้ความเห็นว่า งานนี้น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มอียูเดินมาไกลมากแล้วในเรื่องนี้ ไกลเกินกว่าที่จะกลับหลังหันให้ตัวเองขายหน้า ปรากฏว่างานนี้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ผิดครับ อียูยอมชะลอกฎนี้ออกไปก่อน โดยให้มีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 2557 และเพื่อไม่ให้หน้าแตกเป็นครั้งที่ 2 กลุ่มอียูเลยขอเชิญมวลสมาชิกสายการบินมาประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไปในเดือน ต.ค. 2556 ซึ่งไม่ว่าผลการประชุมจะออกมาอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้บอกความจริงอยู่ 3 ประการก็คือ จากนี้ไปไม่มีใครจะมีอิทธิพลเหนือโลกใบนี้ได้โดยลำพังอีกแล้ว

ไม่ว่าจะด้วยมาตรการอะไรก็ออกมาบังคับใครไม่ได้เลย สุดท้ายอนาคตของโลกยังคงมืดมนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง...น่าจะเป็นเช่นนั้น