"ที่สุดของชีวิต"18ปีถวายงานในหลวง
คุณจะไม่เคยเห็นกษัตริย์ที่ไหนใช้ชีวิตเหมือนคนปกติเท่าพระองค์ท่าน ทั้งชีวิตที่ผมเห็น พระองค์ท่านไม่เคยฟุ้งเฟ้อ แล้วท่านนึกถึงประชาชนเยอะมาก
โดย.....ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว/สุภชาติ เล็บนาค
“โพสต์ทูเดย์” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และพ่วงด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งคนไทยคงจดจำกันได้ดี ในฐานะผู้ถวายงานเข็นพระเก้าอี้เลื่อน ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้ง ที่เสด็จลงจากที่ประทับที่โรงพยาบาลศิริราชเรื่อยมา
อันที่จริง อาจารย์หมอประดิษฐ์ มีโอกาสได้รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2538 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว เป็นต้นมา ในฐานะแพทย์เวรประจำ และทำหน้าที่ทีมถวายการรักษาพระหทัย ของพระองค์ท่าน ซึ่งคุณหมอประดิษฐ์ย้อนกลับไปให้ฟังว่า การได้รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นโชคดีที่สุดของชีวิต และไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ หากแต่มาด้วยความกตัญญู
“ผมเป็นแพทย์จบแล้ว และเริ่มเป็นอาจารย์แพทย์ สาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาได้สักพักหนึ่ง ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ท่านก็จำผมได้ดี เพราะชื่อประดิษฐ์เหมือนกัน และเวลามีเรื่องอะไรเกี่ยวกับเรื่องหัวใจ ท่านก็จะเรียกผมมาปรึกษา วันนั้นท่านเรียกผมมาพบ” นพ.ประดิษฐ์ย้อนให้ฟังถึงวันสำคัญวันนั้น
“ท่านบอกว่า ‘เฮ้ยดิษฐ์ ลื้อเป็นเด็กชงถุงกาแฟมานานแล้ว ลื้อน่าจะไปเรียนชงกาแฟหว่ะ’ ผมก็ถามว่าแปลว่าอะไรครับ ท่านก็บอกว่าได้ติดต่อหkทุนมหาวิทยาลัยที่กลาสโกลว์ สกอตแลนด์ ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของโลก ว่าให้ผมไปเรียน Medicine ที่นั่น แล้วค่อยไปต่อ เฉพาะทางหัวใจ ใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี”
แต่ตอนนั้น คุณหมอประดิษฐ์ ปฏิเสธทันทีว่าไม่ไป เพราะตอนนั้นคุณแม่เริ่มไม่สบาย และอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว จึงตอบกลับคณบดีฯ ไปว่า หากไปนาน 5 ปี เมื่อกลับมาแล้ว คุณแม่ต้องจำไม่ได้แน่นอน
“แต่คณบดีท่านเก่ง ท่านเป็นคนที่มีวาทศิลป์ วันหนึ่งท่านก็พูดขึ้นมาว่า ‘ผมเข้าใจว่าคุณสามารถเดินขึ้นบันไดไปถึงข้างบนได้ แต่มันเดินทีละขั้นใช้เวลานาน ทำไมไม่ยกตัวเองขึ้น ไปเรียนต่อตรงนั้น กลับมาแล้วยกตัวเองอยู่ข้างบนเลย’ ผมก็ตอบว่าขอบคุณมากครับ แต่คุณแม่ผมต้องมีคนดูแล”
หลังจากนั้น ในช่วงเดียวกัน อาจารย์ของคุณหมอประดิษฐ์ อีกคน ก็ชวนให้ไปเรียนในสาขาเฉพาะทางการทำหัตถการปฏิบัติสายสวนโรคหัวใจและหลอดเลือด ณ Green Lane Hospital ประเทศนิวซีแลนด์ โดยใช้เวลาแค่ 1 ปีครึ่ง ซึ่ง นพ.ประดิษฐ์ ก็ตอบรับ เนื่องจากใช้เวลาสั้นกว่ามาก
“พอปีครึ่ง ผมกลับเมืองไทยเดือน พ.ย. 2537 ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีปัญหาเกี่ยวกับพระหทัย สมัยนั้น ทางแพทย์ประจำพระองค์ ก็ดูว่ามีโรงพยาบาลแห่งไหนที่เหมาะจะรักษาพระอาการบ้าง ผมก็ได้รับโอกาสให้ไปนำเสนอว่าศิริราชมีอะไรบ้าง สรุปเขาก็เลือกที่นี่ ผมก็มีโอกาสได้ถวายงานรับใช้ 6 เดือนหลังจากนั้น ก็มีพระบรมราชโองการให้ผมเป็นแพทย์เวรประจำ ตั้งแต่ปี 2538”
“เรื่องนี้ บอกได้แค่ว่าชีวิตหนึ่งคุณมีโอกาสเลือก เพราะฉะนั้นเลือกให้ดีๆ วันนั้น ถ้าผมเลือกไปอยู่สกอตแลนด์ ผมก็ไม่มีสิทธิได้รับใช้ท่าน แต่ผมเลือกแม่ผม ผมก็เลยได้รับโอกาสนี้” รศ.นพ.ประดิษฐ์ เล่าให้ฟัง
ส่วนความรู้สึกในการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น นพ.ประดิษฐ์ บอกว่า
“คุณจะไม่เคยเห็นกษัตริย์ที่ไหนใช้ชีวิตเหมือนคนปกติเท่าพระองค์ท่าน ทั้งชีวิตที่ผมเห็น พระองค์ท่านไม่เคยฟุ้งเฟ้อเลย แล้วท่านนึกถึงประชาชนเยอะมาก พวกเราบางทียังใช้ของหรูกว่าท่านเลย ยาสีฟัน น้ำหอม เสื้อผ้า ท่านใช้เหมือนคนปกติ ท่านเป็นคนสมถะ ทานอาหารก็เป็นอาหารธรรมดา หากษัตริย์ที่ไหนไม่ได้แล้วในโลกนี้”
“ท่านชอบพูดอยู่อย่างหนึ่งคือ ‘เวลาเรียนให้เป็นเล่น เวลาเล่นให้เป็นเรียน’ เช่นเรื่องน้ำ เด็กๆ ท่านทำเขื่อน ก็เรียนรู้จากตรงนั้น จนท่านมีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำ นี่คือเล่นให้เป็นเรียน พยายามเรียนให้สนุก โชคดีที่คนไทยมีท่าน ได้เรียนรู้จากท่านสุดยอดแล้ว ผมอยู่ใกล้ท่าน ผมได้เรียนรู้สิ่งที่ดีจากท่านมาเยอะมาก แค่นี้พอแล้วชีวิตผม”
************************
จุดเปลี่ยนชีวิต
“ตอนมัธยมต้น ครั้งหนึ่ง คุณพ่อผมไม่สบาย พอพาไปคลินิก เขาก็ตรวจไม่ได้ว่าคุณพ่อเป็นโรคอะไร คุณพ่อก็บอกเพียงว่าเจ็บปอดมาก ท่านก็ปวดมาก เป็นอะไรเราก็ไม่รู้ หมอก็ให้ยามา ท่านก็ไม่ดีขึ้น เราไม่รู้ว่าสมัยนั้นคืออะไร สุดท้ายท่านก็เสียจากอาการนั้น โดยไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าเสียเพราะอะไร จนสุดท้ายเรามาปะติดปะต่อว่า น่าจะเป็นเพราะท่านชอบสูบบุหรี่ แต่เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนหมอในที่สุด”
คุณหมอประดิษฐ์เล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจเรียนคณะแพทยศาสตร์สุดท้าย เมื่อถึงจุดที่จะต้องเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัย นพ.ประดิษฐ์ บอกว่า ตั้งใจแน่วแน่ ที่จะเรียนหมอ ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โดยหากสอบไม่ติดคณะแพทย์เป็นอันดับ 1 อันดับอื่นก็ไม่ได้เลือกคณะแพทย์อีกเลย หากแต่เป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงบัญชี สถิติ
ถามว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเลือกศิริราชเป็นที่เดียว นพ.ประดิษฐ์ บอกว่า ไม่เข้าใจตัวเองเช่นกัน เพราะแม้เขาจะเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช แต่หลังจากนั้นไม่เคยกลับมาที่นี่อีกเลย จนสุดท้ายเอนทรานซ์ติดแพทย์ศิริราชในที่สุด
“ตอนเข้าเรียนแพทย์ เรียนเหมือนคนอื่น สไตล์เดิม ผมตั้งใจฟังอาจารย์สอนก็จริง แต่ผมยังทำกิจกรรมเหมือนเดิมผมอาจจะกลับหอดึกหน่อย เพราะผมต้องนั่งรถเมล์สาย 72 ไปส่งแฟนที่เอกมัย ผมจะใช้เวลาที่นั่งรถเมล์นั่งอ่านทบทวนบทเรียนไป กว่าจะถึงหอก็ 3 ทุ่ม”
แต่คุณหมอประดิษฐ์ บอกว่า วิธีการเรียนแพทย์ของเขา ต่างจากคนอื่น เพราะเขายึดคนไข้เป็นหลัก มากกว่าจะยึดบทเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น แต่ละวัน จะเห็นหมอประดิษฐ์คลุกคลีอยู่กับคนไข้ในวอร์ด และจดรายละเอียด ชื่อเล่น อาการคนไข้ ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อกราวด์ และนำอาการเหล่านี้มานั่งศึกษา เพื่อรักษาคนไข้เหล่านี้ มากกว่าจะนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่ห้อง
“สมัยนั้น ผมไปซื้อสมุดที่ดีที่สุด แล้วทำเป็นสารบัญว่าหน้าไหนเรียนเรื่องไหนบ้าง เพราะฉะนั้นสมุดผมจะจดอย่างเป็นระบบ จะย้อนอ่านเรื่องโรคหัวใจ โรคสมอง ก็รู้ว่าหน้าไหน เอากลับไปทบทวนได้ หากอาจารย์สอนเรื่องโรคสมองเพิ่มเอาชอร์ตโน้ตไปแปะไว้ในหน้าที่เป็นโรคสมอง เล่มเดียว รู้หมดทุกโรค กลับไปก็อ่านให้เข้าใจ จัดระบบไว้ดีมาก พอมานึกย้อนดู เหมือนกับการจัดไฟล์ ใส่ไว้แต่ละโฟลเดอร์ หลักการเดียวกันกับการจัดโฟลเดอร์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้ ”หมอประดิษฐ์ เล่าให้ฟัง
หลังเรียนจบ นพ.ประดิษฐ์ ไปใช้ทุนเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลโนนสมบูรณ์ จ.ขอนแก่น และ สถาบันราชประชาสมาสัย (พระประแดง) หลังจากนั้น เขาเลือกใช้ทุนและเรียนต่อในสาขาอายุรศาสตร์ และหลังจากเรียนจบ เรียนต่อในสาขาอายุรศาสตร์หัวใจ ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลทันที
นพ.ประดิษฐ์ บอกว่า หลังจากใช้ทุนเสร็จ รู้สึกอยากเป็นอาจารย์หมอขึ้นมาทันที เพราะรู้ตัวว่า “ชอบสอน” น้องๆ นักเรียนแพทย์
“พอจบกลับมา คุณต้องคุมวอร์ดที่ศิริราชด้วย พอเห็นน้องนักเรียนแพทย์ ตอนเย็นๆ ผมจะบอกว่า ‘มาเดี๋ยวพี่สอนเอง’ พอยิ่งสอนเท่าไร คุณจะรู้สึกว่ามันท้าทายมากขึ้น แล้วรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น พอน้องถามกลับว่า ‘อย่างนี้ใช่แน่เหรอ’ ถ้าไม่แน่ใจผมต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่ม ให้ตอบน้องๆ ได้ ซึ่งเขาก็ได้ ผมก็ได้ด้วย”
ส่วนสาเหตุที่เลือกเรียนสาขาอายุรศาสตร์หัวใจนั้น นพ.ประดิษฐ์ บอกว่า เขาไม่รู้เหตุผลจริงๆ โดยเปรียบเสมือนกับการชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่าทำไมถึงชอบ แต่เมื่อองค์ประกอบภาพรวมมันใช่ทั้งหมด ก็ตัดสินใจเลือกเรียน
“สมัยนั้น การรักษาโรคหัวใจไม่มีวิวัฒนาการอะไรเลย คนเรียนไม่มาก จะวินิจฉัยโรค ต้องใช้หูกับใช้มือคอยตรวจอย่างเดียว แต่สมัยนี้พอคนไข้หัวใจวายเข้ามา อัลตราซาวด์รู้แล้ว หรืออย่างยารักษาโรค สมัยก่อนคุณต้องจดใส่กระดาษ แล้วจำอาการว่ายาอะไรใช้รักษาอะไร แต่เดี๋ยวนี้คุณเปิดในมือถือก็รู้แล้ว”นพ.ประดิษฐ์ เล่าให้ฟัง
รุ่นที่ นพ.ประดิษฐ์ เรียนนั้น โชคดีอย่างหนึ่งที่เป็นหมอชุดแรกๆ ที่ได้ผ่าหลอดเลือดหัวใจด้วยการใช้บอลลูน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของประเทศไทยในยุคนั้น
“คุณเป็นหมอ ถ้าคุณรักษาผิดคุณไม่มีโอกาสซ่อม เพราะคุณซ่อมคนตายไม่ได้ เพราะฉะนั้น นี่คือวิชาชีพหนึ่งที่ต้องมีความกดดันสูงมาก เพราะหมอไม่ได้เก่ง และหมอไม่ได้ถูกเสมอ”
“อาจารย์ท่านหนึ่งสอนผมว่า ให้คิดว่าคนไข้เป็นญาติ แล้วให้รักษาคนไข้อย่างที่คุณรักษาญาติคุณ ถ้าเป็นญาติคุณคุณก็ต้องมั่นใจ คุณต้องไปอ่านหนังสือจนกว่าคุณจะรักษาได้ อย่าไปมั่ว หรือเวลาตัดสินใจส่งต่อ ก็คิดว่าเป็นญาติคุณ คุณจะส่งต่อหรือไม่ หลักคิดมีแค่นี้”
“ถ้าผมไม่ทำ คงเดินออกจากศิริราชลำบาก”
“คนศิริราชจะมีลักษณะเฉพาะตัว สมัยก่อนถ้าคุณเห็นจะรู้ว่าจบศิริราชชัวร์ จบรามาชัวร์ เพราะคนศิริราชจะเคารพพี่มาก พี่สั่งอะไรก็โอเค จบ อันที่สองคือเวลารักษาคนไข้ อย่ามาถามทีหลังว่ารอดได้อย่างไร แต่หมอศิริราชทำให้รอดได้ก็แล้วกัน นี่คือสไตล์ของศิริราช พออยู่ไปนานๆ จะหล่อหลอม แพทย์รุ่นหลังๆ ก็จะมาแบบเดียวกันหมดกลายเป็นวัฒนธรรม”
นพ.ประดิษฐ์ ผูกพันกับที่นี่ตั้งแต่เกิด เรียน ทำงาน และกลายมาเป็นผู้บริหารศิริราชปิยมหาราชการุณย์มาโดยตลอด เล่าให้ฟังถึงคาแรกเตอร์ความเป็น “ศิริราช” ที่ติดตัวเขามา
************************
"ความรู้"เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
รศ.นพ.ประดิษฐ์ เล่าให้ฟังถึงวัยเด็กว่า เป็นคนฝั่งธนบุรีโดยกำเนิด และมีบ้านพักอยู่ย่านดาวคะนอง โดยคุณพ่อและคุณแม่มีกิจการส่วนตัว โดยทำร้านขายส่งข้าวสารเป็นกระสอบ เรียกอีกอย่างก็คือเป็น “ยี่ปั๊ว” นั่นเอง
“ผมเป็นลูกคนเดียวและคุณพ่อคุณแม่มีผมตอนอายุ 42 ปี ซึ่งท่านก็อายุมากแล้ว ผมโชคดีมากที่หลุดพ้นดาวน์ซินโดรมมาได้ (หัวเราะ)”
ช่วงมัธยมต้นคุณหมอประดิษฐ์เรียนที่โรงเรียนแสงอรุณ ส่วนมัธยมปลายเรียนที่โรงเรียนปทุมคงคา เพราะสอบเข้าเตรียมอุดมฯ ไม่ได้ สวนกุหลาบก็สอบไม่ได้ จึงไปติดที่ปทุมคงคา ซึ่งในสมัยนั้นเป็นมหาอำนาจด้านลูกหนัง และหลังจากนั้นก็ทำให้เขาได้เป็นทั้งผู้นำเชียร์ ประธานชมรมบาสเกตบอล รวมถึงประธานสารวัตรนักเรียนไปด้วย
“สมัยเรียนผมทำกิจกรรมทั้งหมดเยอะมาก เพราะฉะนั้นผมจึงเรียนน้อย เขาชกกันที่ไหนผมก็ไปชก ตีกับพวกไหนผมก็ตีด้วย แต่ผมตั้งใจเรียนมากในห้อง แล้วผลการเรียนผมก็อยู่ในระดับเรียนดี เพียงแต่เวลาเลิกเรียนผมก็เล่นบาสเกตบอล ผมไม่ใช่เด็กเนิร์ด ไม่ได้เรียนพิเศษเหมือนคนอื่นเท่านั้นเอง”
ซึ่งการทำกิจกรรมจำนวนมากนั้น คุณหมอประดิษฐ์ บอกว่า จะช่วยให้ใช้ไอคิวและช่วยให้มีพื้นฐานชีวิตที่ดีมาก เพราะทำให้รู้จักคนมากและทำให้มีเพื่อนเยอะ ซึ่งคนที่รู้จักทุกคนจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งทำให้งานสำเร็จได้
“ผมจะสอนลูกน้องเสมอว่า อย่าปิดตัวเอง คุณต้องเปิดโลกกว้าง ทุกคนมีส่วนดีหมด คุณจะเห็นส่วนดีของคนอื่นเยอะ ส่วนไม่ดีคุณก็เห็น คุณก็เลือกเอาสิ แต่ถ้าคุณอยู่กลุ่มเดียว ก็เห็นแค่ส่วนเดียว ความหลากหลายเป็นสิ่งสวยงามของมนุษย์ การทำกิจกรรมทำให้เราได้เห็นความหลากหลายเหล่านี้จากคนทุกคนที่มารวมกัน แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดนะ ทำเพราะมันส์อย่างเดียว แต่พอมองย้อนหลังแล้วมันก็ได้คิด ว่าสิ่งที่ประกอบเป็นตัวเราทุกวันนี้ มันไม่ได้เกิดวันเดียว” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
แม้จะทำกิจกรรมมากและไม่ได้เรียนพิเศษเหมือนนักเรียนคนอื่นในยุคนั้น แต่คุณหมอประดิษฐ์ก็บอกว่า เรื่องการเรียนของเขาไม่แพ้ใครแน่นอน ส่วนหนึ่งก็มาจากการ “รักการอ่าน” นั่นเอง
“ก่อนปิดเทอม คุณครูท่านก็เรียกมาถามว่า ไม่ได้กวดวิชาจะสอบได้หรือ หลังจากนั้นท่านบอกว่า ‘ห้องสมุดจะซื้อหนังสือชุดใหญ่เพื่อเตรียมไว้ปีหน้า ประดิษฐ์เธอไปเลือกซื้อเลย เพื่อจะได้เอาหนังสือเข้าห้องสมุด’ ผมไปซื้อหนังสือทั้งหมด แล้วผมก็อ่านหนังสือทั้งหมดนั้น ก่อนที่เขาจะเอาเข้าห้องสมุด โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเรียนกวดวิชา”
สำหรับเคล็ดลับการอ่านหนังสือของคุณหมอก็คือ ช่วงใกล้สอบจะตื่นมาอ่านหนังสือตั้งแต่ตี 4 เพราะทำให้รู้สึกสดชื่นมากกว่าอ่านในเวลาอื่น นอกจากนี้การที่ขยันจด “ชอร์ตโน้ต” ทำให้เขาจำแก่นของแต่ละวิชาได้อย่างแม่นยำ
“ลัทธิเต๋าสอนว่า ‘ความรู้เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่ มีมากมายเหลือคณานับ แต่ที่ใช้ได้มีเพียงหยิบมือเดียว’ เพราะฉะนั้นการอ่านหนังสือไม่ยากเลย แก่นมันนิดเดียว หากเราเข้าถึง เราจะจำแก่นมันได้อย่างแม่นยำ สมัยก่อนข้อสอบออกอัตนัยทั้งหมด หากเราจำแก่น เราจะเขียนได้ไหลลื่น ผมใช้คตินี้มาตลอด” คุณหมอประดิษฐ์ เล่าให้ฟัง
************************
1 ปีแห่งการเติบโต"ศิริราชปิยมหาราชการุณย์"
นพ.ประดิษฐ์ก้าวขึ้นเป็นประธานกองทุนพัฒนาระบบงานหัวใจและหลอดเลือด (The Heart by Siriraj) ซึ่งเป็นโครงการที่ออกนอกระบบของศิริราชครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2547
จากนั้นเมื่อปี 2555 นพ.ประดิษฐ์ ถูกดึงตัวมาบริหารโครงการศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งเป็นโครงการในรูปแบบคล้าย The Heart เพียงแต่ขยายจากศูนย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่เขาถนัด เป็นโรงพยาบาลเอกชน มาตรฐานศิริราชครบวงจร ขนาด 345 เตียง มูลค่าตั้งต้นโครงการกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งในตอนแรกเขาตอบปฏิเสธทันที เพราะชอบงานสอนหนังสือมากกว่า
“ต่อจากนั้นมีหลายทีมพยายามเข้ามาทำ ก็ค่อนข้างยากลำบาก เขาก็ถอยไป เพราะมันยาก และมันเริ่มจากศูนย์ สุดท้ายผมก็ฟอร์มทีม ยอมกลับมาทำ ซึ่งกดดันมาก เพราะผมกลัวเจ๊ง ไม่ใช่ศิริราชเจ๊งอย่างเดียว แต่เงินรัฐบาลก็เจ๊งไปด้วยถ้ามันล้มเหลว เราก็เดินออกจากศิริราชลำบาก แต่ถ้าไม่ทำเดินออกจากศิริราชลำบากเหมือนกัน เพราะเขาเตรียมไว้หมดแล้ว” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โครงการศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ SIPH ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยผู้ป่วยนอกมีผู้มารับบริการมากกว่า 1.2 หมื่นรายต่อเดือน และอัตราการครองเตียงเกือบ 100% อยู่ตลอดเวลา โดยมีแนวความคิดที่จะขยายการให้บริการผู้ป่วยในเพิ่มมากขึ้น โดยในเฟสแรก SIPH เป็นศูนย์กลางรักษาโรคซับซ้อนที่รักษายาก 4 สาขา ประกอบด้วย ศูนย์มะเร็ง ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์หัวใจ ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ และศูนย์โรคไต ก่อนจะขยายเตียง รวมถึงศูนย์กลางรักษาโรคซับซ้อนเพิ่มในปีต่อๆ ไป
ส่วนใครที่คิดว่า SIPH จะนำเงินภาษีและเงินบำรุงจากคนไทย ไปอุ้มคนมีฐานะนั้น นพ.ประดิษฐ์ อธิบายว่า การตั้ง SIPH ขึ้นมาเพื่อช่วยเรื่องงบประมาณในการดูแลโรงพยาบาลศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาคนไทยทุกคนในโรงพยาบาลศิริราชได้ดีขึ้น
อีกส่วนหนึ่งได้แก่ การอำนวยความสะดวกให้คนไข้ประจำของโรงพยาบาลศิริราชเดิมที่มีกำลังจ่าย สามารถจ่ายเงินเพื่อรับการบริการพิเศษใน SIPH ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอคิว ซึ่ง นพ.ประดิษฐ์ ยืนยันว่า คุณภาพการรักษาของ SIPH นั้นเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลศิริราชทุกประการ เพียงแต่การบริการจะมีมาตรฐานที่ดีกว่า เนื่องจากผู้ที่ใช้บริการ SIPH ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงกว่า ทั้งนี้ราคาจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำประมาณ 20%
ส่วนใครที่กังวลว่า SIPH จะรับแต่ลูกค้าต่างชาติ จนละเลยคนไทยที่เป็นคนจ่ายภาษีให้ศิริราชนั้น นพ.ประดิษฐ์ชี้แจงว่า SIPH ไม่มีนโยบายรับชาวต่างชาติเป็นหลักอย่างแน่นอน
“ชาวต่างชาติเราไม่รับเลย เนื่องจากศิริราชรับใช้สังคมไทย เกิดและเติบโตจากภาษีของคนไทย ต่างชาติไม่ได้มาเสียภาษีให้เรา หากเรารับต่างชาติเป็นหลัก จะถูกตั้งคำถามว่า ในเมื่อคนไทยยังเข้าถึงบริการได้ไม่ดี จะไปรับต่างชาติทำไม อย่างไรก็ตาม เราปิดกั้นชาวต่างชาติไม่ได้ แต่ผมยืนยันว่า เราจะไม่มีการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษเด็ดขาด ถ้าจะมาต้องหาล่ามมาเอง เราไม่อำนวยความสะดวกให้ นี่คือเจตนารมณ์ของเรา”